ทุกคนเมื่อถึงวัยที่ทำงานมีรายได้ต่างก็ต้องการที่จะเก็บออมเงินให้ได้เป็นเงินก้อนใหญ่เพื่อที่จะนำไปใช้ทำอะไรอย่างที่เราต้องการในวันข้างหน้า แต่การที่คนเราจะเก็บเงินได้มากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น จำนวนเงินรายได้ ค่าใช้จ่ายต่อเดือน ไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต การวางแผนการเงิน เป็นต้น
เมื่อพูดถึงเงินรายได้บางคนคิดว่ามีรายได้มากจะทำให้เก็บเงินได้มาก แล้วคนรายได้น้อยอย่างเราล่ะต้องเก็บเท่าไหร่กว่าจะได้เป็นเงินก้อนใหญ่เหมือนกับคนอื่นเขาบ้าง ซึ่งที่จริงแล้วรายได้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเรามีโอกาสที่จะเก็บเงินได้มากหรือน้อยกว่ากัน แต่นอกจากรายได้แล้วก็มีปัจจัยอย่างอื่นด้วย เช่น รายจ่าย หรือการใช้จ่ายของแต่ละคน หากรายได้มากใช้มากก็เหลือเก็บน้อย แต่หากรายได้น้อยเก็บมาก ก็มีโอกาสที่จะเก็บเงินเป็นก้อนได้มากกว่าคนที่มีรายได้มากแต่ใช้มากเสียด้วยซ้ำไป
ดังนั้นคนที่มีรายได้น้อยก็อย่าเพิ่งหมดกำลังใจไป ค่อย ๆ เก็บหอมรอมริบเท่าที่เรามี มีน้อยเก็บน้อย พอมีมากขึ้นเราค่อยเก็บมากขึ้น ค่อย ๆ บ่มเพาะนิสัยใช้จ่ายอย่างพอเพียงและรู้จักอดออมให้เป็นนิสัยที่ติดตัวเราไปเรื่อย ๆ นิสัยแบบนี้แหละที่จะทำให้คนเราไม่มีวันจนและไม่มีหนี้
วันนี้เรามีวิธีเก็บออมเงินสำหรับคนมีรายได้น้อยมาฝากกัน รับรองว่าทำตามนี้แล้วได้ผล สามารถมีเงินเก็บได้เยอะแน่นอนค่ะ
- หักเงินเพื่อออมทันทีเมื่อได้รับเงินเดือน การออมแบบหักเงินออมออกจากเงินเดือนก่อนเพื่อนำเข้าบัญชีธนาคารทุกเดือนเป็นวิธีที่จะทำให้เก็บเงินได้ดีที่สุด โดยให้เราตั้งเป้าหมายว่าเราต้องการออมเดือนละเท่าไหร่ มากน้อยไม่สำคัญขอเพียงให้เราเริ่มต้นออม เลือกเป้าหมายที่เราทำได้ไม่เครียด เงินออมรายเดือนควรอยู่ที่ประมาณอย่างน้อย 10% ของรายได้ เช่น เงินเดือน 10,000 บาท ก็หักไว้ออม 1,000 บาททุกเดือน 1 ปีก็จะมี 12,000 บาท ดีกว่าไม่ออมแน่ ๆ ค่ะ
- เปิดบัญชีเงินฝากประจำ เลือกเปิดบัญชีเงินฝากประจำที่ต้องฝากเงินทุกเดือน เช่น 1,000 บาท ทุกเดือน เป็นเวลา 24 เดือน เงินฝากประเภทนี้นอกจากจะเป็นการบังคับให้เราเก็บเงินทุกเดือนแบบอัตโนมัติแล้ว ยังเป็นเงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากแบบออมทรัพย์และดอกเบี้ยก็ปลอดภาษีด้วย
- หากเงินเหลือให้ออมเพิ่ม แม้ว่าเราจะหักเงินออมไว้แล้ว 10% ของเงินเดือน แต่บางเดือนเราอาจกินใช้น้อยทำให้มีเงินเหลือเพิ่มจากรายได้อีก ก็ให้เรานำเงินนั้นไปเก็บออมเพิ่ม เงินออมของเราก็จะมีมากขึ้น
