เป็นข่าวพาดหัวในมติชนออนไลน์ ช่วงเย็นของวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมาว่า 30 นักลงทุนแจ้งจับ เพจตุ๋นหลอกว่าเป็นกองทุนเงิน forex ทำให้นักลงทุนสูญเสียเงินลงทุนรวมกว่าพันล้านบาท นักลงทุนวิ่งโร่แจ้งความเพราะเพจอ้างปิดปรับปรุง แต่สุดท้ายหายจ้อยไม่เปิดอีกเลย
สำหรับรายละเอียดของข่าวได้เผยว่านักลงทุนที่เป็นผู้เสียหายทั้งสิ้นกว่า 30 คน ได้เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือ บก.ปอท. เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 เวลาประมาณ 14.00 น. นำโดย น.ส. ทัศน์ศรันย์ สเลลานนท์ อายุ 41 ปี ได้แจ้งความดำเนินคดีกับนายเดชาวัต, นางจินตนา และน.ส.ปภัชญา ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยได้แจ้งความว่าโดนหลอกลวงให้ลงทุนในตลาดเงินออนไลน์เป็นกองทุน forex พร้อมนำเอกสารการโอนเงิน หน้าเพจเฟซบุ้คที่เป็นปัญหา รวมถึงการสนทนาโต้ตอบกันทางไลน์ยื่นเป็นหลักฐานให้กับทางตำรวจด้วย
สำหรับเพจเฟซบุ้คดังกล่าวมีชื่อว่า wealthy-plus ได้มีการโฆษณาผ่านเฟซบุ้คให้นักลงทุนเข้าใจว่าเป็นกองทุนที่ลงทุนในอัตราแลกเปลี่ยนหรือ forex เป็นระบบเทรดแบบมีกำไร แพ็กเกจการลงทุนก็มีให้เลือกตั้งแต่ 1,000-7,000 บาท จะซื้อกี่แพ็กเกจก็ได้ไม่มีการจำกัดจำนวน ในส่วนของผลกำไรจะได้ 10% ของยอดเงินที่ลงทุนไปทุกวันมีเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ หากหาสมาชิกมาเพิ่มและซื้อแพ็กเกจสูง ๆ ผู้ที่หาสมาชิกมาได้ก็จะได้รับเงินปันผลเพิ่มขึ้นด้วย ผู้เสียหายได้บอกว่าตอนแรกก็ได้กำไรทุกวัน 10% อย่างที่บอกตามปกติ ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นในวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อเพจได้แจ้งว่าจะขอปิดปรับปรุงระบบชั่วคราว และจะเปิดเพจอีกครั้งในวันที่ 25 กรกฎาคม แต่พอถึงวันที่ 25 ก็ไม่มีการเปิดเพจแต่อย่างใด เมื่อผู้เสียหายโทรไปที่เบอร์โทรศัพท์ที่ให้ไว้ที่หน้าเพจ กลับมีการอ้างว่าไม่ได้เป็นคนดูแลระบบ
เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้เสียหายจึงทราบแล้วว่าถูกหลอกอย่างแน่นอนและได้มีการติดต่อกับผู้เสียหายที่เป็นสมาชิกคนอื่น ๆ ของเพจก็พบว่ามีผู้ที่เสียหายทั้งหมดรวมกว่า 10,000 คน เงินลงทุนที่สูญไปก็เป็นเงินรวมกว่าพันล้านบาท เมื่อช่วยกันตรวจสอบต่อไปก็พบว่าเพจดังกล่าวได้มีการเปิดเพจหลอกลวงแบบเดียวกันในประเทศเพื่อนบ้านด้วย ตั้งแต่ที่มีข่าวความเสียหายเกิดขึ้นในหน้าเพจก็ได้มีการบอกกล่าวถึงเรื่องการปิดเพจหนี รวมถึงการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นและได้ให้ผู้เสียหายสามารถร่วมลงชื่อได้
สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวสารมาโดยตลอดจะเห็นว่านี่ไม่ใช่กรณีที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อย่างเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 ก็เคยมีกรณีคล้ายกันเกิดขึ้นมาแล้ว โดยธุรกิจต้มตุ๋นเงินจากนักลงทุนในตอนนั้นมีลักษณะเป็นแบบกองทุนรวม ทำลักษณะให้มีความน่าเชื่อถือมาก มีลิงค์ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการเงินการลงทุน ไม่เว้นแม้แต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย ธุรกิจต้มตุ๋นเงินเหล่านี้มักจะกล่าวอ้างว่าเป็นการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กองทุนรวมหรือกองทุน forex และสามารถทำกำไรให้กับลูกค้าได้
