กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ให้ลูกจ้างมีเงินออมสำหรับเกษียณ โดยมีลักษณะเป็นสวัสดิการที่นายจ้างมีให้แก่ลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างมีการออมอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อเป็นเงินออมที่เก็บไว้ใช้ยามเกษียณหรือลาออกจากงาน อีกทั้งยังเป็นหลักประกันให้กับครอบครัวเมื่อลูกจ้างทุพพลภาพหรือเสียชีวิตอีกด้วย
บริษัทที่มีการจัดตังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะกำหนดให้ลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนอย่างต่อเนื่องทุกเดือน ในอัตรา 2-15 % ของรายได้ และบริษัทจะจ่ายเงินสมทบให้อีกในแต่ละเดือนในอัตรา 2-15 % เช่นกัน ซึ่งเงินที่จ่ายเข้ากองทุนนี้จะมีการนำไปบริหารจัดการโดยมืออาชีพให้งอกเงยมากยิ่งขึ้น และนำผลตอบแทนที่ได้มาเฉลี่ยจ่ายให้กับสมาชิกของกองทุนตามสัดส่วนของเงินที่มีอยู่ในกองทุน ดังนั้นผลตอบแทนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ลูกจ้างจะได้รับจึงมีทั้งเงินสะสมที่ส่งเข้ากองทุนอย่างต่อเนื่องรวมทั้งเงินสมทบที่นายจ้างจ่ายให้ทุกเอน และผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนอีกด้วย
ดังนั้นจะเห็นว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อลูกจ้างที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคงและหลักประกันให้กับชีวิตในยามเกษียณ อีกทั้งยังให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีโดยสามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 15 % ที่จะทำให้ลูกจ้างมีเงินเหลือเพื่อออมและนำไปลงทุนได้มากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม :พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ปรับปรุงใหม่ มีอะไรบ้าง
เนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการออมเงินในระยะยาว ดังนั้นในระหว่างช่วงชีวิตการทำงาน ลูกจ้างอาจมีโอกาสย้ายงานหรือเปลี่ยนที่ทำงาน รวมถึงมีโอกาสที่นายจ้างต้องเลิกกิจการ ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจะสามารถโอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังที่ทำงานใหม่ได้หรือไม่ และจะสามารถโอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในกรณีไหนได้บ้าง ดังนั้นจึงต้องมาทำความเข้าใจกับการโอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับตัวลูกจ้างเองได้อย่างดีที่สุด
มาดูกันว่าการโอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถทำอย่างไรได้บ้าง
-
กรณีย้ายที่ทำงานใหม่ และต้องการย้ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม ไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทใหม่
เมื่อต้องย้ายงานหรือเปลี่ยนที่ทำงาน จะทำให้ลูกจ้างสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม ซึ่งลูกจ้างสามารถแจ้งโอนย้ายเงินไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอื่น ของที่ทำงานใหม่ได้ โดยจะต้องทำการแจ้งคงเงินเอาไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมเอาไว้ก่อน ในระหว่างที่รอเริ่มงานใหม่ และเมื่อได้งานใหม่ที่บริษัทมีการตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็สามารถโอนย้ายจากกองทุนเดิมไปได้ทันที
ในระหว่างการสิ้นสุดสมาชิกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม และไม่อยากถอนเงินออกมาจากกองทุน ซึ่งต้องมีการนำเงินส่วนนี้ไปคิดเป็นรายได้เพื่อการเสียภาษี ลูกจ้างสามารถแจ้งคงเงินเอาไว้ในกองทุนกับคณะกรรมการกองทุน เพื่อขอคงเงินเอาไว้ก่อน โยเงินจำนวนนี้จะเป็นเงินที่ไม่สามารถนำไปลงทุนเพิ่มเติมเพื่อผลประโยชน์ใดๆได้ เพราะต้องคงเอาไว้เป็นบัญชีเจ้าหนี้ของกองทุน
ลูกจ้างสามารถคงเงินเอาไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ซึ่งถ้าไม่สามารถแจ้งโอนเงินไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอื่นๆภายใน 1 ปี ทางกองทุนจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของสมาชิกที่แจ้งเอาไว้ในกองทุน ที่ต้องเป็นเงินรายได้เพื่อนำไปคำนวณการเสียภาษีในปีนั้นๆด้วย
-
การโอนย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุน RMF
ลูกจ้างสามารถโอนย้ายเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุน RMF ได้ตาม กำหนดของ พรบ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฉบับที่ 4 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน
กองทุน RMF หรือ Retirement Mutual Fund เป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่มีวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อให้เกิดการออมเงินระยะยาวเพื่อเอาไว้ใช้ในยามเกษียณ เช่นเดียวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเช่นกัน ซึ่งต้องมีการลงทุนซื้อหน่วยกองทุนอย่างน้อยปีละครั้ง และในจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 3 % ของรายได้ต่อปีหรือ 5,000 บาท แล้วแต่ว่าเงินจำนวนใดที่ต่ำกว่า
เมื่อลูกจ้างลาออกจากบริษัท หรือนายจ้างแจ้งยกเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในบริษัท ส่งผลให้ลูกจ้างสิ้นสภาพสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม ทำให้ต้องมีการถอนเงินออกจากกองทุนก่อนเกษียณและต้องเสียภาษีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นนอกจากการย้ายไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอื่นในบริษัทใหม่ ก็สามารถโอนย้ายเงินจากกองทุนไปยัง RMF เพื่อให้สามารถออมเงินได้อย่างต่อเนื่องสำหรับการเกษียณอายุได้อย่างที่ต้องการ นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเช่นเดียวกับการออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกด้วย
ลูกจ้างที่โอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยัง RMF ยังมีโอกาสได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เพราะกองทุน RMF มีนโยบายการลงทุนที่ยืดหยุ่นมากกว่า ทำให้สามารถเลือกลงทุนได้ตามระดับความเสี่ยงที่ลูกจ้างสามารถยอมรับได้ อีกทั้งยังสามารถนับอายุต่อเนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้เลย เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี
-
โอนย้ายจากกองทุน กบข.มายังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
นอกเหนือจากการเคลื่อนย้ายแรงงานในภาคเอกชนด้วยกันแล้ว ก็ยังมีการย้ายแรงงานจากราชการมาเป็นงานเอกชน ซึ่งสมาชิกกองทุน กบข.เดิม ก็สามารถย้ายเงินทั้งจำนวนที่ลงใน กบข.มายังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้โดยไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นข้าราชการที่ย้ายสายงานมายังภาคเอกชนจึงไม่ต้องถอนเงินจาก กบข.ที่จะต้องถูกนำมาคิดคำนวณภาษี แต่สามารถย้ายเงินมาเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ทันทีโดยไม่ต้องเริ่มต้นออมใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นสิทธิที่เป็นประโยชน์อย่างมาก
การโอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้ลูกจ้างสามารถออมเงินได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงของชีวิตและเป็นหลักประกันในวัยเกษียณ ทำให้ไม่ต้องเสียโอกาสเมื่อต้องย้ายงานหรือบริษัทปิดกิจการ ทำให้สิ้นสภาพสมาชิกและต้องถอนเงินออกจากกองทุนมาก่อนเวลาอย่างน่าเสียดาย