การมีบ้านสักหลังหนึ่งเป็นสิ่งที่ใครหลายคนนั้นคิดฝันไว้ เมื่อชีวิตเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน เริ่มหางาน หาเงินได้ด้วยตนเองแล้ว ก็เลยมานั่งคิดกันว่า เราน่าจะเริ่มที่จะมีบ้านเป็นของตัวเองได้แล้ว บางคนแต่งงานไปก็อาจจะโชคดีหน่อยที่มีคนช่วยสร้างฐานะร่วมกัน มีคู่คิดคู่สร้างคู่สม แต่กับบางคนหรืออาจจะหลายคน ที่ยังไม่เจอคนถูกใจ ยังครองโสดกันอยู่ ก็ได้แต่หวังว่าคงจะมีใครสักคนรออยู่…ที่ดินแดนใดสักแห่ง…ฮ่าๆ มาเป็นเพลง ถึงไม่มีคู่ก็ไม่ต้องเหงาใจไปค่ะ ถ้าใครที่กำลังมีโครงการอยากผ่อนบ้านสักหลังอยู่ล่ะก็ เราก็อยากมาแชร์ความรู้กันสักเล็กน้อยก่อนกับสินเชื่อเพื่อคนที่ อยากมีบ้าน
เมื่อเราถามใครหลายๆคนที่กำลังมองหาบ้านในฝันอยู่ว่า ทำไมต้อง อยากมีบ้าน ? คำตอบที่ได้คือ หนึ่งก็เพื่อความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายมากขึ้น สองอยากได้บ้านใหม่ให้พ่อกับแม่ สามอยากมีบ้านเพื่อสร้างครอบครัวของตัวเอง ใช่แล้วล่ะค่ะ เพราะบ้านไม่ใช่แค่สถานที่พักผ่อนเพียงแค่อย่างเดียว แต่บ้านคือทุกสิ่งทุกอย่าง ให้ทั้งความปลอดภัยและมีทั้งความรักความอบอุ่น เพราะฉะนั้นการที่จะมีบ้านสักหลังก็ต้องเลือกให้ดีดี คิดให้ไกลๆนั่นเอง
บทความแนะนำ : เงินเดือนเท่านี้ กู้ซื้อบ้านได้เท่าไหร่ กันนะ ?
ใครที่พอจะมีเงินเก็บ การสร้างบ้านหรือซื้อบ้านหลังใหม่ก็คงจะไม่มีปัญหาสักเท่าไหร่ แต่สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มจะมีเงินเดือนนี่สิ อยากได้ก็อยากได้ แต่ก็ยังไม่มีเงินก้อนขนาดที่จะซื้อเงินสดได้ ก็เลยหาทางออกที่ว่า หรือเราจะยื่นขอสินเชื่อกู้บ้านดีนะ ? ฉะนั้นแล้วใครที่ยังลังเลว่าจะกู้หรือจะรอไปก่อนดี เรามาพิจารณาตัวกันก่อนดีกว่าว่าพร้อมจริงๆหรือเปล่า ?
พร้อมที่จะผ่อนหรือยัง ?
จากประสบการณ์ที่เคยสอบถามคนใกล้ชิด เขาเล่าว่า กู้เงินมาเพื่อซื้อบ้าน ในราคาสามล้านต้นๆ ผ่อนชำระพร้อมดอกเบี้ยเดือนละ 30,000 บาท ในระยะเวลา 15 ปี ปีหนึ่งๆหมดไปกับการผ่อนบ้านไปปีละ 360,000 บาท กว่าจะครบระยะเวลา 15 ปี เท่ากับว่าต้องหมดเงินไปกับการซื้อบ้านหลังนี้ในราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 5 ล้านกว่าบาท (มีส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมา 2 ล้านกว่าบาท) ก็เลยถามว่า พร้อมที่จะผ่อนหรือยัง? นี่ไม่ใช่การดูถูกอะไรนะคะ แต่ที่ยกตัวอย่างมาก็เพื่ออยากจะให้ทำความเข้าใจเสียก่อนว่า เราจะสามารถผ่อนได้จริงๆหรือไม่ ? แม้ว่า บางคนอาจจะเลือกซื้อบ้านที่ราคาถูกกว่านี้ แต่อย่าลืมว่าเราก็ต้องเป็นหนี้ให้กับธนาคาร ซึ่งตรงนี้ล่ะค่ะ เรื่องของดอกเบี้ย ซึ่งไม่ว่า ที่ไหนจะบอกว่าดอกเบี้ยถูกกว่าก็จริง แต่ถ้าการเงินของเราเองยังไม่เสถียรมั่นคงพอ มันก็อาจจะไม่ไหว เคล็ดลับคือ อย่างน้อยถ้าคิดจะผ่อนบ้านจะต้องมีเงินเดือนหรือรายได้สุทธิต่อเดือนมากกว่าค่างวดบ้าน สองเท่าขึ้นไป เช่น ผ่อนเดือนละ30,000 บาท เพดานรายได้ควรอยู่ที่ 60,000 บาทขึ้นไป นั่นเอง
พร้อมที่จะรับกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ?
