หลายต่อหลายคนที่ทำงานออฟฟิศ หรือเป็นลูกจ้างประจำมาตลอด เป็นเวลานับสิบปี ก่อนที่จะมาค้นพบว่า ตัวเองไม่เหมาะกับงานลักษณะนี้เลย งานที่ต้องไปทำงานเช้าเย็นกลับ ทำงานตามตารางเวลา และตามเป้าหมายที่มีผู้กำหนดไว้ให้ และสุดท้ายจะถูกประเมินด้วยผลงาน จากผู้ที่อยู่ในระดับสูงกว่าในองค์กร ซึ่งก็จะมีมาตรฐานที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละองค์กร รับได้หรือไม่ได้ ก็ต้องทำกันต่อไป
คนที่ตัดสินใจแล้วว่าไม่ไหว อยากเปลี่ยนไปเป็นงานอิสระ เราจึงจะมาดูกันว่าอาชีพอิสระ หรืองาน ฟรีแลนซ์ (Freelance) เป็นอย่างไร
งานฟรีแลนซ์ เป็นงานที่ทำกันมานานแล้ว แต่ในระยะหลังมีคนพูดถึงกันอยู่มากพอสมควร เพราะเป็นงานที่ยืดหยุ่น มีอิสระค่อนข้างสูง เหมาะกับคนที่ไม่ต้องการยึดติดกับตารางเวลา และกฎเกณฑ์มากมายของงานในองค์กร
งานฟรีแลนซ์ จะไม่ยึดติดอยู่กับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ตัวอย่างที่เห็นกันก็อย่างเช่น พวกสถาปนิก นักออกแบบ ข่างภาพ นักเขียนอิสระ หรือแม้กระทั่งงานในวงการบันเทิง อย่างดารา นักร้อง พิธีกร ที่ไม่ได้มีสัญญาอยู่ในสังกัดใดสังกัดหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นฟรีแลนซ์ ที่สามารถเลือกรับงานจากที่ใดก็ได้ ตามที่ตนเองสะดวก ขอแค่สามารถทำงาน และส่งมอบงานให้ได้ตามกำหนดเวลาของลูกค้า ก็ถือว่างานชิ้นนั้นเป็นอันสำเร็จ
สองจิตสองใจ ไม่กล้าลาออกจากงานประจำ
ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่ง ของคนที่ตัดสินใจจะลาออกจากงานประจำ มาจับงานฟรีแลนซ์คือ ทำแล้วจะไปรอดหรือไม่ เกิดทำไปแล้วไม่ดีอย่างที่คิด มิต้องกระเสือกกระสนกลับไปทำงานประจำเหมือนเดิมเหรอ กลายเป็นเรื่องใหญ่ล่ะทีนี้ หลายคนจึงเริ่มต้นจากการรับงาน ฟรีแลนซ์ ในขณะที่ยังทำงานประจำอยู่ แนวทางนี้ค่อนข้างปลอดภัย และเป็นความคิดที่ดี ถ้างานฟรีแลนซ์ไปได้สวย ค่อยลาออกจากงานประจำมาทำเต็มตัว แต่ถ้าดูแล้วไม่เวิร์ค งานมาๆขาดๆ เก็บเงินได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ถือว่าหารายได้เสริมควบคู่ไปกับงานประจำได้ วิธีฟังดูดีแต่ในทางปฏิบัติคุณจะต้องมีวินัยในการทำงานสูง และจะกลายเป็นว่า คุณต้องรับผิดชอบงานมากขึ้นเป็นสองเท่า
การที่จะบริหารงานทั้งสองด้าน ให้ออกมาได้ดีมีคุณภาพนั้น จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดี อย่าให้งานฟรีแลนซ์ ทำให้งานประจำบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหัวหน้ารู้ว่าคุณแอบเอางานนอกเข้ามาทำในเวลางานแล้วล่ะก็ จะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน ต้องแบ่งเวลาให้ชัดเจน ว่าช่วงไหนที่สามารถทำงานฟรีแลนซ์ได้ เช่น หลังเลิกงาน หรือเสาร์อาทิตย์ ทำความเข้าใจกับลูกค้าว่า สามารถติดต่อเราได้ทางช่องทางไหน และช่วงเวลาใดบ้าง แน่นอนว่าการทำงานประจำควบคู่ไปกับงานฟรีแลนซ์จะเป็นช่วงเวลาที่คุณจะรู้สึกเหนื่อย แต่ถ้าเลือกจะเดินตามวิธีนี้แล้ว ให้จัดสรรงานและเวลาให้ดี เมื่อผ่านช่วงเวลานี้ไปจนคุณมั่นใจได้แล้วว่าจะเลือกเส้นทางไหน ค่อยตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง
พร้อมจะรับงานแล้ว จะหาลูกค้ามาจากไหน?
