นักลงทุนในตลาดอนุพันธ์สามารถวิเคราะห์ทิศทางการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทฟิวเจอร์ได้ด้วยตนเองโดยใช้ศาสตร์การวิเคราะห์ด้านต่างๆเข้ามารวมกัน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ โดยที่อาจใช้บทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์ตามบริษัทหลักทรัพย์เป็นเพียงแค่ไกด์เราเท่านั้น ซึ่งแนวคิดต่างๆที่ใช้ในการวิเคราะห์ทิศทางราคาของสัญญาฟิวเจอร์ ผมขอเรียบเรียงเป็นหัวข้อใหญ่ๆทั้งสิ้น 4 หัวข้อดังนี้ โดยจะมุ่งเน้นเป็นตัวอย่างของสัญญา SET 50 index futures ซึ่งเป็นสัญญาที่เป็นที่นิยมสูงในปัจจุบันและมีสภาพคล่องสูงที่สุดเป็นหลักครับ
1.การวิเคราะห์โดยใช้กราฟทางเทคนิค(Technical analysis)
เป็นการมุ่งเน้นการวิเคราะห์การหาจังหวะการเข้า-ออกและวิเคราะห์ทิศทางการลงทุนในสินทรัพย์ชนิดต่างๆโดยใช้กราฟเข้ามาช่วย ซึ่งกราฟทางเทคนิคนั้นก็มิได้มีอะไรที่ซับซ้อนเพราะที่จริงแล้วมันเกิดจาก Plot ราคาที่มีการจับคู่ซื้อขายจริงกันในตลาดนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องของการ Plot กราฟทางด้านราคาและเวลา โดยประเภทของกราฟหลักๆที่เป็นที่นิยมนำมาช่วยในการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิคในตลาดบ้านเรานั้นหลักๆแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ
- Candlestick Chart
- Bar Chart
- Line Chart
ซึ่งแต่ละรูปแบบสามารถนำมาวิเคราะห์ทิศทางแนวโน้มและจังหวะการลงทุนซื้อ-ขายได้เหมือนกัน อยู่ที่ความถนัดในการวิเคราะห์ของตัวผู้ลงทุนเอง
แต่สาระสำคัญของการวิเคราะห์กราฟเทคนิคที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในเรื่องของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทฟิวเจอร์นั้นมันสำคัญอยู่ที่การวิเคราะห์ทิศทางของราคาตราสารให้ถูกต้อง เพราะถ้าวิเคราะห์ผิดแล้วเกิดการลงทุนซื้อ-ขายที่ผิดทิศทางก็จะเกิดความเสียหายต่อพอร์ตการลงทุนของผู้ลงทุนเองเป็นอย่างมาก เพราะตราสารอนุพันธ์ทุกชนิดนั้นถูกออกแบบมาให้ สามารถให้ผลตอบแทนสูง แต่ในทางเดียวกันความเสี่ยงก็สูงมากเช่นกัน ดังนั้นก่อนที่จำทำการตัดสินใจ เปิด Long position เพื่อทำกำไรในตลาดขาขึ้น หรือ Short Position เพื่อทำกำไรในตลาดขาลง นักลงทุนต้องสามารถวิเคราะห์ทิศทางแนวโน้มของราคาสินทรัพย์อ้างอิงรวมถึงทิศทางราคาของตราสารให้ถูกต้องแม่นยำเสียก่อนโดยใช้ศาสตร์การวิเคราะห์หลักทรัพย์ทางด้านเทคนิคประกอบ ก่อนตัดสินใจลงทุนครับ
2.การวิเคราะห์โดยใช้ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental analysis)
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการใช้ปัจจัยพื้นฐานเพื่อวิเคราะห์หุ้นนั้นส่วนใหญ่เราๆท่านๆหรือแม้แต่นักวิเคราะห์ชื่อดังนั้นมักจะนิยมใช้การวิเคราะห์แบบ Top-Down หรือการวิเคราะห์แบบบนลงล่าง ซึ่งพูดง่ายภาษาชาวบ้านก็คือการวิเคราะห์จากภาพโดยรวมไปสู่จุดย่อยๆในระบบเศรษฐกิจ หรือถ้าภาษาเศรษฐศาสตร์ก็คือการวิเคราะห์ทางด้านมหภาคซึ่งก็คือการวิเคราะห์เศรษฐกิจโดยรวม ลงมายังการวิเคราะห์กลุ่มอุตสาหกรรม