คำถามมักเกิดขึ้นเสมอเมื่อเรามีทางเลือกมากกว่าหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็แล้วแต่ โดยธรรมชาติมนุษย์เราย่อมหาทางเลือกที่ดีกว่าเสมอ แล้วก็โดยธรรมชาติอีกนั่นแหละที่ทำให้เราคิดว่าทางที่เราไม่ได้เลือกมักจะดีกว่าอยู่บ่อย ๆ เหตุการณ์คล้าย ๆ กันนี้คงจะเคยเกิดขึ้นกับทุก ๆ คนโดยเฉพาะคนที่ขับรถเป็นประจำ เลนด้านซ้ายและด้านขวาของเรามักไปได้เร็วกว่าเสมอ แต่ว่า…มันเป็นจริงเสมออย่างนั้นหรือ
หากคิดวิเคราะห์ให้ดีตอนที่เราอยู่เลนที่ติด เราจะว่างและเห็นเลนข้าง ๆ ไปได้ดี แต่ตอนที่เรากำลังวิ่งฉิวอยู่นั้น เราคงไม่เคยสังเกตว่ารถข้าง ๆ เรานั้นแอบมองอยู่ด้วยความอิจฉา ถ้าจะนับเป็นจำนวนครั้งเป็นเชิงสถิติที่ให้นำมาวิเคราะห์ได้คงจะทำได้ยากและผลที่ได้ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย อีกทั้งปัจจัยหลักเกิดจากมาตรฐานทางความคิดของคนแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน จึงเป็นไปได้ยากที่จะได้ข้อมูลมาโดยปราศจากอคติ
เรื่องอคตินี้ไม่เว้นแม้ในกรณีของเรื่องการเงิน ถึงแม้จะเกี่ยวข้องกับตัวเลขโดยตรงซึ่งสมควรคิดคำนวณความคุ้มค่าในเชิงตัวเลขได้ แต่ก็ไม่วายจะเกิดอคติ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร มันเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ เราต้องเข้าใจสิ่งที่เป็นธรรมชาติและเชื่อในการตัดสินใจของเรา เพียงแต่ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่เราเลือกนั้นในผ่านการกลั่นกรอง พินิจพิจารณาแล้วในทุกมิติ
อ้างอิงตามกระทู้น่าสนใจในพันทิป http://pantip.com/topic/35609374 เจ้าของกระทู้ตั้งคำถามได้เรียบง่ายแต่น่าสนใจให้นำมาคิดต่อไม่น้อย ระหว่างเงินเดือนไม่มากแต่ได้สม่ำเสมอทุกเดือน กับเงินจำนวนเยอะ ๆ แต่ได้ไม่สม่ำเสมอ แบบไหนดีกว่า
คำถามนี้ตอบได้ถ้ามี 2 สิ่งประกอบในการตัดสินใจ นั่นคือแผนการเงินและจำนวนเงินรายได้ที่ได้จริงที่คำนวณแล้วในเชิงสถิติ ตามกระทู้ คุณแม่เจ้าของกระทู้เป็นพนักงานประจำระดับหัวหน้าพนักงานมีเงินเดือนประมาณ 30,000 บาท ในขณะที่คุณพ่อเป็นผู้รับเหมามีงานบ้างไม่มีงานบ้างไม่ได้มีทุกเดือน 2-3 เดือน ได้งานหนึ่งครั้ง แต่ละครั้งได้เงิน 250,000-300,000 บาท
จากข้อมูลรายได้ไม่เพียงในการวิเคราะห์ได้อย่างมีคุณภาพ เพราะเป็นข้อมูลที่น้อยเกินไปและไม่ได้พูดถึงต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิต รวมถึงภาระหนี้ถ้ามี แต่หากจะลองวิเคราะห์ รายได้ของคุณพ่อรวมแล้วได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่าคุณแม่หลายเท่าตัว คุณพ่อมีรายได้เฉลี่ยเดือนละแสนในขณะที่คุณแม่สามหมื่น แต่การบ่นจากคุณแม่บอกว่าคุณพ่อว่างงานรายได้ขาดนั้น อาจเป็นไปได้ว่าช่วงที่ว่างงานนั้นรายได้ลำพังจากเงินเดือนคุณแม่นั้นไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย
