โรคภัยไข้เจ็บและความเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่หากเป็นไปได้ก็คงไม่มีใครอยากประสบพบเจอ แม้กับตัวเองหรือคนในครอบครัว เพราะนอกจากความเจ็บป่วยจะทำให้เกิดความไม่สบายแก่ร่างกายแล้ว ยังต้องเสียเงินเสียทองไปกับค่ารักษาพยาบาลเพื่อให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงเป็นปกติเหมือนเดิมด้วย ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงที่เจ็บป่วยไม่สบายอยู่นั้น หากไม่ได้ไปทำงานก็ทำให้ขาดเงินรายได้ไปอีก เรียกได้ว่าหากใครในครอบครัวเจ็บป่วยขึ้นมาสักคนก็จะส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันและเงินทองของครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่โรคภัยไข้เจ็บก็เป็นสิ่งที่เราคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไหร่ เพราะปัจจุบันเชื้อโรคมีหลากหลายสายพันธุ์มากขึ้นและมีความรุนแรงของอาการมากขึ้นด้วย เมื่อเป็นโรคบางอย่างก็ยากที่จะหาสาเหตุได้เฉพาะเจาะจงว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุใดกันแน่ หรือแม้หลายคนจะดูแลสุขภาพตนเองอย่างดีที่สุดแล้วก็ตามแต่ก็ยังมีโอกาสเป็นโรคหรือเจ็บป่วยขึ้นมาได้ เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมาแน่นอนว่าต้องรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล ต้องไปพบแพทย์เพื่อให้วินิจฉัยอาการและรับยามาทานเพื่อให้หายเป็นปกติ หากเรามีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของรัฐบาลหรือเลือกทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิตไว้ เงินชดเชยที่ได้ก็จะพอช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาลไปได้เช่นกัน
ปัจจุบันนี้ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนถือว่าแพงมาก บางครั้งไม่สบายแค่เพียงเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด ไปพบแพทย์รับยาต้องค่าใช้จ่ายเป็นพันบาทก็มี หากเป็นการเจ็บป่วยที่ต้องแอดมิด ผ่าตัด หรือต้องนอนพักในโรงพยาบาลนี่ก็ไม่ต้องพูดถึง โรงพยาบาลเอกชนใหญ่ ๆ บางแห่งมีค่าใช้จ่ายถึงกว่าคืนละเป็นหมื่นเลยก็มี ส่วนโรงพยาบาลของรัฐบาลนั้น ค่ารักษาพยาบาลก็ยังถือว่าย่อมเยากว่ามาก แต่ผู้ป่วยที่ไปรับบริการก็จะเยอะทำให้ต้องรอคิวนาน เมื่อต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาลของรัฐส่วนมากจะต้องใช้เวลาเป็นวัน ๆ เลยทีเดียว
อ่านเพิ่มเติม : จุดเด่น – จุดด้อย ทำงานบริษัทเอกชน VS รับราชการ
วันนี้เราจะมาดูกันค่ะว่าระหว่างสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐ อย่างเช่น ประกันสังคม ประกันสุขภาพถ้วนหน้า และประกันสุขภาพของข้าราชการ กับการประกันสุขภาพของบริษัทประกันภัยที่เป็นเอกชนกันค่ะ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้างค่ะ
โรงพยาบาลรัฐ VS โรงพยาบาลเอกชน
ข้อแตกต่างอย่างแรกเลยคือสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐนั้นมักจะต้องเลือกโรงพยาบาลตั้งแต่แรก มักจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐหรืออาจมีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งที่เข้าร่วมด้วย กรณีเจ็บป่วยหรือไม่สบายก็จะต้องไปพบแพทย์รับบริการที่โรงพยาบาลที่เราเลือกไว้แล้วเท่านั้น ยกเว้นกรณีฉุกเฉินเท่านั้นจึงจะรับบริการที่โรงพยาบาลอื่นได้ หรือกรณีที่โรงพยาบาลที่เราเลือกไว้ไม่สามารถรักษาโรคที่เราเป็นอยู่ ไม่มีบุคคลากรหรืออุปกรณ์ที่เหมาะสม ต้องทำเรื่องส่งตัวไปยังโรงพยาบาลอื่น ในขณะที่หากเป็นการทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกัน ผู้เอาประกันสามารถเลือกเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชน และจะเป็นที่ไหนก็ได้ ไม่ได้มีการระบุไว้
บังคับ VS สมัครใจ
