การเล่นหุ้นให้ได้กำไรทำไมมันยากจัง? ท่านนักลงทุนเคยคิดแบบนี้ไหม? ยิ่งตั้งแต่ช่วงปี 2013 เป็นต้นมาที่ SET Index เป็นช่วงขาพักปรับฐานอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการไต่ระดับขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่ช่วงต้นปี 2009 เป็นต้นมา การปรับพักฐานลงมากจากการที่ดัชนีไต่ระดับขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 1,649 จุด และก็ค่อยๆร่วงหล่นลงมาตามสภาวะเศรษฐกิจ ปัจจัยทางการเมือง และราคาน้ำมันดิบที่ส่งผลต่อหุ้นกลุ่มหลักๆอย่างกลุ่มธนาคารและพลังงานเป็นอย่างมาก
อย่างที่ท่านนักลงทุนทราบกันว่า SET บ้านเรามีหุ้นกลุ่มพลังงาน weight(ถ่วงน้ำหนัก)อยู่ตั้งเกือบ 40% เพราะฉะนั้นการที่หุ้นกลุ่มพลังงานถูกกดดันจากราคาน้ำมันดิบรวมถึงเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากผลพวงของงบการเงินที่ประกาศออกมาแล้วงบไม่สู้ดีนัก ส่งผลทำให้ราคาหุ้นกลุ่มนี้ลงเอาๆ มีการดีดเด้งบ้างเป็นช่วงๆแต่ส่วนใหญ่คือเป็นการปรับตัวลงเสียมากกว่า นอกจากกลุ่มพลังงานแล้วกลุ่มธนาคารพาณิชย์ก็ไม่น้อยหน้ากลุ่มพลังงานเพราะกลุ่มแบงค์ก็ weight ตลาดอยู่เกือบ 25% มองง่ายๆก็คือว่าตลาดหุ้นบ้านเราถูกนำพาโดยกลุ่มหลักๆ 2 กลุ่มนี้นั่นเอง
การที่กลุ่มพลังงาน และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลง อีกส่วนหนึ่งก็เป็นผลพวงจากตัวเลขเศรษฐกิจภาพรวม ที่เราเห็นนักเศรษฐศาสตร์และผู้สื่อข่าวประกาศออกทางสื่ออยู่บ่อยครั้งอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของการบริหารงานของธนาคารเอง นโยบายของภาครัฐที่เข้ากดดันการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์และปัญหาเดิมๆคือเรื่องของตัวเลขของ NPL (non-performing loan) หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อราคาหุ้นของกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นอย่างมาก แต่ถามว่าถ้าเรามองให้เป็นเชิงเศรษฐศาสตร์แล้วจะพบว่าเรื่องพวกนี้แท้ที่จริงแล้ว เรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เรื่องผลประกอบการธนาคารที่ประกาศออกมา มันก็มักจะไปสัมพันธ์กับเรื่องของวงจรธุรกิจ หรือ Business Cycle ซึ่งถามว่าคนธรรมดาๆนั้นสามารถทราบก่อนล่วงหน้าคร่าวๆได้หรือไม่ ตอบเลยว่าได้ครับเพราะถ้าเราใช้การสังเกตวงจรของธุรกิจแล้วนำมาประกอบกับวงจรของตลาดหุ้นแล้วจะพบว่าทุกๆ 5-8 ปี ตลาดหุ้นไทยมักจะมีการปรับตัวลงแรงๆ พักฐานใหญ่ๆซัก 1 ครั้ง ซึ่งการปรับพักฐานนี้มักจะกินเวลาประมาณปีครึ่งถึงสองปี ซึ่งเรื่องพวกนี้ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเพียงแต่เราเอาสถิติย้อนหลังมาดูหรือเปิดกราฟราคาดัชนีดู SET index ย้อนหลังไปก็สามารถวิเคราะห์คาดการณ์ได้