ใครที่เคยศึกษาวิชาทางธุรกิจมาบ้างคงจะรู้กฎ ๆ หนึ่งเป็นอย่างดี นั่นคือ เสี่ยงมากได้มาก เสี่ยงน้อยได้น้อย รับข้าราชการแทบไม่มีความเสี่ยงเลย แต่เงินเดือนก็น้อยขนาดจะซื้ออะไรเป็นชิ้นเป็นอันก็ไม่สามารถทำได้ สถาบันการเงินปล่อยกู้ส่วนบุคคลมีความเสี่ยงสูง จึงต้องการผลตอบแทนสูงด้วยการชาร์จดอกเบี้ยถึง 28% ในขณะที่ดอกเบี้ยฝากปัจจุบันถูกกว่าอัตราเงินเฟ้อ มูลค่าเงินที่ฝากลดลงแต่ผู้ฝากไม่มีความเสี่ยง…ทุกอย่างที่ว่ามานี้จะเป็นไปตามสูตรนี้เสมอเว้นเสียแต่ว่าจะเกิดสงครามโลกหรือภัยพิบัติระดับชาติเท่านั้น
การทำงานของคุณแม่พนักงานประจำมีความเสี่ยงต่ำ อีกห้าปีเงินเดือนก็ขึ้นจากนี้ไม่เท่าไหร่หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ส่วนงานรับเหมาคุณพ่อเป็นงานอิสระย่อมมีความเสี่ยง แต่ก็มีรายได้มาก ทางเดียวคือการได้งานมากขึ้นหรือขยายทีมงานให้ใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับจำนวนงาน ไม่ต้องรอรับทีละงาน สามารถรับงานที่เสกลเล็กกว่าแต่มีประจำสม่ำเสมอได้ โดยเฉพาะพวกงานซ่อม ซึ่งมีอยู่ตลอดเวลาถึงแม้เศรษฐกิจไม่ดีงานก่อสร้างหด แต่งานซ่อมมีความจำเป็นเสมอ นอกจากคนงานจะมีงานทำตลอดแล้ว ยังทำให้มีงานเข้ามาเรื่อย ๆ หากบริหารจัดการดี งานซ่อมอาจทำรายได้มากกว่างานสร้างที่ทำอยู่ได้อย่างไม่ยากเลย
อีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาวิเคราะห์เสมอถ้าพูดถึงเรื่องการเงิน นั่นคือแผนการเงิน ถ้าในแผนมีภาระหนี้บ้าน หนี้รถ เตรียมส่งประกันประจำปี เตรียมเงินก้อนจ่ายเงินค่าศึกษาให้ลูกไปเรียนต่อหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จิปาถะ ทุกบ้านย่อมมีภาระมีค่าใช้จ่าย หากรายได้ไม่กระทบแผน บ้านนั้นก็ไม่เดือดร้อน แต่หากกระทบแผนโดยตรงย่อมสร้างความเสียหายและความเครียดบังเกิดขึ้นแน่นอน
การรู้จักบริหารความเสี่ยง ด้วยการจัดการความสมดุล นอกจากต้องจัดการรายได้ให้มีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่รับได้แล้ว เรายังจะต้องปรับแผนการเงินให้มีความยืดหยุ่นด้วย หากแผนการเงินมีความตึงไม่สามารถขยับโยกอะไรได้เลย การเปลี่ยนแปลงปรับแผนเมื่อรายได้เปลี่ยน ย่อมทำได้ยากและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ดังนั้น การวางแผนอย่างรัดกุม ปรับปรุงแผนอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะนอกจากเราจะระลึกและเข้าใจสภาพทางการเงินของครอบครัวแล้ว เรายังจะมองเห็นจุดบกพร่องและหาทางอุดจุดเสี่ยงได้อย่างทันการณ์ รวมถึงไม่เผลอไผลตามคำชวนของพ่อค้าประกันทำเพิ่มโดยไม่จำเป็นและไม่หลงใหลโปรแกรมท่องเที่ยวที่อาจจะเกินกำลังความสามารถที่เราจะจ่ายได้ แต่สิ่งที่ดีที่สุดของการทบทวนแผนการเงินนอกเหนือจากที่เราจะไม่ตกเป็นเหยื่อทางการตลาดแล้ว เรายังได้ทบทวนจุดหมายสุดท้ายของเราอย่างสม่ำเสมอและช่วยสร้างวินัยทางการเงินให้เราได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว