ในปัจจุบันคนพิการถือเป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคมเนื่องจากมีสภาพร่างกายที่ไม่พร้อมเหมือนกับคนปกติทั่วไป ทำให้บางคนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมีคนคอยดูแล บางคนก็สามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้างหรือบางคนก็สามารถช่วยเหลือตัวเองได้แทบจะเหมือนกับคนปกติ คนพิการส่วนหนึ่งแม้จะมีความพิการทางร่างกาย แต่ก็ยังต้องการที่จะใช้ชีวิตและทำงานได้เหมือนเช่นคนปกติทั่วไป เมื่อทำงานมีรายได้ก็จะรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่าก็จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
รัฐบาลเองก็เห็นความสำคัญในเรื่องของคนพิการและต้องการให้ความช่วยเหลือ จึงได้จัดให้มีสวัสดิการต่าง ๆ สำหรับคนพิการขึ้น รวมถึงกรณีที่คนพิการที่ต้องการเข้าทำงานในสถานประกอบการก็สามารถแจ้งความจำนงไว้ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นรัฐบาลยังให้สิทธิพิเศษกับสถานประกอบที่จ้างคนพิการเข้าทำงาน โดยให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอย่างมากมาย จนแทบจะเรียกได้ว่าหากบางสถานประกอบการจ้างผู้พิการที่มากพอ กำไรที่สามารถทำได้จากกิจการก็แทบจะไม่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐเลยก็ว่าได้ ถือว่ารัฐสนับสนุนธุรกิจที่ช่วยจ้างคนพิการเข้าทำงานนั่นเอง
นอกจากนั้นที่รัฐบาลมีกำหนดเพิ่มเติมเข้ามา ก็คือ ในเรื่องของการกำหนดให้สถานประกอบการจะต้องจ้างคนพิการ 1 คนต่อพนักงาน 100 คน หากไม่ได้จ้างคนพิการตามสัดส่วนนี้ เช่น บางสถานประกอบการมีตำแหน่งงานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานของคนพิการ ก็จะต้องจ่ายเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนคนพิการ เพื่อนำเงินไปใช้เป็นสวัสดิการในด้านต่าง ๆ ให้กับคนพิการต่อไป
รายละเอียดในเรื่องของสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่ผู้ประกอบการจ้างคนพิการเข้าทำงานก็จะมีดังนี้
- ค่าจ้างคนพิการ เงินค่าจ้างที่สถานประกอบการจ้างคนพิการเข้าทำงาน โดยปกติแต่เดิมที่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้ตามที่จ่ายจริง เพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องจ่ายให้แก่รัฐบาล ส่วนพิเศษที่รัฐเพิ่มเติมให้อีก ก็คือ ในยกเว้นภาษีเงินได้เท่ากับเงินค่าจ้างคนพิการทำงานได้อีกร้อยละหนึ่งร้อย หมายความว่า หากมีค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าจ้างคนพิการทั้งปีอยู่ที่ 120,000 บาท เดิมจะหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อคำนวณภาษีอยู่แล้ว 120,000 x 30% = 36,000 บาท รัฐเพิ่มให้โดยสามารถนำมาหักได้อีกเท่าหนึ่ง คือ 120,000 x 30% = 36,000 บาท หากมองก็เท่ากับรัฐช่วยออกค่าจ้างคนพิการให้ 36,000 บาท นั่นเอง สถานประกอบการก็เหมือนกับจ่ายค่าจ้างคนพิการแค่ 64,000 บาทเท่านั้น
- ค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ที่เป็นการอำนวยความสะดวก ให้บริการกับคนพิการ เช่นเดียวกับค่าจ้างคนพิการ โดยปกติค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สถานประกอบการสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เต็มตามจำนวนที่จ่ายจริงอยู่แล้ว แต่รัฐยังเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ด้วยการให้นำเงินในยอดเดียวกันสามารถนำมายกเว้นภาษีเงินได้ได้อีกต่อหนึ่งในอัตราร้อยละหนึ่งร้อย หากมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการในการทำงานทั้งปีที่ 100,000 บาท เสียภาษีอยู่ที่ 30% ก็จะได้รับยกเว้นภาษี 100,000 x 30% = 30,000 บาท เท่ากับรัฐบาลช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ในรูปแบบของภาษี 30,000 บาท ผู้ประกอบการออกเอง 70,000 บาท