แต่อย่าเพิ่งเสียอกเสียใจไปจากการที่ SET ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องมาตลอดหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา เพราะถ้าเราลองเข้าไปดูตัวเลขราคาหุ้นรายตัวหรือแม้กระทั่งค่าราคาดัชนีแบ่งแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยๆ เราจะพบว่าถึงแม้ว่าตลาดหุ้นโดยรวมจะมีราคาลดลง แต่ก็ยังมีหุ้นบางตัวบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตทางด้านราคาหุ้นสวนตลาด และราคาก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น หุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน เช่นการบิน ไทย(ผลิกจากขาดทุนกลับมาเป็นกำไร) ท่าอากาศยานไทยหรือหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลวิภาวดี เป็นต้น ประเด็นสำคัญก็คือว่านักลงทุนจะต้องอ่านทิศทางแนวโน้มตลาดฯให้ออกหรือแม้กระทั่งพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงสภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยให้ได้ซึ่งช่วงเวลาแบบนี้หุ้นในกลุ่มปัจจัย 4 ก็มักจะยืนหยัดอยู่ได้ ถ้าเราลองศึกษาราคาย้อนหลังจะพบว่าหุ้นกลุ่มดังกล่าวมีทิศทางราคาที่เติมโตสวนกับสภาวะเศรษฐกิจซึ่งสะท้อนออกมาเป็นการเติบโตของราคาหุ้น โดยเฉพาะหุ้น BDMS ซึ่งปัจจุบันเป็นเครือโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งถือได้ว่าค่อนข้างกึ่งผู้ขาดธุรกิจโรงพยาบาล คล้ายๆกับหุ้น AOT ที่ผูกขาดธุรกิจสนามบิน ซึ่งราคาก็ไต่ระดับขึ้นอย่างต่อเนื่องจากราคาประมาณ 300 บาทเมื่อช่วงเดือนตุลาคม ปี 2558 ไต่ระดับสวนทางกับตลาดที่ปรับตัวลงมาแตะราคาสูงสุดที่ระดับราคา 430 บาทเมื่อเดือนมีนาคม 2559 หรือใช้เวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น
นอกเหนือจากการถือหุ้นที่มีทิศทางการเติบโตของราคาสวนตลาดแล้ว นักลงทุนยังสามารถทำเงินในยามตลาดหุ้นขาขาลงได้ด้วยการทำธุรกรรม SBL (Stock borrowing and lending) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่าธุรกรรมการชอร์ตหุ้น ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลายและเกือบทุกบริษัทหลักทรัพย์ก็เปิดให้ลูกค้าสามารถเลือกทำธุรกรรมการชอร์ตหุ้นได้ ซึ่งถ้าเราสามารถวิเคราะห์ทิศทางแนวโน้มของ SET หรือของราคาหุ้นรายตัวได้ เราก็สามารถทำกำไรในหุ้นขาลงได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เพียงแต่เราต้องคิดถึงประเด็นในส่วนของค่ายืมหลักทรัพย์ที่จะเพิ่มเข้ามาในส่วนของต้นทุนการทำธุรกรรมเท่านั้นเอง
นอกจากนี้สิ่งที่ทำได้คือการชอร์ตตราสารอนุพันธ์ในตลาด TFEX โดยตราสารอนุพันธ์เป็นตราสารทางการเงินที่มีมูลค่าขึ้นอยู่กับสินทรัพย์อ้างอิง(Underlying asset) ซึ่งตราสารอนุพันธ์ประเภทสัญญา Futures ในตลาดบ้านเราที่เป็นที่นิยมและมีสภาพคล่องเป็นอย่างมากก็คือ SET 50 index futures ซึ่งเป็นสัญญาฟิวเจอร์ที่มีสินทรัพย์อ้างอิงคือ SET 50 ที่เราทราบกันดีอยู่แล้วมีทิศทางแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับดัชนีหลัก SET index ซึ่งการชอร์ต SET 50 index futures นั้นเป็นการเลือกทำกำไรในขาลงของดัชนี ยกตัวอย่างเช่นถ้านักลงทุนตัดสินใจเปิดชอร์ต SET 50 index futures ที่ระดับราคา 900 จุด หลังจากนั้นหากตลาดหุ้นปรับตัวลงทำให้ราคา SET 50 index futures ราคาลดลงจาก 900 เหลือ 880 จุด นักลงทุนก็จะได้กำไรจากการชอร์ตสัญญาดังกล่าวทั้งสิ้น 20 จุดนั่นเอง จากบทความที่กล่าวมาข้างต้นจะพบว่าในตลาดหุ้นขาลงนักลงทุนก็สามารถทำเงินได้ หากเพียงรู้วิธีการและรู้จักเครื่องมือต่างๆที่ใช้ในการทำกำไรเท่านั้นเองครับ
ผู้เขียน: อาจารย์ ธัญญพัฒน์ ธัญญศิริ
Facebook Fan page: @AjBraveTanjasiri