สิ่งที่ยากที่สุดของการเริ่มต้นวัยทำงานคือหางานที่ลงตัว ทั้งเรื่องความชอบ สิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน หัวหน้างานในอุดมคติ ผลตอบแทนและเรื่องอื่น ๆ ที่ทำให้ต้องคิดแล้วคิดอีกว่า เราจะทำงานนี้ดีไหม ทำได้ในระยะยาวหรือไม่ โดยเมื่อเวลาดำเนินไประยะหนึ่ง อาจจะมีจุดเปลี่ยนที่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่คิดหรือมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในองค์กร แม้จะเป็นงานที่ถนัดและทำมานาน คนเราก็อาจเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายงานที่ทำอยู่ขึ้นมาเสียเฉย ๆ ได้ไม่ยาก เป็นสาเหตุให้บางคนเริ่มมีความรู้สึกอยากจะเปลี่ยนงาน
การหางานนั้นว่ายากแล้ว พอถึงเวลาอยากจะลาออกหรือเปลี่ยนงานกลับเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า เพราะการเปลี่ยนแปลงอาจจะทำให้เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดก็ได้ เกิดเป็นความกังวลในเรื่องต่าง ๆ สารพัด ความกังวลเหล่านี้จะกลายเป็นเครื่องปิดกั้นตัวเองจากการกระทำสิ่งต่าง ๆ เคยสังเกตไหมว่าเวลาเรากังวลกับเรื่องงาน เรื่องเรียน เรื่องรัก เรามักจะไม่กล้าตัดสินใจ หรือต่อให้ตัดสินใจทำอะไรก็มักจะไม่เด็ดขาด ทางแก้ปัญหานี้ก็คือการแจกแจงความกังวลแต่ละข้อออกมา แล้วพิจารณาไปทีละเรื่อง เพื่อทำให้ความกังวลนั้นคลายลงไป ชีวิตการทำงานก็จะเดินหน้าต่อได้ไม่สะดุด
ความกังวลของคนที่กำลังอยากจะเปลี่ยนงานนั้น มักมีลักษณะ 5 อย่าง ดังนี้
- กังวลว่าจะว่างงาน ลาออกแล้วมาเตะฝุ่น
ความกังวลเรื่องนี้จะเป็นจริงก็ต่อเมื่อคุณยังไม่รู้ว่าจะทำงานใหม่อะไร จะสมัครเข้าทำงานที่บริษัทใหม่หรือออกมาทำงานอิสระด้วยตนเอง ถ้ายังไม่ชัดเจนก็ไม่ควรลาออกจากที่ทำงานเดิม แต่ถ้าคุณมีลู่ทางใหม่แล้ว ก็ควรจะมีความมั่นใจว่าจะสามารถหางานใหม่ได้ในกี่เดือน หรือเริ่มลงมือทำงานอิสระที่คุณรักได้ทันทีหรือไม่ ทางออกเรื่องนี้ก็คือ ควรสมัครงานสถานที่ใหม่ให้เรียบร้อยก่อน พร้อมกำหนดวันเริ่มงานให้ชัดเจน เพื่อที่จะจัดการสะสางงานต่าง ๆ ที่ค้างอยู่กับที่ทำงานเดิมให้เรียบร้อยและดำเนินการลาออกตามขั้นตอน เพื่อคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับที่ทำงานเดิมไว้ด้วย หากจะออกมาทำงานอิสระด้วยตนเองนั้น ควรจะทดลองทำควบคู่กับงานเดิมไปก่อน เมื่อแน่ใจว่าไปได้ดีแล้วค่อยตัดสินใจอีกครั้ง - กังวลเรื่องความไม่มั่นคงเรื่องรายได้
ให้วางแผนทางการเงินก่อนจะลาออก ทางออกมีให้เสมอสำหรับคนที่เตรียมตัว ถ้ากังวลเรื่องรายได้ ก็ต้องเตรียมการเงินให้ดี เพราะส่วนใหญ่มักจะคิดว่าการทำงานประจำที่ทำมานั้น มีรายได้มั่นคงแน่นอนกว่า พอจะลาออกก็กลัวว่าต้องมีค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบระหว่างว่างงาน ดังนั้นความกังวลนี้จะลดลงได้ก็ต่อเมื่อมีการวางแผนทางการเงินไว้ล่วงหน้าก่อน โดยก่อนจะตัดสินใจลาออกต้องเริ่มต้นเก็บเงิน พร้อมประเมินค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ และเงินออมให้ดีเสียก่อน - กังวลว่าทำไปแล้วจะล้มเหลว
