สำหรับผู้ที่ต้องการอยากเริ่มวางแผนทางการเงินให้กับตัวเอง หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เราควรควบคุมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนการเงินของเราก็คือค่าใช้จ่ายภายในบ้านนั่นเอง ค่าใช้จ่ายภายในบ้านเป็นค่าใช้จ่ายประเภทหนึ่งที่ถือว่าสำคัญและจำเป็นสำหรับทุกครอบครัว ค่าใช้จ่ายภายในบ้านของแต่ละครอบครัวก็แตกต่างกันออกไป มากบ้างน้อยบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น จำนวนสมาชิกในครอบครัว สไตล์การใช้ชีวิตของแต่ละครอบครัว เป็นต้น
- จำนวนสมาชิกในครอบครัว หากครอบครัวใดมีสมาชิกอยู่รวมกันมาก ค่าใช้จ่ายในบ้านก็จะมากตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่ามีสมาชิกในบ้านที่หารายได้ได้กี่คน หากมีแค่คนเดียวที่ต้องหารายได้เพื่อเลี้ยงดูคนที่เหลือทั้งหมด ค่าใช้จ่ายในบ้านก็จะดูเป็นสัดส่วนที่มากเมื่อเทียบกับรายได้ที่เข้ามา แต่หากมีหลายคนช่วยกันทำงานมีรายได้จากหลายช่องทาง แม้จำนวนสมาชิกในบ้านจะมาก ค่าใช้จ่ายในบ้านก็จะเป็นสัดส่วนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับรายได้ที่มากขึ้นด้วย
- สไตล์การใช้ชีวิตของแต่ละครอบครัว สไตล์ในการใช้ชีวิตภายในบ้านที่แตกต่างกันของแต่ละครอบครัวจะเป็นตัวกำหนดว่าค่าใช้จ่ายของแต่ละบ้านจะมากน้อยกว่ากันด้วย เช่น บางครอบครัวเลือกที่จะช่วยกันซักรีดเสื้อผ้าเองก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าครอบครัวที่เลือกจ้างซัดรีด บางครอบครัวเลือกที่จะช่วยกันทำความสะอาดบ้านกันเองก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าจ้างคนงานไว้ทำความสะอาดบ้าน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละครอบครัวด้วย
แต่ไม่ว่าจำนวนสมาชิกในบ้านจะมากหรือน้อยหรือว่าสไตล์การใช้ชีวิตของแต่ละครอบครัวจะเป็นอย่างไร สิ่งที่สำคัญที่ทุกครอบครัวควรทำร่วมกันก็คือการวางแผนการเงินและการควบคุมค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวของเรา การที่เราจะควบคุมค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ เราก็ต้องรู้ก่อนว่าบ้านเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ต้องนั่งลิสต์ออกมา ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของแต่ละครอบครัวก็จะมี ค่าอาหาร ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าโทรศัพท์ ค่าซักรีด ค่าของใช้จำเป็น เช่น ยาสระผม ยาสีฟัน สบู่ น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ น้ำยาถูพื้น เป็นต้น การจดบันทึกค่าใช้จ่ายออกมาจะทำให้เรารู้ว่าค่าใช้จ่ายใดที่จำเป็นหรือไม่จำเป็น
เมื่อลิสต์รายการค่าใช้จ่ายในบ้านที่ต้องจ่ายในแต่ละวันหรือแต่ละเดือนออกมาเรียบร้อยแล้ว ใน 1-2 เดือนแรกให้เราจดบันทึกค่าใช้จ่ายที่เราจ่ายจริงประจำวันไปก่อน เช่น ทุกครั้งที่ไปตลาดซื้ออาหารสดหรืออาหารแห้งกลับมาก็ให้จดบันทึกไว้ เป็นค่าอาหาร เมื่อไปซื้อของใช้จำเป็นที่ซุปเปอร์มาร์เกตก็ให้จดบันทึกไว้เป็นรายการของใช้ที่จำเป็นในบ้าน เมื่อถึงสิ้นเดือนก็ให้รวมค่าใช้จ่ายที่เป็นหมวดหมู่เดียวกันรวมกันไว้ ทำแบบนี้ไป 1-2 เดือนเราก็จะรู้ว่าค่าใช้จ่ายในบ้านของเรามีอะไรบ้าง และเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่
การวางแผนทางการเงินนั้นก็เพื่อเป้าหมายในการบริหารจัดการเงินรายได้และค่าใช้จ่ายให้มีเงินเหลือเก็บออม สำหรับครอบครัวที่รายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายก็จะมีเหลือเงินเก็บออมได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ส่วนครอบครัวก็รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย เงินออมที่เก็บมาก็จะร่อยหรอลงเพราะไม่มีเงินเก็บเพิ่ม แถมบางครั้งยังอาจต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาใช้จ่ายอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม : 5 เหตุผล ที่ต้องวางแผนการเงินเพื่อทุกคนในครอบครัว
