ที่รู้กันแน่ ๆ แล้วก็คือกองทุนรวมเป็นการลงทุนที่น่าสนใจเพราะมีการกระจายความเสี่ยงไปในสินทรัพย์หลาย ๆ ตัว อีกทั้งยังมีการดูแลบริหารโดยผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์ คนที่ไม่เชี่ยวชาญและไม่ค่อยมีเวลาก็สามารถเลือกลงทุนได้ แต่คราวนี้พอมาถึงคำถามว่าจะต้องเลือกกองทุนแบบที่จ่ายเงินปันผลหรือไม่จ่ายเงินปันผลดี ก็ต้องกุมขมับกันอีกรอบ เพราะไม่รู้ว่าควรจะเลือกอะไร น่าจะมีหลายคนที่มีคำถามแบบนี้ อย่างนั้นตามไปอ่านบทความนี้กันดูค่ะ
กองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลก็คือเมื่อมีการบริหารจัดการกองทุนจนเกิดผลกำไรในแต่ละปี กองทุนจะมีการจ่ายเงินปันผลออกมาให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน โดยจะจ่ายในอัตราเท่าไหร่ หรือจ่ายบ่อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละกองทุน บางกองทุนก็จ่ายปีละครั้ง บางกองทุนก็จ่ายปีละ 2 ครั้ง หรือบางกองทุนจ่ายบ่อยปีละ 4 ครั้งก็มี เงินปันผลที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับ จึงเป็นกระแสเงินสดเข้ามาในระหว่างที่เรายังถือหน่วยลงทุนอยู่ กองทุนจ่ายเงินปันผลส่วนใหญ่จะไม่ค่อยโต เพราะต้องทยอยตัดจ่ายเงินปันผลออกมาเรื่อย ๆ
ส่วนกองทุนรวมที่ไม่จ่ายเงินปันผลก็คือกองทุนที่จะไม่มีการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนเลย ไม่ว่าจะบริหารกองทุนจนมีกำไรมากแค่ไหนก็ตาม โดยกำไรที่ได้จะถูกนำไปลงทุนต่อเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กองทุนไม่จ่ายเงินปันผลที่บริหารจัดการดี ๆ เราจึงเห็นมีอัตราการเติบโตที่สูงมาก แต่ทั้งนี้ก็มีความเสี่ยงด้วยอาจขาดทุนมากได้ด้วยเช่นกัน
อ่านถึงตรงนี้ก็ยังมองไม่ออกอยู่ดีว่าตกลงแล้วแบบไหนดีกว่ากัน ใช่แล้วค่ะ ถ้าอย่างนั้นต้องอ่านต่อ
- เป้าหมายของการลงทุน นักลงทุนจะต้องถามตัวเองก่อนว่าเป้าหมายในการลงทุนของคุณคืออะไร ถ้าคุณต้องการลงทุนในระยะยาว ต้องการผลตอบแทนในระยะยาว ให้กำไรจากการลงทุนถูกนำไปลงทุนต่อเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องการกระแสเงินสดในระหว่างที่ถือหน่วยลงทุนอยู่ ก็ให้เลือกกองทุนแบบไม่จ่ายเงินปันผล ตรงกันข้ามถ้าเป้าหมายของนักลงทุนคือการได้รับผลตอบแทนกลับมาแบบสม่ำเสมอ จะได้นำไปใช้จ่ายที่จำเป็น หรือไม่ก็นำไปลงทุนต่อในรูปแบบอื่นที่มีความเสี่ยงต่างกัน ก็ให้เลือกกองทุนที่จ่ายเงินปันผล อันนี้เป็นหลักการง่าย ๆ
- คุณคือใคร ที่จริงก็คล้ายกับเป้าหมายการลงทุน แต่ข้อนี้เน้นไปที่ว่าคุณเป็นใคร เช่น ถ้าคุณเป็นคนวัยเกษียณที่เลือกซื้อกองทุน ก็ควรซื้อกองทุนที่มีการจ่ายเงินปันผลมากกว่า เพื่อจะได้มีเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน วัยเกษียณคงไม่ได้ต้องการผลตอบแทนในระยะยาวมากไปกว่าเงินปันผลทยอยออกมาใช้ หรือคนทำงานอิสระหรือฟรีแลนซ์ ถ้าเลือกได้ก็ควรเลือกกองทุนแบบปันผล เพราะอาชีพเราไม่แน่นอน ไม่มั่นคงเหมือนกับคนทำงานประจำ เงินปันผลจากกองทุนจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้
