อาจจะมีนักลงทุนหลายคนรู้จักกันดีว่าการเพิ่มทุนของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นคืออะไร แต่ก็เชื่อได้ว่าคงจะมีอยู่อีกไม่น้อยที่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเพิ่มทุนของบริษัท และจะมีผลกระทบอะไรบ้างกับนักลงทุนรายย่อยอย่างเราๆ ที่ถือหุ้นของบริษัทที่มีการเพิ่มทุน เรามาลองดูกันดีกว่าว่าการเพิ่มทุนของบริษัทนั้นคืออะไร ทำไปทำไม และเราจะได้อะไรบ้าง
การเพิ่มทุน คือ บริษัทมีการออกหุ้นมาใหม่หรือเราจะยินคำศัพท์ว่า “หุ้นเพิ่มทุน ” ที่ออกมาเพิ่มเติมจากหุ้นที่มีอยู่แล้ว และบริษัทจะนำหุ้นเพิ่มทุนที่ออกมาใหม่นี้ไปเสนอขายให้กับผู้ที่สนใจ เช่น ผู้ถือหุ้นเดิม ผู้ลงทุนสถาบัน หรือผู้ลงทุนทั่วไป และเมื่อบริษัทได้รับชำระค่าจองซื้อครบเรียบร้อยก็จะนำไปจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ โดยสิทธิประโยชน์ต่างๆ นั้น ก็ยังคงได้รับเหมือนกับหุ้นเดิมที่เราถืออยู่ทุกอย่าง
บริษัทเพิ่มทุนไปเพื่ออะไร
มีอยู่สองสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้บริษัทต้องทำการเพิ่มทุน ก็คือ
- หนึ่งเพื่อระดมทุนสำหรับนำไปใช้ในกิจการต่างๆ ของบริษัท เช่น ลงทุนขยายกิจการหรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ หรือนำไปชำระเงินกู้ก็แล้วแต่วัตถุประสงค์ในการระดมทุนของบริษัท
- และสองก็เพื่อปรับปรุงโครงสร้างเงินลงทุนของบริษัท ก็เพื่อต้องการเพิ่มสัดส่วนของผู้ถือหุ้นเพื่อปรับโครงสร้างเงินทุนให้มีสัดส่วนทางการเงินในระดับที่ต้อง ที่บางครั้งสัดส่วนทางการเงินของบริษัทนั้นก็อาจจะถูกกำหนดโดยเงื่อนไขการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน หรือถูกบังคับจากหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่ก็เป็นได้สำหรับบางธุรกิจ เช่น ธุรกิจประกัน เป็นต้น
เพิ่มทุนมีกี่แบบกัน
การแบ่งประเภทของการเพิ่มทุนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะแบ่งตามอะไร ถ้าแบ่งตามวิธีการขออนุมัติเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นก็จะแบ่งได้ 2 แบบ คือ การเพิ่มทุนแบบกำหนดวัตถุประสงค์ ซึ่งก็เป็นไปตามชื่อเลยคือ การเพิ่มทุนในครั้งนี้จะต้องบอกวัตถุประสงค์การใช้เงิน การออก และการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนไว้อย่างชัดเจน และแบบที่สองคือ การเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป ซึ่งผู้ถือหุ้นจะรู้แต่เพียงกรอบการจัดสรรหุ้นเท่านั้น แต่ไม่ทราบวัตถุประสงค์และรายละเอียดในการนำเงินไปใช้
แต่ถ้าเราแบ่งประเภทของการเพิ่มทุนตามวิธีของการเสนอขายหุ้นที่เพิ่มทุนนั้น ก็จะแบ่งได้ 3 แบบ ซึ่งเป็นการเพิ่มทุนที่นักลงทุนส่วนใหญ่รู้จักกันดี
- หนึ่งก็คือ การออกและเสนอขายหุ้นที่เพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม หรือเรียกว่า Right Offering (RO)
- สองคือ การออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ลงทุนไนวงจำกัดหรือเฉพาะกลุ่มนั่นเอง ซึ่งเรียกว่า Private Placement (PP)
- สามคือ การออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปที่อาจจะมีหรือไม่มีหุ้นของบริษัทที่เพิ่มทุนนี้เลยก็ได้ เรียกว่า Public Offering (PO)
ซึ่งบริษัทที่เพิ่มทุนนั้นจะแจ้งไว้อย่างขัดเจนว่าเป็นการเพิ่มทุนแบบไหน
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าหุ้นที่เราถืออยู่นั้นมีการเพิ่มทุน
ส่วนใหญ่บริษัทหลักทรัพย์ที่เรามีบัญชีอยู่จะเป็นผู้แจ้งข่าวสารนี้ให้กับเรา หรือเราจะดูได้เองจากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้ โดยให้ดูที่ปฏิทินหลักทรัพย์ถ้าหากหุ้นตัวไหนขึ้น เครื่องหมาย “XR” ที่ย่อมาจาก Excluding Right นั่นก็แสดงว่าหุ้นตัวนั้นกำลังมีการเพิ่มทุน โดยจะแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบล่วงหน้า 3 วันทำการก่อนวันปิดสมุดทะเบียน (Booking Closing Date) ซึ่งจะมีผลกับการจองหุ้นแบบ RO ที่ให้สิทธิการจองหุ้นกับผู้ถือหุ้นเดิมเท่านั้น ถ้าหากเราต้องการได้สิทธิในการจองหุ้นเพิ่มทุนเป็นจำนวนมาก เราก็ต้องซื้อหุ้นก่อนวันขึ้นเครื่องหมาย XR เท่านั้น หากเราซื้อหุ้นตั้งแต่วันที่ขึ้นเครื่องหมาย XR ไปแล้ว เราก็จะไม่มีสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน
แล้วเราจะได้อะไรจากการเพิ่มทุน
ถ้าเป็นการเพิ่มทุนและเสนอขายแบบ RO แล้ว สิ่งที่เราได้ก็คือสิทธิที่จะจองหุ้นที่เพิ่มทุนนั้น ซึ่งก็ทำให้เราได้ซื้อหุ้นในราคาพาร์ ก่อนที่จะออกขายในตลาด เพราะถ้าหากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ทำให้บริษัทสามารถบริหารงานจนมีผลประกอบการที่ดีก็มีผลต่อราคาหุ้นที่จะเพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งก็ยังจะรับเงินปันผลจากจำนวนหุ้นที่ถือมากขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ในทางตรงกันข้ามหากผลประกอบการของบริษัทไม่เป็นที่น่าพอใจก็อาจจะมีผลทำให้ราคาของหุ้นน้อยกว่าราคาที่ซื้อมาในครั้งแรกตอนเพิ่มทุนก็เป็นได้ หรือการจ่ายเงินปันผลก็อาจจะไม่ได้ดีเหมือนก่อนการเพิ่มทุนก็เป็นได้
ดังนั้นเราควรจะต้องศึกษารายละเอียดของการเพิ่มทุนให้เข้าใจจากหนังสือชี้ชวนกันก่อนตัดสินใจที่จะลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสิทธิที่ได้รับ เพราะการลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