องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ได้ประเมินค่าทางคณิตศาสตร์ประกันภัย พบว่า อีก 38 ปีข้างหน้า เงินในกองทุนชราภาพจะถูกใช้หมดไป หากไม่มีการปรับปรุงระบบกองทุน!
จากการประเมินนี้ นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 59 ว่า ทาง สปส. ได้เตรียมปฏิรูปกองทุนบำนาญชราภาพ เพื่อให้มีเสถียรภาพและความยั่งยืน เนื่องจากปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น และอายุยืนขึ้น ซึ่งจากข้อมูลการจ่ายเงินบำนาญชราภาพที่ผ่านมา พบว่า
-
ตั้งแต่ปี 2557 ที่ สปส. เริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพ ได้มีผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปีตามกำหนด ยื่นขอรับสิทธิ์จำนวน 20,000 ราย ซึ่งรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 370 ล้านบาท
-
ในปี 2559 มีผู้ประกันตนที่มีอายุครบกำหนดเพิ่มเป็น 67,000 ราย รวมเงินที่ต้องจ่ายกว่า 1,450 ล้านบาท
-
ในปี 2560 คาดว่ามีจำนวนผู้ประกันตนที่จะเข้ารับเงินในส่วนนี้เพิ่มเป็น 200,000 ราย
-
และภายในปี 2570 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า น่าจะมีจำนวนผู้ประกันตนที่ครบอายุตามกำหนดเพิ่มเป็น 1 ล้านคน ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้มากถึงกว่า 246,524 ล้านบาท
เท่ากับว่า สปส. ต้องเตรียมเงินสำหรับจ่ายผู้ประกันตนกรณีบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหลังจากปี 59 เป็นต้นไป หาก สปส. ไม่มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงแนวทางการบริหารกองทุนให้มีเสถียรภาพมากขึ้น คาดว่าในอีก 38 ปีข้างหน้า เงินในกองทุนนี้จะต้องหมดลงอย่างแน่นอน
เพื่อให้เกิดความเพียงพอและยั่งยืน ทาง สปส. จึงได้กำหนดแนวทางปฏิรูประบบบำนาญชราภาพไว้ 5 แนวทาง คือ
- ขยายอายุเกษียณจากปัจจุบันที่ 55 ปี เป็น 60 ปี ซึ่งจะเริ่มในปี 2565 ทั้งนี้ เมื่อขยายอายุเกษียณออกไปแล้ว หากผู้ประกันตนคนใดถูกเลิกจ้างหรือลาออกหลัง 55 ปี จะได้รับเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานอีกด้วย
- ปรับฐานเงินเดือนที่ใช้ในการคำนวณเงินชราภาพ จากปัจจุบันที่มีขั้นต่ำที่ 1,650 บาท เป็น 3,600 บาท และสูงสุดที่ 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท
- ปรับสูตรคำนวณการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ ซึ่งเดิมใช้คำนวณจากเงินเดือน 5 ปีสุดท้ายที่จ่ายเงินสมทบ ทำให้ผู้ประกันตนได้เงินบำนาญน้อยไม่เป็นธรรม โดยแนวทางใหม่วางไว้เป็น 2-3 แนว คือ ใช้เงินสมทบทั้งหมดที่ส่งมาเฉลี่ยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์หารด้วยอายุการทำงานทั้งหมด หรือคำนวณจากฐานเงินเดือนที่ส่งในช่วง 15 ปี หรือ 20 ปีแทน
- ปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบที่จัดเก็บเข้าสู่กองทุนชราภาพ จากปัจจุบันที่เก็บร้อยละ 3 ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และนายจ้างสมทบอีกร้อยละ 3 ของเงินเดือน ซึ่งรวมเป็นร้อยละ 6 แต่จะเพิ่มเป็นฝ่ายละไม่เกินร้อยละ 5 เฉพาะในส่วนของเงินบำนาญเท่านั้น เพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตหลังเกษียณ
- เพื่อให้เงินในกองทุนงอกเงย ทาง สปส. จะเร่งพัฒนาการลงทุนให้ได้ผลกำไรมากยิ่งขึ้นด้วย
จากแนวทางการปฏิรูปข้างต้น จะช่วยยืดอายุกองทุนไปได้อีก 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2597 เป็นต้นไป ซึ่ง สปส. กำลังเร่งดำเนินการปรับแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยจะเสนอกระทรวงแรงงานภายในเดือนกันยายนนี้
อ่านเพิ่มเติม : รวบรวมคำถาม-คำตอบ ไขข้อข้องใจประกันสังคม
นอกจากนี้ สปส. จะแก้ไขกฎหมายเรื่องที่มาคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) จากเดิมที่มาจากการเลือกตั้งเป็นการสรรหาแทน เนื่องจากการเลือกตั้งต้องใช้งบประมาณมากถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งไม่รู้ว่าบอร์ดที่ได้นั้น เป็นตัวแทนของผู้ประกันตนอย่างแท้จริงหรือไม่อีก พร้อมประกาศความมั่นใจว่าการใช้วิธีสรรหาจะสามารถดำเนินการอย่างยุติธรรม และทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมอย่างแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นสำคัญด้วย
ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวดี ที่ผู้ประกันตนจะได้ประโยชน์อย่างสูงสุด เพราะในอนาคตคงต้องมีภาระค่าใช้จ่ายจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อถึงเวลานั้นคงช่วยให้ชีวิตหลังเกษียณมีความสุข และยิ้มได้กว้างขึ้นกว่าเดิม …
ที่มา