ความฝันของใครหลายคนคงหนีไม่พ้นการมีบ้านเป็นที่อยู่อาศัยของตัวเอง ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป แต่การจะมีบ้านดี ๆ สักหลังหนึ่งในยุคสมัยนี้ก็ถือว่ายากพอสมควร ทั้งการสร้างเองหรือซื้อแบบสำเร็จรูปก็ตาม เนื่องจากราคาที่ดิน วัสดุอุปกรณ์ในการสร้าง อีกทั้งเฟอร์นิเจอร์ในการใช้งานและตกแต่ง นั้นชั่งแพงแสนแพง และยังค่าเงินที่ถูกลงไปทุกวันอีก แต่ทางออกย่อมมีเสมอกับระบบสินเชื่อบ้านและที่อยู่อาศัย ที่จะช่วยสานฝันให้กับใครหลายคนได้
สินเชื่อบ้าน คืออะไร ? มันก็คือเงินกู้ชนิดหนึ่งที่ทำการกู้ยืมมาจากธนาคารใดธนาคารหนึ่งในระยะยาว เพื่อนำมาสร้างหรือซื้อบ้านที่เราต้องการ และหมายรวมถึง คอนโด อาคารพาณิชย์ ทาวโฮม และทาวเฮาท์ด้วย โดยผู้กู้จะต้องนำที่อยู่อาศัยนั้นแหละเป็นสิ่งค้ำประกันการจำนอง หรือหากคุณมีสินเชื่อบ้านอยู่แล้วแต่อยากเปลี่ยนสถาบันการเงินใหม่ที่มีข้อเสนอที่ดีกว่า คุณก็สามารถทำการไถ่ถอนสินเชื่อเดิมที่มีอยู่และมาเข้ากับธนาคารใหม่ได้ เรียกวิธีการนี้ว่า “รีไฟแนนซ์บ้าน” และหากคุณสนใจจะทำการกู้สินเชื่อบ้านและที่อยู่อาศัย สิ่งที่คุณต้องทำมีดังนี้
ทำความเข้าใจ เรื่องของอัตราดอกเบี้ยให้ดีเสียก่อน
เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและซับซ้อนพอสมควรกับการคิดคำนวณตัวเลขเหล่านี้ แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่เราต้องรู้ โดยเฉพาะในเรื่องของประเภทอัตราดอกเบี้ย แบ่งประเภทออกเป็น ดังนี้
- เงินกู้อัตราดอกเบี้ยที่ลอยตัว หมายถึง ดอกเบี้ยที่ต้องชำระคงที่ในช่วงแรก ๆ เท่านั้น ต่อมาภายหลังจะปรับขึ้นลงตามสถานการณ์ตลาดเงิน สถาบันการเงิน ต้นทุนทางการเงิน ซึ่งการปรับเปลี่ยนนั้นไม่สามารถกำหนดรู้ได้ว่าปีไหนจะปรับเท่าไร บางปีอาจปรับสูง หรือบางปีอาจไม่ปรับเลยก็มี
- เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ แบ่งออกได้เป็น 3 แบบ คือ
- อัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลากู้ หมายถึง ดอกเบี้ยที่ต้องชำระจะเป็นไปตามประกาศครั้งแรกเสมอ ไม่ปรับตามสถานการณ์ตลาดเงิน
- อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นในช่วงแรก หมายถึง ดอกเบี้ยที่ต้องชำระในช่วง 1-5 ปีแรกจะยังคงที่ แต่หลังจากนั้นก็จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว ซึ่งอาจจะเสียสูงหรือต่ำกว่าเดิมก็ได้
- อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นแบบขั้นบันได หมายถึง จะทำการปรับขึ้นเป็นรอบปี เช่น ปีแรก 2.25 ปีสอง 3.25 ปีสาม 4.25 เป็นต้น หลังจากนั้นก็จะถูกปรับเป็นแบบลอยตัว
- เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะหนึ่งและปรับคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา หมายถึง ดอกเบี้ยที่จะคงที่ที่ระยะหนึ่ง และเริ่มปรับใหม่ให้คงที่โดยคิดเป็นรอบเวลา เช่น ทุก ๆ 3 ปี หรือ 5 ปี เป็นต้น
และนอกจากอัตรานอกเบี้ยแล้วยังต้องมีเงื่อนไขอื่น ๆ อีกที่คุณต้องใช้ประกอบการพิจาณา เช่น ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมจดจำนอง ค่าธรรมเนียมการไถ่ถอนจำนอง ค่าประเมินมูลค่าประกัน เป็นต้น
หาข้อมูลให้ครบถ้วน
