หลายท่านคงจะเคยได้ยินข่าวเรื่องธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ขึ้นอัตราดอกเบี้ย และมีทีท่าว่าหลายประเทศก็จะขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน ในวันนี้เราจะมาดูกันว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะมีผลกระทบอะไรกับตัวเราบ้าง
“อัตราดอกเบี้ยมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเกี่ยวกับประชาชน ทุกภาคส่วน ตั้งแต่การจับจ่ายใช้สอย การออม และการลงทุน โดยดอกเบี้ยสามารถเป็นได้ทั้งผลตอบแทนสำหรับเจ้าของเงิน และเป็นต้นทุนทางการเงินสำหรับผู้ที่กู้ยืมเงิน ทำให้การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบในเชิงตรงกันข้ามต่อบุคคล 2 กลุ่มนี้เสมอ และอัตราดอกเบี้ยยังมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในขณะเดียวกันการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็เป็นตัวกำหนดอัตราดอกเบี้ยด้วยเช่นกัน นั่นคือ หากกำหนัดอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำสามารถส่งผลต่อระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นั่นคือจะทำให้ประชาชนถือเงินในมือมาก ก็จะจับจ่ายใช้สอยมากส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว ถ้าดอกเบี้ยสูงก็จะทำให้คนอยากฝากเงินมากกว่าการจับจ่ายใช้สอยนั่นเอง”
โดยดอกเบี้ยที่จะพูดถึงในที่นี้คือดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะขึ้นทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียต่อเรา โดยในประเทศไทยจะมีกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) เป็นผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ย โดยดูจากสภาพเศรษฐกิจและปริมาณเงินในระบบเป็นตัวพิจารณา คำถามคือมันจะกระทบอะไรกับเรา?
- ผลตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำปรับตัวสูงขึ้น เช่น ฝากออมทรัพย์ปกติได้ดอกเบี้ย 0.5% ต่อปีก็จะปรับขึ้นเป็น 0.75% ต่อปี (หากดอกเบี้ยในตลาดเพิ่ม 0.25%) ถือว่าเป็นผลดีกับคนที่มีเงินฝาก เพราะจะทำให้ได้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
- ดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เราไปกู้กันผ่านธนาคาร ก็จะปรับตัวสูงขึ้นไปด้วย แน่นอนว่ามันเป็นผลเสียกับคนหรือบริษัทที่ต้องการกู้เงิน เช่นผู้ที่กู้ซื้ออสังหาหรือกู้เงินมาลงทุน ทำให้ต้นทุนสูงไปอีก
- เศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของดอกเบี้ย จะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนในการกู้ยืมเงินเพื่อขยายธุรกิจหรือใช้เพื่อสภาพคล่องชะลอตัวไปเพราะอาจจะไม่คุ้มค่าในการลงทุน ส่งผลทำให้ธุรกิจใหม่จะยังไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้
- ผลเสียต่อการส่งออก เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้ค่าเงินในประเทศแข็งค่าขึ้น โดยปริมาณความต้องการทางการเงินของไทยจะมีมากขึ้น ทำให้เวลาส่งสินค้าออกต่างประเทศแล้วได้เงินเป็นสกุลเงินต่างประเทศแล้วมาแลกเป็นเงินไทยได้มูลค่าน้อยลงเพราะส่วนต่างของค่าเงินลู่เข้าหากันมากขึ้น เช่น ปกติ 1 ดอลลาร์ แลกได้ 36 บาท เมื่อค่าเงินแข็ง อาจจะเป็น 1 ดอลลาร์ แลกได้ 35 บาทส่งผลให้ธุรกิจที่เป็นส่งออกต้องมีต้นทุนการแลกเปลี่ยนเพิ่มสูงขึ้น กำไรในสินค้าที่ส่งออกไปก็จะน้อยลงตามไปด้วย
- ผลดีต่อการนำเข้า เนื่องจากถ้าค่าเงินของไทยเมื่อแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้เวลานำสินค้าของต่างประเทศที่เราซื้อปกติต้องใช้ 36 บาทเพื่อจะแลกเป็น 1 ดอลลาร์แล้วนำไปซื้อสินค้า เปลี่ยนเป็นนำเงินเพียง 35 บาทเพื่อจะแลกเป็น 1 ดอลลาร์ในการซื้อสินค้า ส่งผลให้ต้นทุนในการซื้อสินค้าต่างประเทศแล้วนำเข้ามาขายในประเทศมีต้นทุนที่ลดลงอย่างมาก
- ผลเสียต่อการท่องเที่ยว การที่เงินแข็งค่าขึ้นหมายความว่า นักท่องเที่ยวเวลาจะมาเที่ยวที่ไทยจะแลกเป็นเงินไทยได้น้อยลง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชะลอการที่จะมาท่องเที่ยวในไทยลดลงบ้าง
- เงินไหลเข้าประเทศมากขึ้น เมื่อต่างประเทศเห็นว่าดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้นนั่นหมายความว่า สินทรัพย์ทางการเงินไม่ว่าจะเป็นพันธบัตร หุ้นกู้ ดอกเบี้ยเงินฝาก จะต้องให้ผลตอบแทนที่มากขึ้น ส่งผลให้กระแสเงินสดจากต่างประเทศจะไหลเข้าสู่ประเทศมากขึ้น
จะเห็นว่าในการขึ้นดอกเบี้ยมีทั้งผลดีกับผลเสียทั้งในส่วนของประชาชนอย่างเราๆและภาคธุรกิจต่างๆมากมาย ดังนั้นเราควรจะมองหาประโยชน์จากสิ่งที่ถ้าดอกเบี้ยมันเกิดปรับขึ้นจริงและปรับตัวกับมันให้ได้
… แล้วมา “เอนหลังฟังเรื่องเงิน” ในตอนถัดไปกันนะคะ