สุดท้ายลงมาวิเคราะห์ที่รายตัวบริษัทนั้นๆในเชิงจุลภาค สำหรับสัญญาล่วงหน้าประเภทฟิวเจอร์นั้นก็สามารถวิเคราะห์ในลักษณะนี้ได้ เพียงแต่การวิเคราะห์จะเป็นการวิเคราะห์สินทรัพย์อ้างอิงของสัญญาประเภทนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น สัญญา SET 50 index futures ซึ่งมีสินค้าอ้างอิงของสัญญาคือดัชนี SET 50 ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เราก็จำเป็นต้องทำการวิเคราะห์ภาพรวมของดัชนี SET 50 ว่าจะมีปัจจัยต่างๆมากระทบตลาดหรือไม่ ถ้ามากระทบจะส่งผลต่อดัชนีว่าจะเดินไปยังทิศทางใด เพื่อกำหนดกรอบกลยุทธ์ในการซื้อขายสัญญาประเภทนี้นั่นเอง
3.การวิเคราะห์จิตวิทยาตลาด(Market analysis)
ส่วนใหญ่เราจะมุ่งเน้นถึงการวิเคราะห์จิตวิทยามวลชน(Mass Psychology) ทีเข้าซื้อ-ขายสัญญาฟิวเจอร์ในตลาดอนุพันธ์เป็นหลักว่านักลงทุนส่วนใหญ่คิดเห็นอย่างไรกับสภาวะตลาดในปัจจุบัน และมีความต้องการ Take action อย่างไรในอนาคต ซึ่งการวิเคราะห์แนวลักษณะนี้ เราอาจจะใช้ตัวเลขสัญญาคงค้าง (Open interest) หรือปริมาณสัญญาที่เปิดทั้งทางด้าน Long และ Short ใน Series ต่างๆเข้าประกอบการตัดสินใจในการวิเคราะห์ ซึ่งเรื่องของความกลัว และความกล้า รวมถึงความโลภจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์แบบนี้อย่างเห็นได้ชัด ถ้าเราสามารถคัดแยกได้ว่านักลงทุนในตลาดซึ่งปัจจุบันหลักๆประกอบด้วย 4 กลุ่มหลักคือ รายย่อย ฝรั่ง สถาบัน และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ รู้สึกอย่างไร และน่าจะมีแนวโน้มการ action ออกมาในฝั่งขา Long position หรือฝั่ง Short position มากกว่ากัน หรือแม้กระทั่งการอยู่ในสถานะนิ่งเฉยเพื่อรอดูทิศทางตลาดให้แน่ชัดเสียก่อน
4.การวิเคราะห์จิตวิทยาส่วนตัวของผู้ลงทุนเอง(Mental analysis)
คืออะไรเหรอ พออ่านหัวข้อแล้วดูงงๆว่า Mental คืออะไร …..มันแปลว่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาวะจิตใจซึ่งมองดูแล้วไม่น่าจะมีอะไรมากมาย แต่ความจริงแล้วในชีวิตการลงทุน หรือแม้กระทั่งการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้นล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับสภาพวะทางจิตใจทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่องการตัดสินใจในสภาวะขับขัน หรือสภาวะที่มีปัจจัยต่างๆเข้ามากดดัน เฉกเช่นในการเทรดตราสารอนุพันธ์ประเภทฟิวเจอร์ซึ่งมีการแกว่งตัวของราคาในแต่ละวันค่อนข้างมาก ถ้าเปรียบเทียบกับหุ้นอาจพูดได้ว่าราคาฟิวเจอร์นี่คือมีความผันผวนมากกว่าราคาของหุ้นปั่นเสียด้วยซ้ำไปซึ่งแน่นอนด้วยปัจจัยทางด้านความผันผวนของราคา ส่งผลทำให้ความเสี่ยงจากการขาดทุนนั้นยิ่งเพิ่มสูงขึ้นมากเป็นทวีคูณ การมีจิตใจที่เข้มแข็งพร้อมที่จะเผชิญกับราคาที่มีการแกว่งตัวหรือแม้กระทั่งการยอมรับการขาดทุนจากราคาดัชนีที่ลดลงหรือแม้กระทั่งการบริหารหลักประกันของพอร์ตอนุพันธ์ นักลงทุนล้วนแล้วแต่ต้องมีจิตที่เข้มแข็งทั้งสิ้นครับ
ผู้เขียน: อาจารย์ ธัญญพัฒน์ ธัญญศิริ
Facebook Fan page: @AjBraveTanjasiri