การกู้จำนวนเงินไม่น้อยเช่นนี้ต้องรัดกุมให้มาก ต้องรู้ข้อมูลที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อการตัดสินใจ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาทีหลัง สิ่งที่ต้องนำมาตัดสินใจเมื่อต้องการกู้สินเชื่อบ้าน ประกอบไปด้วย จำนวนเงินที่ต้องการกู้ , การผ่อนชำระในแต่ละงวดมีมากเท่าใด , อัตราดอกเบี้ยเป็นประเภทใด คงที่หรือลอยตัว , ระยะเวลาในการผ่อนนานแค่ไหน , ดอกเบี้ยที่ต้องชำระกับเงินต้นที่กู้มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ , หลักฐานหรือเอกสารในการกู้ต้องใช้อะไรบ้าง , กู้ธนาคารไหนดี , แนวโน้มของธนาคารนั้นจะอนุมัติหรือไม่ อย่างไร , การกู้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอะไรบ้าง เป็นต้น สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจ
จะขอกู้กับแบงก์ไหนดี
การเลือกว่าคุณควรจะกู้กับสถาบันการเงินที่ไหนดี ต้องเลือกจากว่าสถาบันการเงินหรือธนาคารนั้น ๆ ที่เราเลือกกู้จะช่วยให้เราประหยัดได้มากแค่ไหน เงื่อนไขต่าง ๆ มีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ เช่น เงื่อนไขการกู้ วงเงินทั้งหมด ค่าใช้จ่ายอัตราดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงบริการทุกสิ่งทุกอย่างคุณควรได้รับความสะดวกสบายที่สุด ปัจจุบันมีสถาบันการเงินไม่น้อยที่เปิดบริการปล่อยสินเชื่อบ้าน เรียกได้ว่าแบงก์ไหนก็มีบริการนี้แน่นอน ที่เคาน์เตอร์บริการส่วนบุคคล จะมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาเรื่องนี้โดยตรง นอกจากนี้แล้วยังมีเคสต่าง ๆ มากมายที่มีผู้มีประสบการณ์นำมาแชร์ในกระทู้หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ที่จะทำให้เราสามารถเปรียบเทียบและตัดสินใจได้รอบด้านมากยิ่งขึ้น โดยหาเคสที่ใกล้เคียงกับตนเองมากที่สุด เช่น การกู้ร่วมกันโดยสามีและภรรยา เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม : 10 อันดับ สินเชื่อบ้าน วงเงินกู้สูง ดอกเบี้ยต่ำ
เตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้พร้อม
โดยทั่วไปจะมีเอกสารตามรายการด้านล่างนี้ แต่ปกติ เจ้าหน้าที่สินเชื่อของแต่ละธนาคาร จะมีใบรายการให้อยู่แล้วว่าเขาต้องการเอกสารอะไรบ้าง เช่น
- หลักฐานประจำตัว ได้แก่ บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส/ใบอย่า หรือใบมรณะ สำเนาเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
- หลักฐานเกี่ยวกับรายได้ แบ่งเป็นผู้มีรายได้ประจำ ต้องมีใบรับรองเงินเดือน พร้อมด้วยสมุดบัญชีธนาคาร และผู้มีอาชีพอิสระ ต้องมีสำเนาทะเบียนการค้า หรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล , บัญชีเงินฝาก พร้อม Statement , หลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินอื่น ๆ
- หลักฐานการซื้อขายหลักทรัพย์ สำเนาโฉนดที่ดินหรือกรรมสิทธิ์ห้องชุด , แผนที่ทำเลที่ดิน ,รายละเอียดทรัพย์ส่วนบุคคล ทรัพย์ส่วนกลาง , สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย หรือมัดจำ
- หลักฐานอื่น ๆ เช่น หากกู้เพื่อปลูกสร้างอาคารหรือต่อเติมก็ต้องมี หนังสืออนุญาตหรือต่อเติม , หนังสือสัญญาจ้างหรือต่อเติม , แบบก่อสร้าง เป็นต้น