ความล้มเหลวเป็นเรื่องที่คนอยากจะเปลี่ยนงานมักกังวลมากที่สุด ในเมื่ออนาคตยังมาไม่ถึง ก็อย่ากังวลเรื่องนี้จนปิดกั้นโอกาสดี ๆ ของตัวเองในการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่เป็นการเรียนรู้ว่าสิ่งใดทำแล้วผิดพลาดก็อย่าทำซ้ำอีก มีคำกล่าวว่า “คนที่ไม่เคยทำอะไรผิด ก็คือคนที่ไม่ยอมทำอะไรเลย” ทางออกของปัญหานี้คือ ต้องหาความรู้ในสิ่งที่ทำ ถ้าคุณมีความรู้และความเชี่ยวชาญ ก็จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานแน่นอน สิ่งสำคัญคือต้องทำงานนั้นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ - กังวลว่าจะเบื่อแล้วต้องเปลี่ยนงานอีก
หลักการสำคัญคือ อย่าลาออกจากงานเพียงเพราะความเบื่อหน่ายในงานที่ทำอยู่เท่านั้น ควรถามตัวเองให้แน่ใจก่อนว่าเบื่อเรื่องอะไร เบื่อเพื่อนร่วมงานหรือรูปแบบการทำงาน ถ้ารู้แล้วให้ลองแก้ไขปัญหาดูก่อน เช่น กรณีมีความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน ก็ต้องดูว่าปัญหาเกิดจากใคร หลายครั้งอาจจะเกิดจากตัวเราเองก็เป็นได้ เพราะถ้าแก้ไขตรงนี้ไม่ได้ เมื่อเปลี่ยนงานใหม่ ก็อาจจะพบปัญหาเรื่องเพื่อนร่วมงานเหมือนเดิมอีกก็เป็นได้ แต่ถ้าเบื่องานเพราะรูปแบบงานที่ทำอยู่นั้นไม่ตรงกับความถนัด ก็ต้องค้นหาตัวเองให้แน่ชัดและมั่นใจก่อนว่างานใหม่ที่อยากทำนั้นคืออะไร มีความชอบและความถนัดจริงหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อทำงานใหม่แล้วจะไม่เบื่องานอีก - กังวลเรื่องสังคมที่เปลี่ยนไป
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลเท่าใดนัก เพราะคุณไม่มีทางรู้ได้เลยจนกว่าจะเข้าไปทำงานในสถานที่ใหม่ ก็เหมือนกับคุณเข้าเรียนในโรงเรียนนั่นเอง ทุกที่ล้วนมีลักษณะสังคมและวัฒนธรรมขององค์กรเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นระบบเจ้านาย-ลูกน้อง รุ่นพี่-รุ่นน้อง หรือเพื่อนร่วมงาน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหา ถ้าคุณกล้าลาออกจากงานเดิม คุณก็ต้องกล้าเผชิญสิ่งใหม่ ๆ ในที่ทำงานใหม่ด้วย กุญแจสำคัญที่จะไขปัญหาเรื่องนี้คือ จงมีความพร้อมที่จะเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับสังคมทำงานแห่งใหม่ด้วยรอยยิ้มและมิตรภาพ ซึ่งจะเป็นใบเบิกทางได้ในทุกสถานการณ์
การขจัดความกังวลแต่ละข้อให้หมดไปนั้น จะเป็นเหมือนการกรุยทางไปสู่สิ่งใหม่ได้ดีมากขึ้น หลายครั้งที่คุณอาจจะพบว่าสิ่งที่กังวลนั้น ในที่สุดคุณก็ผ่านมันไปได้แบบไม่เหนื่อยแรงเลยก็มี อย่าให้ความกังวลขยายตัวในความคิดจนเป็นตัวฉุดรั้งให้ไม่ทำสิ่งต่าง ๆ เมื่อมีความกังวลใหม่มาอีก ก็ใช้แนวทางเดียวกันกับที่แนะนำข้างต้น ด้วยการตีแผ่ความกังวลออกมาเป็นข้อ ๆ แล้วเขียนถึงสาเหตุ แนวทางแก้ไขปัญหาออกมา
การเปลี่ยนงานนั้น ย่อมมีหลายสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ในอนาคต ซึ่งไม่ควรกังวลเกินไปนัก รีบขจัดความกังวลที่มีอยู่ให้หมดไป ตัดสินใจด้วยข้อมูลทั้งหมดด้วยความรอบคอบแล้วลงมือทำ เปรียบเหมือนนักกีฬาที่ต้องฝึกซ้อมอย่างดีที่สุด แต่ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าคู่แข่งจะมาในรูปแบบใด ที่ต้องทำคือเริ่มลงสนามแล้วเล่นไปตามเกม แก้ปัญหาด้วยพลังทั้งหมดที่มี ชีวิตการทำงานก็ไม่แตกต่างกัน