ค่าใช้จ่ายที่นอกจากจะจ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว สิ่งที่พ่วงมาก็คือค่าบ้าน ถ้ามีผ่อนรถยนต์ด้วยก็ไม่ต่างอะไรกับมีโซ่ล่ามเท้าไว้ทั้งสองข้าง รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ จะต้องอยู่กับคุณไปอีกหลายปีเลยทีเดียว ประมาณว่า ผ่อนยันลูกบวชก็ยังไม่หมด (เปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพนะคะ) ลองคิดว่า ถ้าวันหนึ่ง รายได้ที่เคยได้สม่ำเสมอ กลับหดหายไป อาจจะมาจากสาเหตุโดนให้ออกจากงาน ธุรกิจที่ทำขาดทุนล้มเหลว เราจะมีวิธีแก้ไขหรือไม่ ? ทางหนีทีไล่ แผน A B C D เราเตรียมไว้บ้างหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆนะคะ เพราะถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา การคิดคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าจะช่วยให้เรามีสติในการรับมือกับมันยิ่งขึ้น
ถ้าตอบคำถามสองข้อนี้กับตัวเองได้ว่าพร้อม มั่นใจ ก็ดำเนินการไปเลยค่ะ แต่การขอสินเชื่อกู้บ้าน ก็ใช่ว่าจะง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปากนี่หน่า
เครดิตทางการเงินของเราคือสิ่งที่ทางธนาคารจะพิจารณามากที่สุด ถ้ามีรายได้ผ่านเกณฑ์ แต่ละที่ก็จะกำหนดเพดานรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไว้ เช่น รายได้สุทธิตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป 30,000 บาทขึ้นไป เป็นต้น หรือ เป็นพนักงานบริษัท/รัฐวิสาหกิจ/ข้าราชการ อายุงานตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป หรือประกอบกิจการส่วนตัวตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไป ไม่เคยมีประวัติการกู้ยืมเงินหรือเบี้ยวหนี้ ก็จะรับพิจารณาให้กู้ง่ายขึ้น ถ้าเครดิตไม่ดี อย่างบางคนรายได้พอประมาณปานกลางแต่ยังมีหนี้บัตรเครดิตร่วมด้วย เพราะทางธนาคารเขาก็มีการคัดกรองเช่นเดียวกัน ถ้าผู้ขอกู้มีภาระหนี้สินอยู่ แล้วจะต้องมีภาระหนี้ในส่วนของบ้านเพิ่มเข้าไปด้วย ถ้าตรวจสอบคำนวณดูแล้วว่า ผู้ขอกู้ต้องแบกรับภาระหนี้ที่มากกว่า 80 % แล้วล่ะก็ แบบนี้ก็มีแววว่าไม่น่าจะผ่าน
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะขอกู้งบมาสร้างบ้านหรือซื้อบ้านในราคาหลักแสน,หลักล้านก็ตามแต่ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ต้องคิดดีดีและก็ถามตัวเองให้แน่ใจก่อนว่า เราจะสามารถแบกรับภาระ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นได้ไหวหรือไม่ ? ถ้าเก็บเงินอีกสัก 2-3 ปีแล้วค่อยซื้อเงินสดโดยไม่ต้องขอกู้สินเชื่อเลย จะดูคุ้มค่ากว่าหรือไม่ ? หรือถ้ามีเงินสดในมือ แต่ราคาบ้านแพงเกินไป เราลองมองหาแบบบ้านที่ราคาใกล้เคียงกับเงินที่เรามี เป็นต้น เรามีทางเลือกมากมายค่ะ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกแบบไหน เป็นหนี้แล้วได้สิ่งที่ต้องการ หรือเลือกที่จะไม่กู้แต่พอใจในสิ่งที่ตนมี ฝากข้อคิดกันไว้เท่านี้ก่อนนะคะ ขอบคุณทุกการติดตามค่ะ.