ที่จริงแล้วธุรกิจต้มตุ๋นนักลงทุนนี้ก็แปลงโฉมมาจากแชร์ลูกโซ่ในอดีตที่เป็นแชร์ลอตเตอรี่ แชร์น้ำหอม เรื่องค้าเงิน ค้าทองคำ ค้าน้ำมันต่าง ๆ มากมาย พอถูกจับได้ปิดตัวไปก็เปิดตัวมาในรูปแบบใหม่ที่สามารถหากินกับลูกค้าคนใหม่ ๆ ไปได้เรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ธุรกิจพวกนี้รู้ดีถึงนิสัยของคนที่ต้องการได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่มากพูดง่าย ๆ ก็คือ หากินบนความโลภของผู้คนนั่นเอง
คนส่วนใหญ่ที่ไม่รู้หรือมีประสบการณ์น้อย เมื่อเห็นว่ามีผลกำไรมาก ได้กันแบบง่าย ๆ ใครจะไม่ชอบ ยิ่งเห็นกำไรทุกวันก็ตาโต หลงเชื่อคิดว่าเป็นของจริง กำไรรายวันที่เราได้มานั้นบางทีเทียบไม่ได้เลยกับเงินก้อนใหญ่ที่เราลงทุนไปตั้งแต่ครั้งแรก ก่อนอื่นนักลงทุนต้องเข้าใจในเรื่องการลงทุนก่อนเลยว่าไม่มีการลงทุนในโลกแบบไหนที่จะได้ผลตอบแทนมาแบบง่าย ๆ หากง่ายก็ต้องมีความเสี่ยงแต่เสี่ยงอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะได้ผลตอบแทนเท่ากับที่แต่ละเพจบอกไว้แน่นอน กำไร 100% หรือ 300% นี่ไม่ใช่ทำกันได้ง่าย ๆ ขนาดผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์ในการเทรดหุ้นหรือ forex มาทั้งชีวิตยังทำไม่ได้เลยแล้วใครที่ไหนจะทำได้ หากทำได้จริงเขาคงไม่มาชวนเราลงทุนด้วยหรอก เขาลงทุนของเขาเองกำไรเองไม่ดีกว่าหรือ
การที่เราจะลงทุนในสินทรัพย์อะไรสักอย่าง เป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่รู้อะไรเลยแล้วจะสามารถทำกำไรได้เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ ขนาดคนที่มีอาชีพเป็นนักลงทุนเต็มเวลา เขายังต้องศึกษาเรียนรู้ หาข้อมูลตั้งมากมาย ลงทุนไปก็ไม่มีทางได้ผลตอบแทนขนาดนั้น ธุรกิจต้มตุ๋นที่อ้างว่าลงทุนในกองทุนหรือ forex ที่จริงก็เป็นแชร์ลูกโซ่ดี ๆ นี่เองมีวิธีสังเกตอยู่เหมือนกันเพื่อไม่ให้โดนหลอก ก็คือ เรื่องของการต้องหาสมาชิกเพิ่ม หาเครือข่าย หาเงินลงทุนมาเพิ่ม อะไรทำนองนี้ กองทุนปกติเขาไม่มีกันเรื่องการต้องหาสมาชิก อีกอย่างก็เป็นเรื่องของผลตอบแทนหรือเงินปันผล หากมากจนเกินไปเราก็ควรต้องหยุดคิดก่อนว่ามันเป็นไปได้หรือเปล่า อย่าไปโลภกับเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ธุรกิจพวกนี้หลอกให้เราตายใจในช่วงแรก ๆ แต่เงินลงทุนที่เราโอนไปให้ตั้งแต่แรกก้อนใหญ่นั้น มันคือความเสี่ยงที่ไม่รู้ว่าจะได้คืนหรือไม่ เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่ต้องลงทุนหรือติดต่อกันผ่านหน้าเพจหรือทางไลน์ ธุรกิจไม่ได้มีสถานที่ทำงานหรือที่อยู่เป็นหลักแหล่งที่เราสามารถตรวจสอบได้ เราก็ไม่ควรคิดจะไปลงทุนหรือโอนเงินอะไรให้กับธุรกิจแบบนี้ เพราะมันก็คือความเสี่ยงเช่นเดียวกันไม่ใช่ความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุน แต่เป็นความเสี่ยงที่จะโดนหลอกมากกว่า