เชื่อว่าใครหลายคน คงเคยได้ยินคำพูดติดปากของผู้เฒ่าผู้แก่ เจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานกันมาบ้างว่า “ทำงานให้หนัก ๆ เข้าไว้ในตอนนี้เถิด อนาคตจะได้สบาย”
ซึ่งคงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คำพูดดังกล่าว ได้กลายมามีอิทธิพลเหนือจิตใจของมนุษย์เงินเดือนหลายคน บางคนถึงขั้นยึดเอาคำพูดดังกล่าวเป็นปณิธานของตนไปเลยทีเดียว สิ่งตามมาก็คือ มนุษย์เงินเดือนหลายคนต่างทำงานกันอย่างเอาเป็นเอาตาย โดยหวังว่าในอนาคตจะ “สบาย” ขึ้น และมีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องสูญเสียอะไรหลาย ๆ อย่างไปกับการทำงานอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่ควรจะได้อยู่กับพ่อแม่ ลูกเมีย ครอบครัวของตน หรือสุขภาพที่นับวันจะยิ่งเสื่อมโทรมลงจากการทำงานหนัก ขาดการพักผ่อน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อย ที่เริ่มเกิดความกังขากับคำพูดดังกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะทำงานหนักไปเพื่ออะไร ในเมื่อต่อให้ทำงานอย่างหนักมาชั่วชีวิต แต่ถ้าสุขภาพพัง หลังเกษียณต้องนอนอยู่บนเตียง เงินที่สู้อุตส่าห์หามาทั้งชีวิตก็ไม่มีโอกาสได้ใช้อยู่ดี เพราะฉะนั้นช่วงเวลาที่เราทำงานได้อยู่นี้ ควรใช้เงินให้เต็มที่ ไปต่างประเทศ ซื้อของที่อยากได้ไปเลยไม่ดีกว่าหรือ
อ่านเพิ่มเติม : ความรวยไม่ได้มาจากการ ทำงานหนัก เสมอไป
ก่อนอื่นต้องขอบอกเลยว่ามนุษย์ที่เกิดมาบนโลกนี้นั้น แต่ละคนย่อมมีความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการมองวิธีการใช้เงิน (อันได้มาจากการทำงาน) บางคนอาจจะมองว่าความสุขของตน คือการใช้เงินเพื่อซื้อของที่ตนอยากได้ ในขณะที่บางคนมองว่าความสุขของการทำงานคือการเก็บเงินสำหรับอนาคต เมื่อคนแต่ละคนมีความแตกต่างกันเช่นนี้ ส่งผลให้พฤติกรรมการแสดงออกเกี่ยวกับเงินของมนุษย์เงินเดือนแต่ละคนมีความแตกต่างกันด้วย บางคนเมื่อทำงานหนักเสร็จแล้ว ได้เงินมาแล้ว ก็มักจะนำเงินนั้นไปใช้จ่าย ซื้อของที่ตนอยากได้ ไปในที่ ๆ ตนอยากไป แต่ในขณะที่บางคนเมื่อทำงานหนักจนได้เงินมาก้อนหนึ่งแล้ว กลับนำเงินนั้นไปเก็บไว้ในธนาคาร หรือลงทุนในระบบที่คิดว่าจะได้ดอก ได้ผลดี อย่างนี้เป็นต้น และปัญหาที่จะตามมาหลังจากนั้นก็คือ คนกลุ่มแรกมองคนกลุ่มที่สองว่า จะเก็บเงินไว้ทำไมตั้งเยอะแยะ ตายไปก็ไม่ได้ใช้ ส่วนคนกลุ่มที่สองจะมองคนกลุ่มแรกว่า ทำไมคนพวกนี้ถึงไม่เก็บไว้เผื่ออนาคตบ้างเลย เอาแต่ผลาญ เกิดในอนาคตเรามีเหตุจำเป็นต้องใช้ฉุกเฉินจะทำอย่างไร ซึ่งถ้าเราจับคน 2 กลุ่มนี้มานั่งเถียงกัน ต่อให้ใช้เวลาถึง 100 ปี เรื่องนี้ก็คงจะยังไม่ยุติได้
ทีนี้ กลับมาเข้าเรื่องปัญหาของเรา คือ ทำงานหนักไปทำไมกันต่อ