หากทำงานกับบริษัทเอกชนการทำประกันสังคมจะเป็นแบบบังคับ คือจำเป็นต้องถูกหักเงินจากรายได้ทุกเดือนเพื่อนำส่งเป็นเงินสมทบ ยกเว้นกรณีที่ประกันตนเองตามมาตรา 39 หรือ 40 เท่านั้นที่จะเป็นแบบสมัครใจ สวัสดิการของข้าราชการก็เช่นเดียวกันเมื่อมีอาชีพเป็นข้าราชการก็จะได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการแบบอัตโนมัติทันที เมื่อลาออกหรือเสียชีวิตสวัสดิการตรงนี้ก็จะสิ้นสุดลง สำหรับประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นไม่ได้บังคับหรือสมัครใจ แต่เป็นสวัสดิการที่รัฐจัดให้กับประชาชนทุกคน เพียงไปลงทะเบียนก็จะมีสิทธิในประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ทันที
ส่วนการทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิตนั้นเป็นการเลือกซื้อประกันเพิ่มแบบสมัครใจทำเอง ไม่มีการบังคับ ผู้ที่ไม่ได้สวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐบาลก็อาจเลือกทำประกันสุขภาพไว้ หรือแม้แต่ผู้ที่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐบาลอยู่แล้ว ก็สามารถซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันเพิ่มได้เช่นกัน เพื่อให้มีวงเงินคุ้มครองที่มากขึ้นและครอบคลุมกว่า รวมถึงมีโอกาสเลือกรับบริการจากโรงพยาบาลเอกชนหรือโรงพยาบาลรัฐบาลได้ทุกแห่งอีกด้วย
รักษาฟรี VS ค่าเบี้ยถูกแพง
สวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐอย่างเช่นประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น จะเป็นสวัสดิการที่รัฐบาลจัดให้กับประชาชนฟรีโดยที่ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพียงแต่ผู้ที่จะมีสิทธิได้รับสวัสดิการนี้จะต้องไม่เป็นผู้ที่มีสิทธิในสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐบาลอย่างอื่น เช่น ประกันสังคมหรือประกันสุขภาพของข้าราชการ ประกันสุขภาพของข้าราชการก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นสวัสดิการที่รัฐบาลจัดขึ้นมาเพื่อดูแลผู้ที่มีอาชีพเป็นข้าราชการประจำตลอดช่วงอายุที่รับราชการอยู่ รวมถึงครอบครัวด้วย ซึ่งหากข้าราชการเกษียณเลือกรับบำนาญก็จะยังได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนประกันสังคมนั้นเป็นสวัสดิการของรัฐบาลที่แกมบังคับให้บริษัทเอกชนที่มีพนักงานทำงานอยู่นั้นต้องหักเงินสมทบจากลูกจ้างส่วนหนึ่งและบริษัทเองต้องสมทบอีกส่วนหนึ่ง โดยเงินสมทบมีส่วนที่นำมาบริหารเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลภายใต้ระบบประกันสังคมนี้ด้วย
ส่วนการซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิตนั้นมีรูปแบบของการประกันสุขภาพที่มีความคุ้มครองหลากหลายให้ผู้เอาประกันเลือกซื้อได้ตามความพอใจ ค่าเบี้ยประกันก็จะสูงกว่าแบบสวัสดิการของรัฐบาล แต่วงเงินความคุ้มครองและกรณีความเจ็บป่วยที่ให้ความคุ้มครองอาจเลือกได้มากกว่าและเลือกรับบริการกับโรงพยาบาลใดก็ได้โดยสามารถเบิกเคลมได้ตามวงเงินที่คุ้มครอง
กำหนดแผนคุ้มครองเองได้ VS ไม่ได้
การทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันเราจะสามารถเลือกแผนความคุ้มครองเองได้ เช่น หากเป็นผู้ป่วยใน เราต้องการวงเงินสำหรับค่าห้องเท่าไหร่ก็กำหนดได้ ค่าผัดตัด ค่าแพทย์ต่อโรค หรือการพบแพทย์แบบผู้ป่วยนอกจะเลือกวงเงินค่ารักษาพยาบาลต่อครั้งให้ครอบคลุม จะเป็น 1,000 บาท, 2,000 หรือ 3,000 บาทก็ขึ้นอยู่กับเรา ค่าเบี้ยประกันสุขภาพจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับวงเงินคุ้มครองและความคุ้มครองที่หลากหลายและครอบคลุมนี้ด้วย
แต่สวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐบาลเราจะกำหนดแผนคุ้มครองเองไม่ได้ เพราะทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม ประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสวัสดิการของข้าราชการ จะมีแผนและวงเงินกำหนดว่าเราสามารถรับบริการรักษาพยาบาลสำหรับโรคอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายอยู่ในวงเงินเท่าไหร่ เป็นต้น
หากเราเป็นคนหนึ่งที่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐบาลอยู่แล้วก็ถือเป็นเรื่องที่ดีนะคะ เพราะเป็นสวัสดิการที่รัฐจัดให้ประชาชนฟรีหรือให้กับอาชีพข้าราชการเป็นพิเศษ ส่วนประกันสังคมที่แม้ต้องจ่ายเงินสมทบเองแต่เงินนั้นก็ถือว่าไม่ได้มากอะไร เทียบกับการได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมแม้ต้องรอนานหน่อยก็ถือว่าคุ้มค่าสำหรับหลายคนค่ะ