ทำไมเราต้องวิเคราะห์ตัวบริษัทก่อน ตัดสินใจซื้อหุ้น ด้วยนั้น เชื่อได้ว่าทุกคนที่จะลงทุนในหุ้นนั้นน่าจะมีคำตอบกันอยู่แล้ว นั่นก็คือ การลงทุนในหุ้นก็คือการเข้าไปเป็นเจ้าของกิจการ ดังนั้นถ้าเราจะเป็นเจ้าของกิจการเราก็ต้องรู้จักกิจการให้ลึกซึ้ง ต้องรู้จักทุกด้านทุกมุมของกิจการของเรา เพราะฉะนั้นการทำความรู้จักหรือการวิเคราะห์บริษัทที่เราจะเข้าไปลงทุนนั้นจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำกัน ดังนั้นวันนี้เราจะมาดูว่าการวิเคราะห์บริษัทนั้นเราจะต้องดูเรื่องอะไรกันบ้าง
โดยทั่วไปการทำความรู้จักบริษัทก็คือ การวิเคราะห์บริษัทมี 2 ส่วน คือ การวิเคราะห์เชิงคุณภาพที่เป็นการใช้ข้อมูลทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่ตัวเลข กับอีกส่วนคือ การวิเคราะห์งบการเงินซึ่งจะเกี่ยวข้องกับตัวเลขทั้งหมด เราจะมาเริ่มจากแบบแรกก่อน คือ
การวิเคราะห์เชิงคุณภาพที่เราจะใช้หลักการวิเคราะห์บริษัทแบบ SWOT มาใช้ซึ่งเป็นการวิเคราะห์บริษัทใน 4 ด้าน คือ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค
- โดยจุดแข็งคือสิ่งที่จะบอกว่าบริษัทที่เราสนใจมีอะไรเหนือคู่แข่งและทำให้ได้เปรียบในการแข่งขันบ้าง
- จุดอ่อนคือสิ่งที่บริษัทควรจะปรับปรุงหรือนำไปแก้ไข
- ส่วนโอกาสคือสิ่งดีๆ ที่จะส่งเสริมให้บริษัทมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ได้ประโยชน์มากขึ้น
- และสุดท้ายคืออุปสรรคที่จะเป็นสิ่งที่บริษัทจะต้องหาวิธีในการรับมือเพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินงานต่อไปได้
ทีนี้ถ้าเราวิเคราะห์ตัวบริษัทที่เราสนใจแล้วเจอว่าเป็นบริษัทที่มีจุดแข็งที่โดดเด่น เช่น ผู้นำอุตสาหกรรม มีสินค้าหลากหลายยี่ห้อดัง ได้รับการยอมรับจากลูกค้า และยังสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีโอกาสดีๆ รออยู่ ถ้าเราวิเคราะห์แล้วเจอบริษัทแบบนี้เข้าล่ะก็แสดงว่าบริษัทที่น่าลงทุนเลยทีเดียว แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเจอบริษัทที่มีแต่จุดอ่อน มองไปทางไหนบริษัทก็เจอแต่อุปสรรคที่แม้แต่บริษัทเองก็ยังไม่รู้ว่าจะรับมือได้ยังไง ถ้าเป็นแบบนี้ก็พักไว้รอดูการบริหารงานของบริษัทไปก่อน และอีกส่วนที่เราจะลืมไม่ได้ก็คือการดูตัวผู้บริหารของบริษัทด้วย ว่านอกจากจะมีความเป็นมืออาชีพในการบริหารแล้วยังต้องเป็นผู้ที่มีความซื้อสัตย์หรือมีธรรมาภิบาลในการบริหารด้วย
อ่านเพิ่มเติม : มาหัด อ่านงบการเงิน ก่อนไปลงทุนหุ้นกันเถอะ
หลังจากที่เราวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพของบริษัทไปแล้ว ที่นี้ก็มาถึงการวิเคราะห์เชิงปริมาณหรือการวิเคราะห์งบการเงินของบริษัท เพื่อที่จะทำให้เราได้รู้ว่าฐานะทางการเงินของบริษัทนั่นดีมากน้อยแค่ไหน มีกำไรเพียงพอที่จะจ่ายเงินปันผลให้กับเราหรือเปล่า และที่จะลืมไม่ได้อีกเหมือนกันก็คือการอ่านหมายเหตุประกอบงบการเงิน
ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยอธิบายว่าตัวเลขที่ประกอบงบการเงินแต่ละส่วนนั้นมาจากไหนกันบ้าง รวมทั้งต้องอ่านรายงานของผู้สอบบัญชีด้วยว่าข้อมูลในงบการเงินมีความถูกต้องหรือไม่ เพราะบางครั้งถ้างบการเงินที่ไม่ถูกต้องนั้น ผู้สอบบัญชีก็จะแสดงรายงานของผู้สอบบัญชีแบบมีเงื่อนไขว่าข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่สามารถตรวจสอบได้ตามมาตรฐานของผู้สอบบัญชี เป็นต้น
การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพอีกส่วน คือ การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ซึ่งส่วนนี้เราไม่จำเป็นต้องคำนวณเอง แต่สิ่งที่เราต้องทำคือ การอ่านค่าต่างๆ ให้เป็น และนำข้อมูลของบริษัทไปเปรียบเทียบกับตัวเลขของกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ ด้วย เพื่อที่จะทำให้รู้ว่าบริษัทที่เราสนใจนั้นอยู่ในระดับของอุตสากรรม โดยการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินนั้นเป็นการวิเคราะห์ความสามารถด้านต่างๆ ของบริษัท เช่น สภาพคล่อง ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ความสามารถในการทำกำไร และความสามารถในการก่อหนี้ แต่อย่างที่บอกและเน้นย้ำมาตลอด คือ การอ่านค่าเราต้องรู้วิธีการอ่านค่าแต่ละกลุ่มให้ดี เพราะบางกลุ่มการที่มีค่ามากอาจจะไม่ได้แปลว่าดีเสมอไปก็ได้
การที่เราทำความรู้จักบริษัทด้วยการวิเคราะห์ตัวบริษัทให้ละเอียดแบบนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเราก่อนการลงทุนว่าเลือกลงทุนว่า สิ่งที่เรารู้สึกว่าดีกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปในทางเดียวกัน เพราะบางครั้งที่เราเห็นว่าบริษัทมีลูกค้าเยอะขายของได้ดี แต่จริงๆ แล้วบริษัทอาจจะกำลังมีปัญหาอยู่ก็ได้ เพราะฉะนั้นการเลือกบริษัทที่จะลงทุนเราต้องเลือกด้วยข้อมูลที่เพียงพอจะได้ไม่เสียใจกันภายหลังได้