ลูกค้ากลุ่มแรก ๆ อาจจะมาจากคนใกล้ ๆ ตัวคุณนี่แหละ งานฟรีแลนซ์หลาย ๆ อย่างเช่น รับถ่ายภาพ รับออกแบบ รับตกแต่งภายใน หรืองานอีเว้นท์ต่าง ๆ งานทั่วไปเหล่านี้ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง คนรู้จักในวงสังคมต่าง ๆ ช่วยคุณได้ บอกให้เค้ารับรู้ เกี่ยวกับการเริ่มต้นอาชีพฟรีแลนซ์ของคุณ คนกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้เป็นลูกค้าของเราโดยตรง แต่เค้าสามารถแนะนำลูกค้าให้เราได้อีกต่อหนึ่ง ที่สำคัญคือ ทำให้เขารับรู้ ถึงความสามารถ และความตรงต่อเวลาของเรา จนมีความมั่นใจที่จะแนะนำงาน หรือบริการของเราต่อไปยังคนอื่นอีกที อย่ามองข้ามจุดนี้ เพราะถ้าหากคุณไม่สามารถทำให้คนใกล้ชิดของคุณมั่นใจได้แล้ว การสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้อื่นจะเป็นสิ่งที่ยากกว่าแน่นอน
งานฟรีแลนซ์ บางประเภท มีความจำเป็นที่จะต้องวิ่งเข้าหางาน นำเสนองานหรือบริการของเราต่อลูกค้า ซึ่งก็คือทำการตลาดนั่นเอง
ทุกวันนี้ช่องทางที่ได้รับความนิยม และประสบความสำเร็จมากที่สุด คงจะหนีไม่พ้นการทำ Online Marketing หรือ Internet Marketing ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุค(Facebook) บล็อกหรือเว็บไซต์ส่วนตัว ซึ่งเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงลูกค้าของคุณได้อย่างรวดเร็ว และง่ายที่สุด
อาจจะเริ่มจากคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่เป็นเพื่อนกับเรา หรือติดตามเราในโซเชียลมีเดีย ถ้าเป็นไปได้ จัดทำบล็อก หรือเว็บไซต์ส่วนตัวเพื่อนำเสนอประวัติข้อมูลส่วนตัว และผลงาน จะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเราได้มากยิ่งขึ้น
อีกทางคือการลิสต์รายชื่อ กำหนดกลุ่มลูกค้าของเราขึ้นมา ลูกค้ากลุ่มนี้ อาจจะเป็นกลุ่มที่เรารู้จักอยู่แล้ว ตามสายงานที่เคยผ่านมา หรือลูกค้าใหม่ที่ค้นหามาจากอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นบริษัทหรือธุรกิจที่เราประเมินว่า อาจสนใจในบริการของเรา แล้วใช้วิธีส่งอีเมล์แนะนำตัวเองและผลงาน
การตลาดที่ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นการแนะนำกันเองแบบปากต่อปาก จากกลุ่มลูกค้าของเราไปยังคนกลุ่มอื่น เพราะฉะนั้น จงให้ความสำคัญกับลูกค้า ผลงานที่มีคุณภาพจะทำให้ลูกค้าแนะนำต่อ ๆ กันไป เป็นการประชาสัมพันธ์ที่ใช้เงินลงทุนน้อยที่สุด แต่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
อย่าลืมว่าความมุ่งมั่นตั้งใจจริง ความมีวินัย ตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบต่อทุกงานที่ทำ ล้วนเป็นกุญแจนำไปสู่ความสำเร็จ สำหรับการเริ่มต้นอาชีพ ฟรีแลนซ์ ได้