- ภาษีของเงินปันผล คนส่วนใหญ่ที่เลือกลงทุนในกองทุนแบบไม่จ่ายเงินปันผล นอกจากจะหวังเรื่องผลตอบแทนในระยะยาวจากการลงทุนแล้ว ยังมองว่าเงินที่กองทุนปันผลออกมาจะต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 10% ด้วย ไม่เหมือนกับกำไรซึ่งเป็นผลต่างของราคาขายและราคาต้นทุนของกองทุนที่ไม่ต้องเสียภาษีเหมือนกับเงินปันผล นี่ก็เป็นอีกปัจจัยที่นักลงทุนหลายท่านใช้ในการลงทุน ถ้าซื้อกองทุนจ่ายเงินปันผลโดยคิดจะเอาเงินปันผลที่ได้กลับไปซื้อหน่วยลงทุนเดิม แบบนี้ก็ไม่ควรทำ ควรซื้อกองทุนแบบไม่จ่ายเงินปันผลจะดีกว่า
- ซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี สำหรับการซื้อกองทุนโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดหย่อนภาษี ควรเลือกกองทุนแบบไม่จ่ายเงินปันผลจะดีกว่า เพราะการต้องเสียภาษีจากเงินปันผลก็ทำให้ไม่คุ้มค่าในการลงทุนอย่างที่หวังอยู่แล้ว
- ควบคุมความเสี่ยง นักลงทุนส่วนใหญ่ที่ต้องการลดความเสี่ยงจากการลงทุนในกองทุนรวมตามภาวะขึ้นลงของตลาดหุ้นหรือเศรษฐกิจก็มักจะเลือกลงทุนในกองทุนที่จ่ายเงินปันผล เพราะถ้าจะมองเงินปันผลที่จ่ายออกมาในแต่ละงวดเหมือนกับเราชักทุนออกมาคืนก่อน กองทุนที่ไม่จ่ายเงินปันผลถ้าบริหารผิดพลาดเกิดเป็นผลขาดทุนก็คือขาดทุนเต็ม ๆ
สุดท้ายก็ไม่อาจฟันธงลงไปได้อยู่ดีว่ากองทุนจ่ายเงินปันผลกับไม่จ่ายเงินปันผลแบบไหนดีกว่ากันกันแน่ คงเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่จะต้องตัดสินใจ โดยดูจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างตามที่กล่าวมาข้างต้น อีกทั้งการลงทุนในกองทุนไม่ใช่จะดูแค่เรื่องปันผลหรือไม่ปันผลเท่านั้น ยังมีเรื่องอื่นที่จะต้องพิจารณาซึ่งถือว่าสำคัญมากด้วย เช่น ใครเป็นผู้บริหารกองทุน ค่าธรรมเนียมในการจัดการ ค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย สินทรัพย์ที่กองทุนเลือกลงทุน กลุ่มอุตสาหกรรมและหุ้นที่กองทุนเลือกลงทุน ถ้าเป็นกองทุนที่ออกมานานพอสมควร ก็ต้องดูเรื่องของการบริหารกองทุนในช่วงภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่ขึ้นลงด้วย คนมักจะนึกกันว่ากองทุนที่ไม่จ่ายเงินปันผลจะให้ผลตอบแทนที่เป็นส่วนต่างกำไรดีกว่ากองทุนที่จ่ายเงินปันผล ซึ่งก็ไม่จริงเสมอไป มีหลายกองทุนจ่ายเงินปันผลที่มีผลตอบแทนเอาชนะกองทุนที่ไม่จ่ายเงินปันผลได้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับฝีมือในการบริหารจัดการและเลือกสินทรัพย์ที่ลงทุนของผู้จัดการกองทุนด้วยนั่นเอง