ข่าวล่าสุดเกี่ยวกับบัตรเอทีเอ็มคือทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ขอความร่วมมือไปยังธนาคารและสถาบันการเงินทุกแห่งให้เปลี่ยนรูปแบบของบัตรเอทีเอ็มจากเดิมที่ใช้เป็นแบบแถบแม่เหล็กมาใช้แบบใหม่ที่เป็นชิปการ์ดเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการโดนขโมยข้อมูลบัตรที่เป็นปัญหาอย่างมากมายมาในอดีต เช่น เรื่องการถูกสกิมมิ่งบัตร ที่เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกจนทุกวันนี้ โดยข้อตกลงคือลูกค้าที่ทำการเปิดบัตรเอทีเอ็มใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป จะได้รับบัตรใหม่ที่เป็นแบบชิปการ์ด จะไม่มีบัตรแบบเก่าที่เป็นแบบแถบแม่เหล็กอีกแล้ว ในขณะที่ลูกค้าที่มีบัตรเอทีเอ็มแบบเก่าที่เป็นแถบแม่เหล็กของแต่ละธนาคารอยู่ บัตรนั้นก็ยังสามารถใช้ต่อไปได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 โดยหากลูกค้าต้องการที่จะเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มเป็นแบบใหม่ก็สามารถเริ่มทยอยมาเปลี่ยนได้ตลอดจนกว่าจะถึงเวลาดังกล่าว
จากกรณีดังกล่าวธนาคารและสถาบันการเงินต่างก็ออกมาสนองตอบนโยบายของทางธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยการเริ่มประชาสัมพันธ์ในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ลูกค้าสามารถทยอยมาเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มกันได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ในช่วงแรกก็ถือว่าสร้างความสับสนให้กับลูกค้าพอสมควรเนื่องจากบางธนาคารถือโอกาสคิดค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนบัตรทั้งที่บัตรเดิมยังไม่หมดอายุ บางธนาคารก็ถือโอกาสเพิ่มค่าธรรมเนียมรายปีด้วย บางธนาคารก็ถือโอกาสแกมบังคับให้ลูกค้าเปลี่ยนไปใช้บัตรเดบิตหรือซื้อประกันพ่วงบัตรเอทีเอ็ม ลูกค้าส่วนใหญ่ก็สับสนและลังเลว่าควรจะทำอย่างไรดี
อ่านเพิ่มเติม : เช็คชัวร์! ค่าธรรมเนียมบัตรชิปการ์ด ของแต่ละธนาคารเท่าไหร่ (ข่าว)
ขอแนะนำว่าเราควรติดต่อกับทางธนาคารเจ้าของบัตรโดยตรงเพื่อสอบถามถึงข้อมูลของการเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มนี้ในทุกแง่มุมเพื่อให้เข้าใจอย่างกระจ่างแจ้ง การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ระยะเวลาในการใช้บัตรเอทีเอ็มแบบเก่าไปได้จนถึงปี พ.ศ. 2562 ก็เนื่องจากให้เวลาในการปรับตัวทั้งฝ่ายลูกค้าเองและธนาคารด้วย เนื่องจากทางธนาคารก็จะต้องทยอยเปลี่ยนตู้เอทีเอ็มทั่วประเทศให้สามารถรองรับบัตรประเภทใหม่แบบชิปการ์ดนี้ได้เช่นเดียวกัน เพราะปัจจุบันตู้เอทีเอ็มยังไม่สามารถรองรับบัตรแบบใหม่ได้ทุกตู้ หากลูกค้าเปลี่ยนเป็นบัตรประเภทใหม่ แต่ไม่สามารถกดเงินจากตู้เอทีเอ็มใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงานที่สะดวกได้ก็จะเป็นปัญหาอีก
วันนี้จะมาให้ข้อมูลที่อัพเดทถึงการเปลี่ยนแปลงบัตรเอทีเอ็มของแต่ละธนาคารว่ามี เงื่อนไขเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มเป็นชิปการ์ด อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นก่อนที่ลูกค้าจะติดต่อเพิ่มเติมกับทางธนาคารเจ้าของบัตรต่อไปเพื่อให้ไม่เกิดความสับสน
- ธนาคารกรุงไทย