วิธีในการควบคุมค่าใช้จ่ายภายในบ้านเพื่อให้เรามีเงินเหลือเก็บสำหรับครอบครัว มีดังนี้
ตั้งเป้าค่าใช้จ่ายภายในบ้านไว้ล่วงหน้า หากเราไม่ได้ตั้งเป้าค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนไว้ เมื่อถึงเวลาต้องจ่ายอะไรก็หยิบจ่ายออกไปเรื่อย ๆ โอกาสที่เราจะควบคุมค่าใช้จ่ายก็คงจะทำได้ยาก แต่หากเรากำหนดไว้เลยว่าค่าใช้จ่ายในบ้านจะอยู่ที่เดือนละไม่เกินเท่าไหร่ เช่น 10,000 บาท ถึงเวลาเราก็ต้องควบคุมให้ค่าใช้จ่ายรายเดือนไม่เกินไปกว่านั้น ถือเป็นการตั้งเป้าไว้กว้าง ๆ ทำให้เราเหมือนมีกรอบไว้ควบคุมเมื่อเราต้องจ่ายเงินออกไป
ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทิ้งไป เมื่อเราจดบันทึกค่าใช้จ่ายออกมาเราจะเห็นอย่างชัดเจนเลยว่าค่าใช้จ่ายบางอย่างดูเหมือนว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องจ่าย หรือบางอย่างก็จ่ายซ้ำซ้อนกัน เช่น
- ค่าโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ต Wifi บางครอบครัวที่บ้านมีติดตั้ง Wifi ที่สามารถแชร์กันใช้ได้ทุกคนในครอบครัวอยู่แล้ว แต่โทรศัพท์มือถือก็ยังมีการซื้อแพ็กเก็จที่ใช้ Wifi ได้แบบเต็มพิกัดอีก หากเราวางแผนในเรื่องนี้ดีดี จะทำให้ประหยัดค่าโทรและค่าเน็ตไปได้มากเหมือนกัน เช่น มือถือสมาร์ทโฟนส่วนตัวเราอาจเลือกสมัครแพ็กเก็จที่มีการโทรหรือชั่วโมงเล่นเน็ตที่เพียงพอกับการที่เราใช้เวลาอยู่นอกบ้านเท่านั้น หลายคนคิดว่าประหยัดเงินส่วนนี้ไปก็คงแค่ไม่กี่ร้อยบาท แต่ไม่กี่ร้อยบาทหลายเดือนก็เป็นเงินหลายพันเหมือนกัน เอาไปจ่ายอย่างอื่นที่สำคัญและจำเป็นดีกว่าค่ะ
- ค่าบุหรี่ / เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากมีคนในครอบครัวที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ ควรพิจารณาลด ละ เลิกจะดีกว่าค่ะ ค่าใช้จ่ายของสิ่งของไม่จำเป็นเหล่านี้แพงมาก และไม่เป็นผลดีกับสุขภาพร่างกายด้วย
- ค่าลอตเตอรี่ แม้จะเป็นช่องทางในการสร้างโอกาสให้รวยได้ แต่มันยากมากค่ะ สู้อย่าไปซื้อแล้วนำเงินที่ซื้อลอตเตอรี่มาเก็บไว้ใช้อย่างอื่นจะดีกว่า ยิ่งบางคนซื้อเท่าไหร่ก็ไม่เคยถูกกับเขาเสียที แบบนี้เลิกซื้อเลยดีกว่า
ลดค่าใช้จ่ายลง ค่าใช้จ่ายบางอย่างแม้เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นก็ตาม แต่เราก็สามารถที่จะลดค่าใช้จ่ายเหล่านั้นลงได้ เช่น
- จำกัดการทานอาหารนอกบ้าน ให้อยู่ที่ไม่เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ช่วยได้เยอะนะคะ เพราะการทานอาหารนอกบ้านในปัจจุบันถือว่ามีราคาแพงมาก ยิ่งเป็นครอบครัวที่มีจำนวนสมาชิกมาก การทำอาหารทานเองจะช่วยประหยัดได้มาก เพราะสามารถทำได้คราวละมาก ๆ ทานได้หลายมื้อ
- ประหยัดน้ำประหยัดไฟ แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ช่วยได้หมดค่ะ ไฟดวงไหนไม่ใช้ให้ปิด ทีวีดูพร้อมกัน อย่าเปิดน้ำทิ้งไว้ ฯลฯ
- เสื้อผ้าเลือกซื้อแบบเรียบ ๆ ที่สวมใส่ได้ทุกโอกาส ทำให้เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ไม่ต้องซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ทุกครั้ง เสื้อผ้าหากต้องการคุณภาพดีแบรนด์เนมให้เลือกซื้อตอนลดราคา ประหยัดไปได้มากค่ะ
- ล้างรถเอง การล้างรถเองประหยัดกว่านำรถไปล้างที่ร้านแน่นอน ปกติหากเราใช้บริการล้างรถทุกสัปดาห์ ถ้าเปลี่ยนมาล้างรถเองก็จะประหยัดเงินไปได้เดือนละเป็นพันเหมือนกันนะ
หากทุกคนในครอบครัวทำความเข้าใจร่วมกันและมีเป้าหมายในการวางแผนการเงินร่วมกันด้วยการช่วยกันควบคุมค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ครอบครัวเราก็จะมีเงินเหลือเก็บออมไว้เป็นการสร้างความมั่นคงทางการเงินในกับทุกคนในครอบครัว และทำให้ไม่ต้องเป็นหนี้ด้วย