การวางแผนการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรต้องทำและควรต้องทำตั้งแต่เริ่มต้นทำงานมีรายได้ตั้งแต่เดือนแรก ๆ เลย เพราะใครที่วางแผนการเงินไว้และทำได้ก่อนตั้งแต่อายุยังน้อย มักจะประสบผลสำเร็จมากกว่าคนที่เพิ่งคิดมาวางแผนการเงินเอาเมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนานแล้ว หากคิดได้ช้าการวางแผนการเงินของเราก็จะเป็นแผนที่ทำได้ยากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เพราะเวลาที่อยู่ในวัยทำงานที่สามารถหารายได้ของเรานั้นน้อยลง ไม่เพียงแต่เรื่องของระยะเวลาที่หารายได้จะน้อยกว่าเท่านั้น แต่เงินที่เราเก็บออมไว้ได้ตามที่เราวางแผนเมื่อนำไปลงทุน หากเริ่มลงทุนก่อนใช้เวลาในการลงทุนนานกว่า ผลตอบแทนที่จะได้รับก็จะได้มากกว่าเพราะผลจากการทบต้นของดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนนั่นเอง
รายละเอียดในการวางแผนการเงินอาจแตกต่างกันไปตามลักษณะของการทำงาน อาชีพ วัยหรือปัจจัยอื่น ๆ ของแต่ละบุคคล วันนี้เราจะมาดูกันว่าคนที่ทำงานมีอาชีพเป็นพนักงานบริษัทเอกชนนั้น ควรมีการวางแผนการเงินอย่างไรถึงจะเหมาะสม ไม่ว่าจะทำงานในอาชีพใดก็ตาม รวมถึงการเป็นพนักงานบริษัทเอกชนด้วย การวางแผนการเงินนั้นควรต้องทำตั้งแต่เริ่มทำงานใหม่ ๆ ไม่ควรคิดว่าไม่จำเป็นหรือรอไว้ก่อน สมัยนี้มีกรณีศึกษาให้เราเห็นได้อยู่บ่อย ๆ ว่าค่าครองชีพหรือค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคนเรานั้นสูงขึ้นเพียงใด ไหนจะเรื่องของเงินเฟ้ออีก มีหลายสำนักที่ให้ข้อมูลในเรื่องของการเกษียณว่าเดี๋ยวนี้คนเรามีเงินเก็บไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตในบั้นปลายเมื่อเกษียณได้อย่างสุขสบาย ทั้งเรื่องของดอกเบี้ยเงินฝากที่ปัจจุบันก็ต่ำเตี้ยเสียจนไม่อยากจะดูผลตอบแทน หากเรามัวปล่อยเวลาให้ผ่านไปเนิ่นนาน ไม่ได้สนใจเรื่องการวางแผนการเงินกว่าจะคิดได้ตอนอายุ 30, 40 หรือ 50 ถึงตอนนั้นก็อาจจะสายไปเสียแล้วก็ได้
อ่านเพิ่มเติม : จุดเด่น – จุดด้อย ทำงานบริษัทเอกชน VS รับราชการ
ลองมาดูกัน ว่าพนักงานบริษัทเอกชนมีเรื่องที่จะต้องวางแผนการเงินในเรื่องอะไรกันบ้าง
วางแผนภาษี
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่พนักงานบริษัทเอกชนต้องจ่ายให้กับรัฐบาลนั้น ยอดเงินรายปีที่ต้องจ่ายถือว่าไม่น้อยเลย ยิ่งหากทำงานไปนานมีเงินเดือนสูงขึ้น ยอดภาษีที่ต้องจ่ายก็จะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากระบบภาษีเงินได้ในประเทศไทยเป็นแบบอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได ผู้มีรายได้มากต้องเสียมากนั่นเอง แต่เรื่องภาษีเงินได้นี้เราสามารถวางแผนเพื่อให้ประหยัดภาษีที่ต้องจ่ายได้เหมือนกัน ก็ในส่วนของค่าลดหย่อนต่าง ๆ ที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้ผู้มีเงินได้สามารถยื่นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้ได้มากขึ้น ค่าลดหย่อนที่จะนำมาใช้ประหยัดภาษีได้ บางอย่างก็ถือเป็นการออมหรือการลงทุนไปด้วย เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุน LTF, กองทุน RMF และประกันชีวิตถ้าจะให้ดีให้เรานำเงินที่ประหยัดภาษีที่จะต้องจ่ายจากค่าลดหย่อนที่เพิ่มขึ้นนี้ นำไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เพิ่มมากขึ้นไปอีกได้ ก็จะยิ่งดี
ประกันสุขภาพ
