ลูกของผู้เขียนเองก็อยู่ในวัยใกล้ 2 ขวบและถือว่าเป็นช่วงที่งอแงมากทีเดียว จะติดคนที่เลี้ยงมาก และจะอ้อนให้อุ้มแม้ว่าจะเดินหรือวิ่งได้แล้ว นอกจากนี้เขาชอบจูงมือให้ไปเล่นกับเขาเราจะไม่ได้กินข้าวอย่างสงบสุขอย่างแน่นอน พอกินได้ 3 คำ เขาก็จะเดินจูงมือเราออกจากโต๊ะแล้วให้ไปนั่งเล่นกับเขา ถ้าเราลุกออกมาเขาก็จะร้องไห้จ้า นี่คือตัวอย่างคร่าว ๆ ของเด็กที่เข้าใกล้วัย 2 ขวบ
จากข้อสันนิษฐานสาเหตุของอาการงอแงเอาแต่ใจ อาจจะเป็นเพราะเรื่องของภาษา ซึ่งเขาเริ่มรู้จักคำศัพท์มากขึ้น แต่ยังไม่สามารถสื่อสารออกมาได้ทั้งหมด อาจจะได้แต่ร้อง อือ ๆ แล้วเอาแขนหรือมือชี้ไปยังสิ่งที่ต้องการ ถ้าไม่ได้ก็จะร้องไห้ สาเหตุของอาการเอาแต่ใจคร่าว ๆ มีดังนี้
- หนูเริ่มเป็นตัวของตัวเอง เขาเริ่มรู้ในสิ่งที่เขาต้องการและรู้ว่าทำอย่างไรจะให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ มีการประกาศจุดยืนที่ชัดเจน เช่น หนูจะไม่กินข้าว แล้วก็จะกระโดดลงจากที่นั่งเด็กลงไปเลย
- ไม่ชอบการปฏิเสธ เขาต้องการให้ผู้ใหญ่ทำในสิ่งที่เขาต้องการ เช่นให้ไปนั่งเล่นกับเขา หรือเปิดวิดีโอให้เขาดู ถ้าไม่ได้สิ่งที่ต้องการก็จะร้องไห้จ้าเสียงดังมาก ๆ พร้อมกับบีบน้ำตาอีกอด้วย
- อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เช่น เมื่อเจอที่ปีนป่ายแบบอันตรายเขาก็จะชอบไปลองเล่นแม้ว่าเราจะห้ามแล้ว เขาก็จะปีนขึ้นไป ทั้งๆ ที่เราร้องตะโกนห้ามไม่ให้ปีนเพราะกลัวเขาจะตกลงมา แต่เด็กน้อยผู้อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ เขาชอบที่จะปีนป่าย ยอมที่จะตกลงมา บางครั้งเราก็ต้องยอมให้เขาเจ็บบ้าง แต่ว่าต้องดูว่าไม่ให้อันตรายจนเกินไป
- ความสามารถทางภาษายังไม่เต็ม 100% เนื่องจากอยู่ในวัยที่กำลังจะพูด แต่ยังพูดไม่ได้เต็มที่ บางอย่างพอพูดไม่ได้ก็จะได้แต่พูด อือ ๆ แต่คนก็ยังไม่สามารถเข้าใจเขาได้จริง ๆ ทำให้เขาเกิดอารมณ์เกรี้ยวกราดได้
สรุปง่าย ๆ คือ เขากำลังอยู่ในวัยเรียนรู้ อยากทดลองสิ่งใหม่ ๆ เห็นสิ่งต่าง ๆ ก็อยากท้าทาย สิ่งที่เราทำได้เราต้องทำใจปล่อยวางให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ถ้าเราห้ามเขาไปทั้งหมดอาจจะทำให้เด็กกลายเป็นคนขี้กลัวได้ วิธีการรับมือคร่าว ๆ ที่พอจะทำได้มีดังนี้
- ปล่อยให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง
การที่ปล่อยให้เขาเรียนรู้แต่ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดอันตราย เราต้องดูเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับ 1 เราควรดูเขาอยู่ห่าง ๆ ให้เขาได้เรียนรู้ว่าถ้าล้มลงไปจะต้องช่วยตัวเองอย่างไร (เข่น เอามือยันพื้นเองนะ) ถ้าไปไปโอ๋เขาตลอดก็จะทำให้เขาเป็นเด็กขี้แยได้ ถ้าเราให้เขาได้เรียนรู้วิธีที่หกล้มด้วยตัวเอง คราวต่อไปเขาก็จะรู้ว่าสิ่งที่เขากำลังจะทำจะเป็นอันตรายนะ ต้องหาวิธีเอามือมายันหน้าจะได้ไม่ฟาดพื้น
- ทำความเข้าใจว่าเขากำลังอยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็น
เด็กวัยใกล้ 2 ขวบคือวัยเรียนรู้ อยากรู้อยากเห็นสิ่งรอบตัว คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจ และใจเย็น อย่าใส่อารมณ์กับลูก ถ้ารู้สึกว่าตัวเองเริ่มไม่ไหวในการควบคุมอารมณ์ให้ถอยห่างออกมา แล้วให้อีกคนเข้าไปดูแลแทน ให้เดินออกมาพัก หายใจลึก ๆ เพราะถ้าปรอทอารมณ์แตกแล้วใส่อารมณ์กับลูกไม่ดีแน่ ๆ เพราะเด็กจะจดจำด้านไม่ดีเอาไว้ แล้วดูเป็นแบบอย่าง
- พาไปเข้าสังคมของเด็ก ๆ บ้าง
เขาจะได้รู้ว่าการปฏิบัติตัวต่อผู้อื่นควรทำอย่างไร เช่น สวัสดี หรือการแบ่งปันของเล่น ถ้าให้เล่นคนเดียวแต่ที่บ้านก็จะไม่รู้จักวิธีการเข้าหาคนอื่นๆ และไม่ทราบถึงมารยาททางสังคม เช่นอาจจะพาไปบ้านเพื่อนแล้วเล่นกับลูกเพื่อนบ้าน แต่ถ้าเพื่อนยังไม่มีลูกก็อาจจะพาไปเข้ากิจกรรมกลุ่มร้องเพลง ออกกำลังเป็นต้น จะได้ถือว่าเป็นการคลายเครียดไปในตัวทั้งพ่อและแม่