สำหรับคนไทยแล้ว หลักในการคิดราคาในการทำงานต่าง ๆ นั้น โดยเฉพาะงานที่กี่ยวกับการใช้ไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน เช่น งานการออกแบบและดีไซน์ต่าง ๆ การจะคิดราคาออกมาเป็นมูลค่าเพื่อเสนอต่อลูกค้าเป็นเรื่องที่น่าลำบากใจและหาหลักเกณฑ์ค่อนข้างยากทีเดียว นักออกแบบ เช่น นักออกแบบเว็บไซต์ที่ทำอาชีพในการรับออกแบบเว็บไซต์ มักจะต้องพบกับปัญหาในเรื่องของการคิดราคาค่าออกแบบงานกันอยู่เสมอ นั่นก็เป็นเพราะในเนื้อหาของงานแต่ละชิ้นที่รับเข้ามาทำนั้น เมื่อถึงขั้นตอนการทำงานจริงแล้ว ทุกงานมีความยากง่ายและรายละเอียดที่แตกต่างกัน การคิดราคาจึงเป็นเริ่องที่ซับซ้อนพอสมควร นักออกแบบหลาย ๆ คน จึงไม่รู้ว่าจะนำหลักเกณฑ์ใดมาตีราคาและหลาย ๆ ครั้งผลที่ได้รับก็คือ บางงานทำแล้วกลับรู้สึกว่าค่าตอบแทนที่ได้ไม่สมกับ เวลา สมอง ฝีมือและการลงแรงไปเอาเสียเลย
ในหลักของการคิดราคางานของเรานั้น นักออกแบบคงจะพอทราบว่ามีหลักในการคิดราคาอยู่เพียงไม่กี่อย่าง เราจะลองมาวิเคราะห์หลักเหล่านั้น เพื่อที่จะได้นำไปใช้ในการตั้งราคาหรือคิดราคาในการรับงานครั้ง ต่อ ๆ ไป ได้ ซึ่งมีเว็บไซต์ http://mennstudio.com/2014/design-price-cost-value/ ที่ให้แนวทางไว้ได้อย่างน่าสนใจ เราจึงนำมาเล่าสู่กันฟัง สำหรับผู้ที่ทำงานบริการวิชาชีพออกแบบเว็บไซต์ ดังนี้
เราอาจจะคิดจากราคาต้นทุนในการทำงาน แล้วบวกเข้ากับกำไรที่เราต้องการ คำถาม ก็คือ มีอะไรบ้างที่เป็นต้นทุนของเรา
หากจะพูดกันตรง ๆ สำหรับค่าแรงที่มากที่สุดสำหรับนักออกแบบเว็บไซต์ก็เห็นจะเป็นค่าแรงงานและแรงสมอง ซึ่งก็คือสมองและเวลาที่เราต้องทุ่มเทในการทำงานนั่นเอง ส่วนค่าแรงที่เป็นต้นทุนอื่น ๆ ก็เช่น ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำงาน ทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์สำนักงาน อุปกรณ์อิเลคโทรนิคต่าง ๆ เป็นต้น ค่าสถานที่ที่เราใช้ อาจจะเป็นออฟฟิศที่เช่าไว้และค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสัญญาณอินเทอร์เน็ต นอกจากนั้นก็จะมีค่าใช้จ่ายในการจัดหาจัดซื้ออุปกรณ์ซอฟแวร์ต่าง ๆ ซึ่งโปรแกรมซอฟแวร์เหล่านี้ หลาย ๆ ที่ก็มักละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อลดต้นทุน แต่ทราบไหมว่าผลเสียที่เกิดขึ้นเต็ม ๆ ไม่ใช่กับใครก็นักออกแบบนั่นเอง เพราะทำให้ซอฟแวร์ไทยไม่ได้รับการพัฒนาเนื่องจากทำไปก็ถูกละเมิดและโกง ในขณะที่ซอฟแวร์ต่างประเทศหลายตัวไม่รองรับภาษาของเราอีกด้วย
อีกส่วนหนึ่งที่ควรจะคิดรวมไปในเรื่องของต้นทุน ก็คือ ค่าความรู้ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีมูลค่าสูงในตัวเอง ไม่ว่าความเชี่ยวชาญและความรู้นั้นเราจะได้มาอย่างไร ทั้งประสบการณ์ การอ่านการเข้าคอร์สเรียนรู้เพิ่มเติม เหล่านี้เราควรคำนวนมาเป็นต้นทุนร่วมด้วยทั้งสิ้นและที่ขาดเสียไม่ได้คือภาษีนั่นเอง นักออกแบบหลายคนที่ลืมคิดในจุดนี้ ทำให้เมื่อถึงเวลาจ่ายภาษีเราเองที่ต้องควักเนื้อ
และเมื่อเราได้คำนวนต้นทุนเหล่านี้ โดยนำมาเฉลี่ยกับระยะเวลาที่ทำงานนั้น ๆ แล้ว เราก็จะได้ต้นทุน จากนั้นจึงบวกเพิ่มด้วยกำไรที่เราต้องการหรือสมควรจะได้จากงานนั้น ๆ นั่นเอง
การคิดเงินลูกค้าในมุมของต้นทุนยังมีแนวคิดแทรกเข้ามา ก็คือ เราอาจจะคิดตามหลักของเวลาที่เราใช้ในการทำงานแต่ละชิ้นก็ได้ ซึ่งเราอาจจะกำหนดว่าเราทำงานนี้เบ็ดเสร็จครบกระบวนการจนทำสำเร็จส่งให้ลูกค้านั้นกี่ชั่วโมง และเราต้องการตั้งราคาให้งานนั้นชั่วโมงละกี่บาทก็นำไปคูณ แต่วิธีนี้อาจจะคลุมเครือสักหน่อย นอกจากเราคำนวนแล้วว่ามันคุ้มและครอบคลุมเพียงพอก็สามารถทำได้
อีกแนวทางคือ คิดจากจำนวนครั้งที่เราต้องแก้งานให้ลูกค้า เพราะงานบางงานลูกค้ามีความละเอียดและมีสิ่งที่ต้องการเยอะมาก ต้องการให้นำงานกลับมาแก้จุดนั้นจุดนี้มากมายหลายครั้ง ทำให้เมื่อแก้งานไปมาก ๆ เริ่มรู้สึกว่าไม่คุ้มกับราคาที่เรียกไปก็เป็นได้ ดังนั้น การคิดจากจำนวนของครั้งที่เราต้องแก้งานก็เป็นหลักการคิดค่างานที่ดีเช่นกัน
งานทุกชิ้นที่ทำหากเรามั่นใจว่าเราได้ทำงานที่แตกต่างและมีคุณภาพอย่างแท้จริง เราอาจจะคิดงานจากมูลค่าของคุณภาพงานที่ลูกค้าจะได้รับจากการว่าจ้างเรา ซึ่งในจุดนี้เราอาจจะพบกับปัญหาการตัดราคากันเองของผู้ออกแบบรายอื่น ๆ แต่ระยะยาวแล้วหากผลงานมีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับ เราจะสามารถได้งานที่ลูกค้ามีคุณภาพและพร้อมจะจ่าย มากกว่าลูกค้าที่กดราคาและเมื่อเราทำแล้วกลับรู้สึกไม่คุ้มได้
ความคุ้มค่าที่ลูกค้าได้รับจากการจ้างงานเรานั้น สามารถวัดได้โดยไม่ยาก นั่นก็คือ วัดจากผลตอบรับ ผลประกอบการและผลกำไรที่เพิ่มขึ้นของลูกค้านั้นเอง ซึ่งหากเรามั่นใจในคุณภาพงานเราก็ตีราคาจากการคาดการณ์ในผลงานของเราได้เลย
เกร็ดอีกเล็กน้อยในเรื่องของค่าออกแบบที่นำมาฝากกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรที่จะละเลย ก็คือ หากมีการทำสัญญาว่าจ้างงาน การทำสัญญานั้นจะแทบจะไม่เกิดผลอะไรเลยหากมีการละเมิดสัญญาถ้ามูลค่างานไม่ถึง 1 แสนบาท เพราะการฟ้องร้องหลังจากถูกเบี้ยวสัญญากับมูลค่าเงินไม่ถึง 1 แสน นั้น คำนวณแล้วไม่คุ้มกับการดำเนินคดีเลย และอย่างยอมเป็นฝ่ายเสียเปรียบลูกค้าเพียงเพื่อให้ได้ลูกค้า เช่น หากลูกค้าขอลงเงื่อนไขการปรับในสัญญา เช่น เราส่งงานช้า เราเองก็มีสิทธิ์จะปรับลูกค้าเช่นกัน ทั้งการส่งงานให้เราช้าทำให้เราได้ข้อมูลช้าและทำงานออกมาช้าหรือแม้แต่การจ่ายค่าตอบแทนไม่ตรงเวลาเป็นต้น
ไม่ว่าใครอาชีพใด เมื่อลงแรงลงสมองในการทำงานก็ย่อมต้องการได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มค่า ดังนั้น การคิดคำนวณตามหลักที่ได้กล่าวมานั้นน่าจะเป็นประโยชน์ในการนำไปคิดคำนวณค่ารับออกแบบเว็บไซต์ได้ง่ายยิ่งขึ้น