โค้ชหรือเทรนเนอร์เป็นบุคคลที่มีความสำคัญ ในการนำพาให้เราไปสู่เป้าหมาย หรือช่วยเราให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้นเร็วขึ้น เมื่อก่อนเราจะคุ้นเคยกับโค้ชที่อยู่ในแวดวงกีฬา และพวกออกกำลังกาย แต่ปัจจุบันมีโค้ชมากมายหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นโค้ชด้านการเขียน โค้ชด้านการพูด โค้ชด้านการร้องเพลง โค้ชด้านการแสดง แม้แต่โค้ชด้านการเล่นหุ้นก็กำลังอินเทรนด์อยู่ในช่วงนี้ แต่มีโค้ชอีกสาขาหนึ่งที่สำคัญมากเช่นกัน นั่นคือ โค้ชด้านการเงิน
อ่านเพิ่มเติม : จำเป็นหรือไม่ ? ต้องหา โค้ชแนะนำวางแผนการเงิน
คนส่วนใหญ่คิดว่า เรื่องจัดการเงินเป็นเรื่องง่ายๆ ขอให้มีเงินเถอะ เขาสามารถจัดการได้อย่างหมดจดแน่นอน ถ้าจัดการได้หมดจดในที่นี้หมายถึง การใช้เงินที่มีจนหมดเกลี้ยง คงไม่มีใครเถียงที่ว่า ทุกคนสามารถจัดการได้ แต่การจัดการเงินในที่นี้หมายถึง การวางแผนการหาเงินใช้เงินที่มีอยู่อย่างจำกัด ตามฐานะและการหารายได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการจัดการเงินให้เราอยู่ดีมีสุขไปชั่วชีวิต
อย่าลืมว่าหลายๆคนไม่ได้ถูกจ้างงานไปจนแก่เฒ่า ส่วนใหญ่จะเกษียณจากการงานในวัย 60 -70 ปี แล้วช่วงที่เหลือ ตอนที่เราไม่ได้ทำงาน หรือตอนที่ไม่มีคนจ้าง เราจะกินอยู่อย่างไร ไหนจะเจ็บไข้ได้ป่วยตามวงจรชีวิต จะมีเงินค่าหมอค่ายาไหม
ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการและวางแผนทางการเงินไว้แต่เนิ่น เพราะแผนจากเงินจะสัมฤทธิ์ผลได้ ต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนานพอ สำหรับคนที่มีความรู้ทางการเงินคงไม่ต้องห่วง ส่วนคนที่ไม่รู้เรื่องการเงิน ต้องปรึกษาหรือหาโค้ชด้านการเงินเอาไว้เลย โค้ชด้านการเงินมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า นักวางแผนทางการเงิน ซึ่งเป็นวิชาชีพที่ต้องมีความรู้ ความสามารถ และต้องได้รับอนุญาตในการประกอบอาชีพจากหน่วยงานของรัฐ ลองมาดูกันดีกว่าว่า ถ้าเราต้องจ้างโค้ชมาวางแผนเรื่องเงินๆทองๆ เขาจะต้องทำอะไรยังไงกันบ้าง
อันดับแรกเลยคือต้องรู้ว่า เราจ้างโค้ชมาทำอะไร
คำตอบคือ จ้างมาช่วยคิด ช่วยวางแผนทางการเงินให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่วางไว้ ที่นี้ก็ขึ้นอยู่ที่ว่า เป้าหมายทางการเงินของเราคืออะไร รู้แหละว่าเป้าหมายของทุกคนคือ อยากรวย อยากมีเงินล้นฟ้า ซึ่งดูแล้วออกจะเป็นเป้าหมายที่กว้างเกินไป เราควรจะระบุเป้าหมายให้ละเอียดชัดเจน สมเหตุสมผลและเป็นไปได้ในชาตินี้ เช่น เป้าหมายทางการเงินคือ มีเงิน 5 ล้านบาทก่อนอายุ 60 ปี และมีเงินปันผลจากการลงทุนไปชั่วชีวิต มีเงินเพียงพอในการดูแลรักษาตนเองยามป่วยไข้ ไม่เป็นภาระลูกหลาน เป็นต้น เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจน โค้ชก็จะสามารถวางแผนและระบุวงเงินในการลงทุนด้านต่างๆได้อย่างเหมาะสม
อันดับสองต้องรู้ขั้นตอนการทำงานของโค้ช
เพื่อจะได้รู้ช่วงจังหวะเวลาในการให้บริการและบริหารความสัมพันธ์ได้ถูกต้องเหมาะสมทั้งสองฝ่าย ปกตินักวางแผนการเงินจะมีขั้นตอนการทำงาน 6 ขั้นตอน คือ ขั้นแรกทำความรู้จักและสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ขั้นที่สองรวบรวมข้อมูลและกำหนดเป้าหมายทางการเงิน ขั้นที่สามเป็นการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ขั้นที่จัดทำแผนและนำเสนอแผนทางการเงิน ขั้นที่ห้าการนำแผนไปปฏิบัติ และขั้นตอนสุดท้ายคือการติดตามและปรับปรุงแผน
เรื่องที่ต้องรู้อีกอย่างหนึ่งคือ โค้ชทางการเงินเขาคิดค่าบริการกันอย่างไร
โดยทั่วไปก็จะรับค่าบริการเป็นรายครั้ง หรืออาจเป็นแพคเกจก็ได้ นอกจากนี้โค้ชก็จะมีรายได้เสริมจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่อยู่ในรูปของค่านายหน้าต่างๆ เช่น จากค่าขายประกัน จากค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ หรือซื้อขายหน่วยลงทุนหรือตามแต่ที่ดีลไว้กับบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ทางการเงินเหล่านั้น เป็นต้น อัตราค่าบริการเฉลี่ยทั้งแพคเกจคร่าวๆก็ตกอยู่หมื่นต้นๆไปจนถึงหมื่นปลายๆ หรือแล้วแต่ตกลง
บางคนอาจคิดว่า เรื่องเงินไม่น่ายาก จะเสียเวลาหรือเสียเงินไปจ้างเขาทำไม หากคิดแบบนี้ก็ไม่ผิด แต่สิ่งที่เรารู้อาจไม่ครอบคลุมทั้งหมด บางครั้งแผนการเงินของเราอาจไม่ได้เผื่อถึงความเสี่ยงอื่นๆที่มองไม่เห็นหรือไม่คาดคิด หรือบางคนคิดแบบเข้าข้างตัวเอง ก็อาจทำให้มีการมองอนาคตตกหล่นในบางมุม ด้วยเงินหลักหมื่นแลกกับโอกาสในการประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายทางการ และไม่เดือดร้อนไปชั่วชีวิต นับเป็นการจ่ายที่คุ้มค่า การจ้างโค้ชมาช่วยวางแผนเรื่องการเงินอาจดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย ลองเปิดใจและใช้บริการของนักวางแผนทางการเงินดู แล้วจะรู้ว่ามีเรื่องการเงิน การลงทุน และการป้องกันความเสี่ยงอีกมากมายที่เราอาจจะยังไม่รู้