เมื่อประเทศไทยในปัจจุบันได้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยไปแล้วนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ รายได้ที่จะยังชีพในวันที่ไม่สามารถทำงานหาเงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมถึงสุขภาพที่ทดถอยและต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากในการรักษาตัวเองจากโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นโรคเรื้อรังและอยู่เป็นเพื่อนกันจนวันสุดท้ายของชีวิต ถ้าใครที่ได้อยู่ในระบบราชการที่มีบำนาญให้ใช้ ให้เบิกค่ารักษาพยาบาลก็ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วงก็คือ ผู้สูงอายุที่ไม่ได้เป็นข้าราชการบำนาญ ไม่มีเงินสำรองเพียงพอต่อการใช้ชีวิต และไม่มีลูกหลานไว้คอยดูแล ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ดังนั้นกระทรวงการคลังที่มองเห็นปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงเสนอให้มี สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage Loan) ออกมา เรามาดูหลักการกันดีกว่าว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ นี้จะเป็นทางเลือกสำหรับวัยเกษียณในอนาคตได้หรือเปล่า
สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage Loan) เกิดจากกระทรวงการคลังที่ต้องการสร้างหลักประกันให้กับผู้สูงอายุในอนาคต จึงได้เตรียมที่จะเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) เพื่อเปิดทางธนาคารภาครัฐและเอกชนสามารถเข้าร่วมดำเนินการกับการอนุมัติ Reverse Mortgage Loan ได้ โดยหลักการของ Reverse Mortgage Loan จะเป็นหลักประกันให้กับผู้สูงอายุที่ไม่ได้อยู่ในระบบบำนาญ ไม่มีเงินออม แต่มีบ้านเป็นของตัวเองที่ไม่มีภาระการผ่อนชำระกับธนาคาร มาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินกับธนาคาร และธนาคารจะจ่ายเงินให้เป็นรายเดือนสำหรับนำไปใช้จ่ายประจำวัน โดยธนาคารจะจ่ายให้ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งหลังจากที่เสียชีวิตบ้านที่นำมาเป็นหลักประกันก็จะตกเป็นทรัพย์สินของธนาคารหรือลูกหลานของผู้เสียชีวิตจะซื้อกลับคืนก็ได้
เพราะฉะนั้นการให้สินเชื่อแบบนี้จึงมีชื่อว่า Reverse Mortgage Loan เนื่องจากวิธีการให้สินเชื่อนั้นจะตรงกันข้ามกับ Mortgage Loan หรือสินเชื่อที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อเราได้รับอนุมัติจากธนาคารแล้ว บ้านที่ยื่นกู้นั้นจะเป็นหลักประกันในการกู้ยืม และเราจะได้เงินมาเป็นก้อนสำหรับจ่ายค่าบ้าน หรือนำไปใช้จ่ายในเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็น และเราจะต้องจ่ายคืนให้กับธนาคารเป็นรายเดือนตามที่ตกลงกับธนาคาร แต่ Reverse Mortgage Loan นี้จะตรงกันข้ามกันคือ ธนาคารจะเป็นคนจ่ายเงินเป็นรายเดือนให้แทนโดยมีบ้านเป็นหลักประกันเหมือนกันและก็ยังสามารถอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นไปได้จนกว่าจะเสียชีวิต หลังจากนั้นธนาคารก็จะนำบ้านหลังนั้นไปประกาศขายทอดตลาดหรือแจ้งให้ทายาทสามารถมาซื้อกลับคืนได้ เพียงแต่เงื่อนไขเรื่องดอกเบี้ยต่างๆ นั้นยังไม่ได้กำหนดออกมา ซึ่งก็ต้องรอให้กฎหมายที่เสนอไปนั้นผ่านเสียก่อน
ทีนี้มาถึงหลักการพิจารณาคร่าวๆ ที่ทางกระทรวงการคลังคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นกับ Reverse Mortgage Loan
ก็ได้แก่ คุณสมบัติของผู้กู้นั้นยิ่งตอนยื่นเรื่องมีอายุมากก็จะยิ่งทำให้ได้เงินงวดสูงขึ้น ถ้าบ้านที่นำมาเป็นหลักประกันนั้นมีสภาพที่ดี อยู่ในทำเลที่ดี ก็ยิ่งทำให้ได้รับเงินงวดสูงขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขพิเศษอื่นๆ ที่แต่ละธนาคารจะประกาศใช้กันออกมา ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ย การคิดค่าธรรมเนียมในการประเมิน หรือค่าธรรมเนียมในการทำสัญญา เป็นต้น และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของ Reverse Mortgage Loan นี้ก็คือ ผู้ที่ต้องการกู้ไม่ต้องยื่นหลักฐานแสดงรายได้ของตนเอง ไม่ต้องตรวจสุขภาพ มีแค่เพียงบ้านและที่ดินที่ปลอดภาระการผ่อนชำระกับธนาคารเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว สำหรับที่จะนำมาขอยื่นกู้กับธนาคารเพื่อให้มีเงินใช้ในแต่ละเดือน
ซึ่งในต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา หรือเกาหลีใต้ นั้นก็ได้มี Reverse Mortgage Loan นี้มาให้ผู้สูงอายุในประเทศของตัวเองได้เลือกใช้บริการกัน ดังนั้นสำหรับประเทศไทยของเราที่จำนวนของผู้เกษียณอายุจากการทำงานเพิ่มมากขึ้นทุกปี และแนวโน้มการใช้ชีวิตก็จะเป็นแบบครอบครัวเดี่ยวกันมากขึ้น ลูกๆ หลานๆ ก็ไม่ได้อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่เหมือนแต่ก่อน อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันต่างๆ มีมากขึ้นทำให้ลูกหลานก็อาจจะไม่มีกำลังเพียงพอที่จะดูแลได้ ถ้ามี Reverse Mortgage Loan ออกมา ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ทำให้ผู้เกษียณอายุสามารถใช้ชีวิตในบั้นปลายได้อย่างไม่เดือดร้อน และไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่ารักษาพยาบาลกันอีกต่อไป