มีลูกค้าในระบบที่ใช้บัตรดั้งเดิมประมาณ 12 ล้านราย ก็ยังสามารถใช้บัตรเก่าได้จนกว่าจะถึงปลายปี 2562 ส่วนกรณีที่บัตรชำรุดหรือเสียหาย สามารถติดต่อเพื่อเปลี่ยนบัตรใหม่หรืออัพเกรดบัตรใหม่ได้ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมค่าเปลี่ยนที่ธนาคารทุกสาขาทั่วประเทศ ส่วนค่าธรรมเนียมรายปีธนาคารจะคิดในอัตราปกติตามแต่ละประเภทของบัตร โดยบัตรแบบธรรมดาก็จะคิดที่ 200 บาทต่อปี เช่นเดิม
- ธนาคารกสิกรไทย
แจ้งว่าลูกค้าบัตรเดิมที่เป็นแถบแม่เหล็ก หากยังไม่ประสงค์จะเปลี่ยนบัตรก็สามารถใช้ได้เหมือนเดิม และอัตราค่าธรรมเนียมรายปีก็จะเหมือนเดิมจนกว่าบัตรจะหมดอายุ ส่วนลูกค้าที่ต้องการเปลี่ยนบัตรก็สามารถติดต่อได้ที่ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา โดยให้นำสมุดบัญชีและบัตรประชาชนมา ทางธนาคารยกเว้นค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนบัตรใบใหม่ให้ ลูกค้าชำระเพียงค่าธรรมเนียมรายปีเท่านั้น เช่น K-Debit Card ค่าธรรมเนียมรายปีจะอยู่ที่ 200 บาท
- ธนาคารไทยพาณิชย์
แจ้งว่าลูกค้าบัตรแบบเก่าจะยังสามารถใช้บัตรเดิมต่อไปได้ถึงปลายปี พ.ศ. 2562 โดยเงื่อนไขทุกอย่างเหมือนเดิม แต่หากลูกค้าต้องการเปลี่ยนบัตรก็สามารถติดต่อธนาคารได้ทุกสาขา นำสมุดบัญชี บัตรประชาชน และบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตใบเดิมมาทำบัตรใหม่โดยมีค่าธรรมเนียมบัตรใหม่ 100 บาท แต่มีโปรโมชั่นให้กับลูกค้าโดยหากมาเปลี่ยนภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ก็จะยกเว้นค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนบัตรให้ ส่วนค่าธรรมเนียมรายปีของบัตรใหม่ปีแรกจะลดให้เหลือ 250 บาทจาก 300 บาท บัตรใหม่นี้จะมีความคุ้มครองทรัพย์สินและเงินสดสูงสุด 5,000 บาทต่อปีด้วย หากลูกค้าเปลี่ยนเป็นบัตรใหม่ภายในสิ้นปีนี้
- ธนาคารกรุงเทพ
ถือเป็นเจ้าแรกที่มีการออกบัตรเอทีเอ็มใหม่ที่เป็นชิปการ์ดมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังมีลูกค้าที่ถือบัตรเอทีเอ็มแบบเก่าอยู่ ธนาคารได้ประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าสามารถมาเปลี่ยนบัตรได้โดยจะยกเว้นค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนจนถึงปลายปี 2559 นี้ แต่จะยกเว้นการฟรีค่าธรรมเนียมสำหรับกรณีบัตรหาย หรือบัตรชำรุด
- ส่วนธนาคารอื่น ๆ
เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยาไม่มีการยกเว้นค่าธุรกรรมเนียมการเปลี่ยนบัตรเป็นแบบใหม่ และต้องติดต่อเพื่อเปลี่ยนบัตรกับธนาคารสาขาเจ้าของบัญชีเท่านั้น หากติดต่อต่างสาขาก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม 30 บาท ด้วย
สำหรับกรณีการเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มดังกล่าวนี้ ในภาพรวมถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าทั้งสำหรับธนาคารและสถาบันการเงินเอง รวมถึงตัวลูกค้าที่เป็นเจ้าของบัญชีด้วย โดยบัตรแบบชิปการ์ดแบบใหม่นี้จะช่วยมีความปลอดภัยจากการถูกโจรกรรมข้อมูลมากกว่าเดิม และเป็นบัตรที่จะสามารถรองรับระบบการจ่ายเงินแบบ e-payment หรือแบบออนไลน์ได้ในอนาคต ลูกค้าก็จะได้รับประโยชน์จากเรื่องความปลอดภัยและการใช้งานที่หลากหลายขึ้นของบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต หากต้องเสียค่าธรรมเนียม 100 บาท หรือมีค่าธรรมเนียมในการใช้บัตรที่เพิ่มขึ้นบ้าง ก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นนี้ ยกเว้นหากเป็นกรณีที่ถูกบังคับให้ซื้อประกันเพิ่มทั้งที่ไม่ต้องการ กรณีแบบนี้อาจแจ้งหรือร้องเรียนไปยังศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ได้ที่ โทร. 1213