พนักงานบริษัทเอกชนจะมีชื่อเป็นผู้ประกันตนอยู่ในระบบประกันสังคมซึ่งให้สิทธิ์ในเรื่องของการรักษาพยาบาลอยู่แล้วจะเลือกใช้ประกันสังคมในการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยนี้ก็ได้เช่นกัน เพราะถือว่าเราได้ส่งเงินสมทบไปทุกเดือน บริษัทเอกชนบางแห่งอาจมีการทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมจากประกันสังคมให้กับพนักงานด้วย ซึ่งถ้าเรามีโอกาสได้ทำงานในบริษัทนี้ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่หากเราทำงานในบริษัทที่ไม่มีสวัสดิการในเรื่องของการประกันสุขภาพ การวางแผนการเงินส่วนหนึ่งเราอาจต้องเผื่อไว้สำหรับการทำประกันสุขภาพของตัวเราเองไว้ด้วย เพราะเมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมาประกันสุขภาพก็จะให้ความคุ้มครอง ทำให้เราไม่ต้องจ่ายเงินแบบที่เราไม่ได้วางแผน เพราะการทำประกันสุขภาพไว้ทำให้เราวางแผนการเงินได้ง่ายกว่า
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
หากบริษัทที่เราทำงานอยู่ด้วยมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ให้เราเลือกหักเงินออมเก็บไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ให้มากที่สุดเท่าที่เราคิดว่าจะทำได้ เพราะนอกจากจะถือเป็นการลงทุนแล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังนำเงินของสมาชิกไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนคืนกลับมาด้วย และที่สำคัญเงินที่ให้หักลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นช่องทางที่บังคับให้เราออมเงินได้แบบอัตโนมัติทุกเดือนได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
หักเงินออมเก็บลงทุน
การทำงานบริษัทเอกชนเราคงไม่สามารถทำไปได้จนแก่เฒ่าให้อยู่ได้นานที่สุดก็คงได้แค่ถึงเกษียณอายุสัก 60 หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 65 ปี เท่านั้น แล้วหลังจากนั้นที่เราไม่ได้ทำงานไม่มีรายได้แล้ว เราจะเอาเงินจากที่ไหนใช้ ก็ต้องมาจากเงินที่เก็บลงทุนมาในช่วงที่เราทำงานอยู่ เราจะหวังเงินบำนาญจากประกันสังคมน่าจะไม่พอ เริ่มออมและเก็บเงินตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อให้เงินลงทุนนั้นพอกพูน เมื่อมีผลตอบแทนจากเงินลงทุนก็ไม่ควรนำออกมาใช้ ควรนำไปลงทุนต่อเพื่อให้เงินต่อเงิน กลายเป็นผลตอบแทนทบต้น เงินลงทุนก็จะโตทันใช้ เมื่อเก็บเงินได้เราก็ควรเลือกนำเงินไปลงทุนตามความเสี่ยงที่หลากหลายเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดี เช่น กองทุน หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ ที่ดิน ฯลฯ
การเป็นพนักงานบริษัทเอกชนนั้นเมื่อถึงเวลาที่เราลาออกหรือเกษียณ ทุกอย่างก็จบไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนหรือสวัสดิการต่าง ๆ ไม่เหมือนกับทำงานราชการที่มีสวัสดิการในเรื่องของการรักษาพยาบาลและมีบำเหน็จบำนาญให้เมื่อเกษียณด้วย ดังนั้น การวางแผนการเงินของพนักงานบริษัทเอกชนต้องมองให้ไกล ต้องวางแผนเผื่อไปถึงอนาคตในระยะยาวด้วย ไม่ใช่มองแต่เพียงแค่ระยะสั้น ๆ เท่านั้น แม้เราอยากผ่อนบ้าน อยากผ่อนรถในตอนนี้ก็สามารถทำได้ แต่ต้องอย่าลืมกันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินออมและลงทุนในระยะยาวด้วย การวางแผนทางการเงินในเรื่องของภาษีเงินได้ เลือกทำประกันสุขภาพ ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงการเลือกลงทุนในทรัพย์สินต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เหมาะสม ประกอบกับการมีชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียงพอประมาณก็จะทำให้ชีวิตมนุษย์เงินเดือนบริษัทเอกชนของเรานั้นไม่ลำบากอย่างแน่นอน