นับเป็นข่าวดี๊ดีประเดิมฤกษ์รับปีใหม่ไทย เมื่อนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้ออกมาเผยมติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 59 ให้มีการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 60 โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายเพิ่มได้ 100,000 บาท และใครที่มีเงินเดือนไม่ถึง 26,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย
ทำเอาพนักงานเงินเดือนต่างเฮกันยกใหญ่ เพราะมติใหม่ของ ครม. ช่วยลดภาษีได้อีกเยอะ ด้วยการเพิ่มค่าลดหย่อนหลายรายการ ทั้งส่วนตัว คู่สมรส และบุตร เรียกได้ว่า ในปี 60 จ่ายภาษีน้อยลงอย่างเห็นๆ อยากรู้แล้วสิว่า โครงสร้างภาษีใหม่เป็นอย่างไร เตรียมให้พร้อม แล้วตามกันมาเลย
เกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำในการยื่นแบบฯ
1. กรณีมีเงินได้จากเงินเดือน หรือค่าจ้าง เพียงประเภทเดียว
- คนโสด จากเดิมต้องมีเงินได้เกิน 50,000 บาท โครงสร้างใหม่ปรับเป็นต้องมีเงินได้เกิน 100,000 บาท
- มีคู่สมรส จากเดิมต้องมีเงินได้รวมกันเกิน 100,000 บาท โครงสร้างใหม่ปรับเป็นต้องมีเงินได้รวมกันเกิน 200,000 บาท
2. กรณีมีเงินได้จากเงินเดือน หรือค่าจ้าง และมีเงินได้ประเภทอื่นควบคู่ด้วย
- คนโสด จากเดิมต้องมีเงินได้เกิน 30,000 บาท ปรับเป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
- มีคู่สมรส จากเดิมต้องมีเงินได้รวมกันเกิน 60,000 บาท ปรับเป็นต้องมีเงินได้รวมกันเกิน 120,000 บาท
- กองมรดกของผู้ตายที่ยังไม่ได้แบ่ง จากเดิมต้องมีเงินได้เกิน 30,000 บาท ปรับเป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
- ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล จากเดิมต้องมีเงินได้เกิน 30,000 บาท ปรับเป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
ค่าลดหย่อนใหม่
- ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ส่วนบุคคลจาก 30,000 บาท เพิ่มเป็น 60,000 บาทต่อปี
- ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสจาก 30,000 บาท เพิ่มเป็น 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนจากการมีบุตร จากเดิมได้รับการลดหย่อนบุตรคนละ 15,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 คน เพิ่มเป็นหักลดหย่อนได้ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร และยกเลิกค่าลดหย่อนการศึกษาบุตร
- หากคู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 บาท
- ในส่วนกองมรดก จากเดิมให้หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท ปรับเป็น 60,000 บาท
- สำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล จากเดิมให้หักลดหย่อนแก่หุ้นส่วนคนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท ปรับเป็นให้หักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท
โครงสร้างการจัดเก็บภาษีใหม่ (รายได้ต่อปี)
- รายได้ไม่ถึง 150,000 บาท ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษี
- รายได้ 150,001-300,000 บาท เสียภาษี 5%
- รายได้ 300,0001-500,000 บาท เสียภาษี 10%
- รายได้ 500,001-750,000 บาท เสียภาษี 15%
- รายได้ 750,001-1,000,000 บาท เสียภาษี 20%
- รายได้ 1,000,001-2,000,000 บาท เสียภาษี 25%
- รายได้ 2,000,001-5,000,000 บาท เสียภาษี 30%
- รายได้ 5,000,001 บาทขึ้นไป เสียภาษี 35%
แม้การปรับโครงสร้างการจัดเก็บ ภาษี ปี 60 ใหม่เป็น 8 ขั้นนี้ จะทำให้รายได้ของรัฐหายไปปีละ 32,000 ล้านบาท แต่ผลดีที่ได้จะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับภาษีเงินได้นิติบุคคล และเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะประชาชนจะมีเงินใช้จ่ายมากขึ้นอีกด้วย
ใช้ในปีภาษี 2560 นั่นคือ สำหรับการยื่นช่วงเดือนมีนาคม 2561 พนักงานเงินเดือนทุกคนคงได้ยิ้มปรี่กันถ้วนหน้ากับอัตราภาษีใหม่ และถึงแม้จะทำให้เรามีเงินใช้จ่ายมากขึ้น แต่ก็อย่าลืมเก็บออมให้มากขึ้นด้วยเช่นกันนะคะ
…เพื่อจะได้เป็นพนักงานเงินเดือนมืออาชีพที่ Happy กันทุกคน
ที่มา