- ตั้งเป้าหมายการออมเงิน เมื่อเริ่มต้นมีเงินออมแล้วให้เราตั้งเป้าหมายการออมของเราว่าเมื่อครบ 1 ปี หรือ 2 ปี เราอยากออมเงินให้ได้เท่าไหร่ ด้วยวิธีแบบนี้จะทำให้เรามีแรงจูงใจ ยกตัวอย่าง เราอาจตั้งเป้าเล็ก ๆ ก่อนว่าปีแรกของการทำงานเราจะเก็บเงินให้ได้ 20,000 บาทเท่ากับเงินเดือน 2 เดือนเลยนะ หากทำได้รับรองว่าภูมิใจแน่นอนค่ะ และเมื่อทำได้ก็ให้ค่อย ๆ เพิ่มเป้าหมายของเราขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะถึงตอนนั้นรายได้ของเราก็น่าจะเพิ่มขึ้นแล้วเช่นกัน
- ทำงานเพิ่มเพื่อหารายได้เสริม การทำงานประจำมีข้อดีก็คือมีความมั่นคงมีรายได้ที่แน่นอน แต่หากรายได้น้อย เราสามารถใช้เวลาในช่วงที่ว่างจากการทำงานประจำเพื่อมาทำงานเสริมสร้างรายได้เพิ่ม ซึ่งช่องทางในการหาอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้เพิ่มก็ต้องแล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน บางคนชอบขายของก็อาจหาของไปขายตามตลาดนัดเสาร์อาทิตย์ บางคนชอบสอนพิเศษก็รับสอนพิเศษในเรื่องที่เราถนัดหรือมีความรู้ บางคนเก่งเรื่องทำขนมก็สามารถทำขนมเพื่อฝากขายตามร้านเบเกอรี่ใกล้บ้านได้
- มีน้อยใช้น้อย คนที่มีรายได้น้อยก็ย่อมรู้อยู่แล้วว่าตัวเองมีรายได้น้อย หากอยากเก็บเงินให้ได้ก็จะต้องประหยัด คือ ใช้ให้น้อยด้วยแต่ก็ไม่ใช่ให้ถึงกับขาด เรียกว่าใช้อย่างพอเพียงจะดีกว่า ใช้ในสิ่งที่จำเป็น ไม่ฟุ่มเฟือย ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นทิ้งไป ต้องทำแบบนี้เท่านั้นถึงจะมีเงินเก็บได้
- หาช่องทางลงทุน เมื่อเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งแล้วก็ต้องหาช่องทางลงทุนเพื่อให้เงินนั้นงอกเงยเป็นรายได้ให้กับตัวเราได้ โดยการลงทุนก็ต้องมีการกระจายความเสี่ยงเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้ ถือเป็นการใช้เงินให้ทำงาน เป็นการใช้พลังของดอกเบี้ยทบต้นเพื่อชนะเงินเฟ้อให้ได้ การเก็บเงินแต่เพียงอย่างเดียวก็ไม่ดีเพราะเมื่อเวลาผ่านไปค่าของเงินก็จะค่อย ๆ ลดลง จึงควรต้องลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีด้วย
ที่จริงแล้วคนที่มีรายได้มากหรือน้อย วิธีในการเก็บออมเงินก็ไม่ต่างกันมากค่ะ หากอยากทำให้สำเร็จ เพียงแต่คนที่มีรายได้มากหากไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือมีภาระมาก ก็จะมีโอกาสเก็บเงินได้มากและถึงเป้าหมายได้เร็วกว่า ในขณะที่คนที่มีรายได้น้อยอาจต้องใช้ความพยายามที่มากกว่า แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สำเร็จนะ คนที่ร่ำรวยในปัจจุบันก็ตั้งมากมายหลายคนที่เคยมีรายได้น้อยมาก่อน แต่ก็เป็นเพราะประหยัดและรู้จักเก็บหอมรอมริบจึงสามารถร่ำรวยขึ้นมาได้เช่นกัน