ถ้าใครมีลูกเล็กที่อยู่ในช่วงวัย 1 – 2 ขวบ หรือในช่วงที่เดินได้แล้ว จะวิ่งซนมากเป็นพิเศษ เรียกได้ว่าวิ่งไล่จับกันไม่ไหวเลยทีเดียว เรามาดูกันว่าพฤติกรรมอะไรของลูกน้อยที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่สติแตกได้บ้าง จะได้อ่านและพอเตือนสติว่าไม่ใช่แค่คุณคนเดียวนะที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ พ่อแม่ทุกคนก็เจอแบบนี้เหมือนกัน
พฤติกรรมที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่แทบทนไม่ไหวกับลูก ๆ
- ไม่ยอมกินข้าว ลุกขึ้นจากโต๊ะเด็ก High Chair หรือผุดลุกผุดนั่ง
- วิ่งไป ไม่ยอมให้จูง ในที่สาธารณะ หลายครั้งคุณพ่อคุณแม่ต้องวิ่งไล่จับให้ทัน
- อาบน้ำไม่ยอมขึ้นจากน้ำ อยากเล่นต่อ
- อยากทำทุกสิ่งเอง แต่บางสิ่งเป็นอันตราย
- แต่งตัวหลังอาบน้ำด้วยความยากลำบาก อยากเล่นแป้ง ร้องไห้
- เปลี่ยนแพมเพิส (ผ้าอ้อมเด็ก) ด้วยความยากลำบาก ดิ้น ๆ หนีไป ร้องไห้
- ปีนขึ้นเตียงและชอบกระโดด
- โยนของ ปาของใส่คนอื่น
- เด็กน้อยไม่สามารถหยุดในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ และจะร้องไห้เสียงดัง โกรธถ้าพ่อแม่บอกให้หยุด เช่นให้ออกจากร้านหนังสือ หรือร้านขายของเล่น
- อยากกินอาหารในจานของผู้ใหญ่ หรือแม้แต่น้ำที่ใส่น้ำแข็งที่ผู้ใหญ่กิน ซึ่งบางทีเด็ก ๆ ไม่ควรกินของเย็น
- ไม่ยอมแปรงฟัน ถ้าแปรงฟันก็จะร้องไห้เสียงเด็ก
- เอาแต่ใจตัวเอง จะให้เราอยู่ติดเขาตลอดเวลาแม้ว่าเราต้องทำงาน
- นอนดิ้น ๆ บนพื้นกลางห้าง ไม่ยอมกลับบ้าน
จากที่เห็น 13 ข้อด้านบนเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนต้องเผชิญ และผู้เขียนเองก็สติแตกอยู่หลาย ๆ ครั้ง เพราะมันเหลืออด สิ่งเหล่านี้ต่างเป็นการเรียนรู้ที่เด็ก ๆ อยู่ในวัยดังกล่าวต้องการแสดงความรู้สึก และทำให้ทุกคนเห็น ตัวเด็กเองก็อยากทดสอบผู้ใหญ่เช่นกัน ผู้เขียนเองก็รู้สึกผิดหลายครั้งเพราะโมโหใส่ลูกไป ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ควรทำ จึงคิดหาวิธีที่จะควบคุมสติตัวเองให้อยู่แบบบ้าน ๆ ดังนี้
- เมื่อลูกเริ่มงอแงหนักมาก ขอให้เราตั้งสติก่อนว่า หลังจากนี้จะเกิดอะไร เรียกง่าย ๆ ว่าดูจิตให้รู้ทันว่าเรากำลังจะโมโห
- นับ 1 – 100 ในใจ เพื่อเป็นการดึงเวลาไม่ให้เราสติแตก
- หายใจลึก ๆ พยายามพูดเพราะกับลูก เพื่อให้ทุกอย่างดูเย็นลง
- พยายามมองในแง่ดีของลูก ว่าแต่ก่อนเขาน่ารัก พูดเก่ง
- ถ้ารู้สึกว่าตัวเองสติแตกแล้ว ขอให้เดินออกมาให้คนอื่น ช่วยดูแลลูกก่อนซักพัก หรือถ้าไม่มีคนช่วย ขอให้พูดกับเขาดี ๆ ร้องเพลงก็ได้
- ในกรณีที่เขาไม่กินข้าว ก็ให้กินเท่าที่กินได้ เครียดไปก็เท่านั้น หิวเดี๋ยวเขาก็กินเอง แต่ส่วนใหญ่ถ้าอยู่กับปู่ย่าตายเขาก็จะเดินตามป้อน ซึ่งเป็นวิธีที่ตามใจเด็กไปหน่อย แต่ก็ต้องเดินทางสายกลาง และทำใจบ้างเป็นบางเวลา
- ปล่อยวางให้ได้มากที่สุด คิดซะว่าเราทำดีที่สุดแล้ว
- กอดลูก หอมลูก และบอกว่าแม่รักหนูนะ เราเองก็จะอารมณ์เย็นลงอีกด้วย
เราควรคิดว่าโมโหลูกไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะ เขายังเด็ก พยายามให้ลูกมีรอยยิ้มและความสุขดีกว่าให้เขาร้องไห้ สร้างรอยยิ้มนั่งเล่นข้าง ๆ เขาดีกว่า ร้องเพลงกัน หรือพาไปเปลี่ยนบรรยากาศ เพราะการเปลี่ยนบรรยากาศทำให้เด็ก ๆ ลืมตัวความเอาแต่ใจตัวเองได้ซักพัก หลายคนอาจใช้วิธีการแก้ปัญหาโดยการยื่นมือถือ เปิดคลิป YouTube ให้เด็กดู ก็ต้องยอมรับว่าบางทีการที่จะควบคุมเด็กให้หยุดดื้อได้ชั่วขณะ แต่ว่าอาจจะเป็นการสร้างเงื่อนไขที่ไม่ดี อาจจะให้ดูได้ในกรณีที่ไม่ไหวจริง ๆ ถึงขีดสุด แต่อย่างที่คุณหมอแนะนำต่ำกว่า 2 ขวบไม่ควรดูหน้าจอ ถ้าเราไม่ให้เขาดูมือถือ สิ่งเดียวที่จะทำให้เด็ก ๆ หยุดดื้อได้คือต้องพาไปเปลี่ยนบรรยากาศ พาไปเดินเล่นที่อื่น เป็นต้น