หากเราลองย้อนกลับไปอ่านในย่อหน้าข้างต้น คงพอจะเริ่มมองเห็นได้บ้างแล้วว่า ที่ทุกคนต้องทำงานหนักก็เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองทางด้านการเงิน แต่จะเป็นความต้องการด้านการใช้หรือความต้องการด้านการเก็บเงิน อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลเองว่ามีรสนิยมด้านไหน ซึ่งอันที่จริง ความต้องการด้านการเงินทั้ง 2 ฝ่ายนี้ ไม่ได้มีข้อไหนที่เป็นเรื่องผิด แต่สิ่งที่ผิดก็คือพฤติกรรมการใช้เงินที่สุดโต่งไปทางด้านใดด้านหนึ่งมากจนเกินไปต่างหาก เช่น มนุษย์เงินเดือนบางคนมีพฤติกรรมการใช้เงินมือเติบ เที่ยวกลางคืนทุกวัน ซื้อของฟุ่มเฟือยทีละมาก ๆ ทุกเดือน ผลที่ตามมาก็คือเงินเดือนไม่มีเหลือแม้แต่กับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นก็ตาม ในขณะที่บางคนมีเงินเก็บเป็นจำนวนมากจนสามารถใช้จ่ายฟุ่มเฟือยได้อย่างสบาย แต่กลับเอาแต่กระเบียดกระเสียรจะซื้ออะไรก็ต้องคิดแล้วคิดอีก ประหยัดทุกสิ่งทุกอย่างแบบสุด ๆ จนในบางครั้งมันไปเบียดบังความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตที่ควรได้ พฤติกรรมเช่นนี้ นอกจากจะทำให้ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ทั้ง ๆ ที่มีเงินเก็บแล้ว ยังเป็นการเพาะบ่มนิสัยเห็นแก่ตัวให้เกิดขึ้นภายในตัวของคน ๆ นั้นได้อีกด้วย
ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยตอบสนองความต้องการของตนภายหลังจากทำงานหนักมาแล้ว ก็ควรจะเป็นการพบกันครึ่งทาง โดยเมื่อทำงานหนักจบแล้ว เงินที่ได้มาควรจะแบ่งเอาไว้สำหรับค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนบ้าง หรือถ้ามีเงินเยอะ อาจจะแบ่งไปซื้อสิ่งที่ตนอยากได้บ้างก็ได้ อีกส่วนหนึ่งเอาไปเก็บหรือจะลงทุนเพื่อให้เกิดการงอกเงยก็ได้ ซึ่งวิธีการดังนี้ หากใครสามารถปฏิบัติตามได้อย่างสมดุล รับรองว่าจะมีผลตอบแทนที่คุ้มค่าจากการทำงานหนักอย่างแน่นอน
หลังจากที่ไล่เลียงรายละเอียดมาเสียยืดยาวแล้ว เราสามารถสรุปได้ว่าการที่เราต้องทำงานหนักก็เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการทางการเงิน รวมถึงตอบสนองความก้าวหน้าภายในอาชีพของตนเอง ไม่จำเป็นเสมอไปว่าเมื่อทำงานหนักแล้ว ต้องใช้เงินตามที่ตนเองอยากให้คุ้มค่า ในขณะเดียวกันก็ไม่จำเป็นเสมอไป ว่าต้องทำงานหนักเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัวเพียงอย่างเดียว หากแต่สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าผลที่ได้จากการทำงานหนักนั้นคุ้มค่าหรือเปล่า ก็คือการใช้เงินในชีวิตประจำวันได้อย่างจำเป็นตามอัตภาพ ไม่ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ลำบาก มีเงินเก็บไว้เผื่ออนาคต รวมถึงมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานต่างหาก โดยหากใครสามารถควบคุมสิ่งเหล่านี้ให้อยู่ในสภาพสมดุลได้ ย่อมถือว่าคน ๆ นั้น ประสบความสำเร็จหลังจากการทำงานหนักแล้วอย่างแท้จริง