- การจ้างคนพิการที่เกินกว่าร้อยละ 60 ของลูกจ้างทั้งหมดและระยะเวลาการจ้างเกินกว่า 180 วัน หากเป็นสถานประกอบการที่จ้างคนพิการเป็นจำนวนมากถึงร้อยละ 60 ของลูกจ้างทั้งหมด และระยะเวลาการจ้างเกิน 180 วัน สามารถนำค่าจ้างคนพิการมายกเว้นภาษีได้อีกร้อยละหนึ่งร้อยต่างหากจากข้อ 1 ซึ่งก็หมายความว่า สถานประกอบการนั้นสามารถนำเงินค่าจ้างคนพิการมาเป็นหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ถึง 3 เท่าด้วยกัน ยกตัวอย่าง หากมีการจ้างคนพิการเป็นเงิน 100,000 บาทต่อคน ก็นำเงินมาหักค่าใช้จ่ายได้ถึง 300,000 บาทต่อคน มีกี่คนก็คูณจำนวนคนพิการเข้าไป มีโอกาสสูงมากที่สถานประกอบการอาจไม่ต้องจ่ายเงินภาษีให้กับรัฐบาลเลยก็เป็นได้
ในส่วนของสถานประกอบการที่จ้างคนพิการเข้าทำงาน นอกจากจะได้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่รัฐบาลช่วยเหลือแล้ว ยังถือว่าได้ใช้ความรู้ความสามารถของคนพิการเข้ามาทดแทนกับแรงงานที่ขาดแคลนอยู่ในปัจจุบันได้ด้วย และถือว่าได้ช่วยเหลือผู้พิการที่เป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข
ทีนี้มาถึงกฎกระทรวงที่มีการกำหนดให้สถานประกอบการของเอกชนและหน่วยงานของรัฐต้องรับคนพิการเข้าทำงาน
ก็มีอยู่ว่า สำหรับการว่าจ้างลูกจ้างทุก ๆ 100 คน จะต้องมีการจ้างคนพิการด้วยอย่างน้อย 1 คน เศษของหนึ่งร้อยหากเกิน 50 คน ให้จ้างคนพิการเพิ่มอีก 1 คน การนับจำนวนลูกจ้างเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดนี้ให้ทำทุกวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี สำหรับสถานประกอบการที่ไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงานตามที่กำหนดจะต้องส่งเงินสมทบกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการเป็นรายปี โดยเงินสมทบนี้ให้คำนวณจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่สุดรายวันตามที่กฎหมายกำหนด คูณด้วย 365 คูณด้วยจำนวนคนพิการที่ไม่ได้รับเข้าทำงาน
ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทมีลูกจ้าง 1,000 คน ตามกฎจะต้องจ้างคนพิการ 10 คน หากไม่ได้จ้างเลยสักคนก็จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนคนพิการ สมมติว่าอัตราที่ต่ำที่สุดของค่าแรงขั้นต่ำรายวันของประเทศ อยู่ที่วันละ 159 บาท ก็คำนวณโดย 159 x 365 x 10 = 580,350 บาท เป็นยอดเงินที่ต้องสมทบให้กับกองทุน ดังนั้น หากพิจารณาในเรื่องของสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินสมทบที่ต้องจ่ายหากไม่จ้างคนพิการ การจ้างคนพิการก็จะให้ประโยชน์กับสถานประกอบมากกว่ามากทีเดียว
สำหรับสถานประกอบการที่ไม่ได้จ้างคนพิการแต่ก็ไม่อยากจ่ายเงินสมทบ ก็ยังมีวิธีในการช่วยเหลือผู้พิการทางอื่นได้ ก็คือต้องช่วยสร้างงานให้กับคนพิการในวิธีอื่น ๆ เช่น การให้ใช้สถานที่บริเวณโรงงานเพื่อให้คนพิการได้จำหน่ายสินค้า จ้างเหมาช่วงให้ทำงานให้ หรือจัดอบรมฝึกงานให้กับผู้พิการ ฯลฯ