อย่างที่หลายๆ คนรู้กันว่าจะลงทุนในหุ้นก็ต้องจะทำความรู้จักกับหุ้นนั้นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัจจัยพื้นฐานของบริษัทต่างๆ เช่น บริษัทที่เราจะเข้าไปซื้อหุ้นนั้นทำกิจการค้าขายอะไรบ้าง มีใครเป็นผู้บริหารงาน มีคู่แข่งในตลาดมากน้อยแค่ไหน บริษัทมีกำไรหรือขาดทุน มีทรัพย์สินหนี้สินเป็นเท่าไรในแต่ละปี ที่เราสามารถอ่านได้จากรายงานประจำปีของบริษัท และเพื่อให้เราเข้าใจบริษัทมากขึ้นจากการอ่านงบการเงินแล้วรู้แค่เพียงว่ากำไรหรือขาดทุน มีหนี้สินมากหรือน้อย เรายังมีข้อมูลอีกอย่างที่ต้องศึกษาด้วยนั่นก็คือ อัตราส่วนทางการเงิน ที่เราไม่จำเป็นต้องคำนวณเอง เพราะส่วนมากจะมีตัวเลขให้เราอยู่แล้ว แต่เราจะต้องอ่านและตีความตัวเลขให้เป็น เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกลงทุนในหุ้นของแต่ละบริษัทกัน
ซึ่งอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้กันอยู่นั้นแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม โดยแบ่งตามจุดมุ่งหมายของการใช้งาน คือ
- การวิเคราะห์สภาพคล่องทางการเงิน
- การวัดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
- การวัดความสามารถในการทำกำไร
- การวิเคราะห์นโยบายทางการเงินของบริษัท
- การวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินต่อหุ้น
ซึ่งใน 5 กลุ่มนี้ก็ยังมีสัดส่วนทางการเงินย่อยๆ อีก อย่างน้อยกลุ่มละ 3-4 ตัว เรามาลองดูกันดีกว่าว่าในแต่ละกลุ่มจะมีตัวเลขอะไรบ้างที่เราต้องทำความเข้าใจ
เริ่มที่การวิเคราะห์สภาพคล่องทางการเงิน
ประกอบไปด้วย อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนที่จะเป็นตัวบอกวาบริษัทมีฐานะทางการเงินระยะสั้นดีหรือไม่ดี ถ้ายิ่งสูงก็แสดงว่ายิ่งดีคือบริษัทมีสภาพที่ดีมีความคล่องตัวในการชำระหนี้สินระยะสั้นได้ดี และอัตราส่วนสินทรัพย์คล่องตัว จะเป็นตัวที่ใช้วัดความสามารถของการนำสินทรัพย์ระยะสั้นมาแปลงเป็นเงินสด ถ้ายิ่งสูงก็แปลว่าบริษัทมีความคล่องตัวสูงเช่นกันที่สามารถนำสินทรัพย์ระยะสั้นที่มีอยู่มาแปลงเป็นเงินสดเพื่อใช้ในเรื่องต่างๆ ของกิจการ
ต่อมาเป็นการวัดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
ก็จะประกอบไปด้วย 4 ตัว คือ อัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์รวมจะบอกเราว่าบริษัทสามารถนำสินทรัพย์มาสร้างยอดขายได้มากน้อยเท่าไร อัตราหมุนเวียนลูกหนี้การค้า เป็นตัวเลขที่บอกการบริหารลูกหนี้ของบริษัทว่าทำได้ดีแค่ไหน อัตราหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือเป็นตัวบอกว่าบริษัทสามารถขายสินค้าได้ดีแค่ไหนไม่มีสินค้าค้างสต๊อกมาเกินไป และสุดท้าย คือ อัตราหมุนเวียนของเจ้าหนี้การค้า จะช่วยทำให้รู้ว่าบริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้ดีแค่ไหน ซึ่งในกลุ่มนี้ตัวเลขยิ่งสูงยิ่งดี
ถัดมา คือ การวัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัท
ซึ่งจะมีอยู่หลายตัวและในกลุ่มตัวถ้ามีตัวเลขยิ่งสูงก็แสดงว่ายิ่งดีเหมือนกัน ได้แก่ อัตรากำไรขั้นต้น อัตรากำไรจากการดำเนินงาน อัตรากำไรสุทธิ อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น หรือ ROE อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวม หรือ ROA และตัวสุดท้ายคือ EBITDA หรือ อัตราการทำกำไรที่มาจากการดำเนินงานที่ยังไม่นำดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายมาคิด
ต่อไปก็จะเป็นการวิเคราะห์นโยบายทางการเงิน
ที่จะประกอบไปด้วย 2 กลุ่ม โดยที่กลุ่มหนึ่งตัวเลขสูงจะดี แต่อีกกลุ่มตัวเลขจะต้องน้อยถึงจะแปลว่าดี ซึ่งกลุ่มที่จะต้องมีตัวเลขสูงจะดี ได้แก่ อัตราการจ่ายเงินปันผล และอัตราความสมารถในการชำระหนี้ แต่อีกกลุ่มหนึ่งต้องมีตัวเลขน้อย คือ อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เพราะถ้ากลุ่มนี้มีตัวเลขสูงแสดงว่าบริษัทมีภาระหนี้สินอยู่มากพอสมควร
สุดท้าย คือ การวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินต่อหุ้น
ประกอบด้วยอัตราส่วนของ 2 ตัว คือ กำไรสุทธิต่อหุ้น ซึ่งจะแสดงถึงความสามารถในการทำกำไรของบริษัท และอีกตัวหนึ่งคือ มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น ซึ่งทั้งสองตัวนี้จะต้องมีตัวเลขที่ยิ่งสูงยิ่งดี เพราะถือว่ามีผลประกอบการที่ดีไปในตัวด้วยเช่นกัน
เราคงจะเห็นกันแล้วว่าอัตราส่วนทางการเงินช่วยทำให้เรารู้จักและเข้าใจบริษัทที่เราต้องการเข้าไปลงทุนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นยอมเสียเวลาทำความเข้าใจกับอัตราส่วนทางการเงินเหล่านี้สักเล็กน้อยก็จะเป็นประโยชน์ในการลงทุนของเราไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว และที่สำคัญเราต้องคำนวณหาตัวเลขเอง เราเพียงแต่เข้าไปในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์และเลือกข้อมูลของบริษัทที่เราสนใจเท่านั้นเอง แต่ที่สำคัญคือ เราต้องรู้ความหมายและต้องรู้อีกว่ากลุ่มไหนตัวเลขสูงแปลว่าดี กลุ่มไหนตัวเลขต่ำถึงจะดี เท่านี้เราก็สามารถเลือกลงทุนในบริษัทที่มีผลประกอบการดีๆ ได้แล้ว