แม้เพิ่งจะได้รับข่าวดีจากนโยบายลดภาระค่าครองชีพประชาชนของกระทรวงคมนาคม ที่ให้ศึกษาลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน แต่คนกรุงที่ใช้บริการรถแท็กซี่เป็นประจำก็ต้องเตรียมตัวรับภาระค่าเดินทางที่มากขึ้น เพราะวันที่ 15 ต.ค. นี้ ค่าแท็กซี่จะปรับราคาขึ้นตามระยะทางแล้ว
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ออกมาชี้แจงต่อนโยบายดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษารูปแบบ เงื่อนไขการอนุญาตบริการรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชั่นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นประโยชน์ต่อประชาชน พร้อมทั้งให้ศึกษาและกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถรับจ้างสาธารณะ (TAXI) ระบบปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย ซึ่งเดิมทีนั้นให้กรอบเวลาในการทำแผนงานนำเสนอพร้อมปฏิบัติภายใน 3 เดือน
เนื่องจากรถ Taxi Meter ได้รับการอนุมัติให้ปรับค่าโดยสารมาตั้งแต่ปี 2557 และเพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการรถรับจ้างสาธารณะ (Taxi) ซึ่งในปัจจุบันต้องแบกรับต้นทุนการเดินรถ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถเพิ่มขึ้น เช่น ค่าครองชีพ ราคารถ อะไหล่รถ ค่าจ้างแรงงาน และค่าเชื้อเพลิง ทำให้ผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้างมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นค่าโดยสาร โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สำหรับกรณีจราจรติดขัดรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตร/ชั่วโมง ให้ปรับราคาขึ้นจากนาทีละ 2 บาทเป็น 3 บาท รวมทั้งให้มีการปรับ Surcharge สำหรับรถ Taxi Meter ที่ให้บริการภายในท่าอากาศยาน
-
รถขนาดเล็ก ปรับจาก 50 บาท เป็นไม่เกิน 70 บาท
-
รถขนาดใหญ่ ราคาไม่เกิน 90 บาท
-
ค่าสัมภาระขนาดเกิน 26 นิ้ว จะให้บริการฟรีสำหรับ 2 ชิ้นแรก ส่วนชิ้นที่ 3 ขึ้นไปจะเก็บชิ้นละ 20 บาท
เนื่องจากเห็นว่า รถแท็กซี่ที่ให้บริการในท่าอากาศยานจะมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมากกว่ารถ Taxi ที่ให้บริการทั่วไป ทั้งด้านต้นทุนที่เกิดจากการวิ่งรถเปล่าจากตัวเมืองไปรอให้บริการที่สนามบิน ค่าใช้จ่ายที่ผู้ขับรถต้องจ่ายให้สนามบิน รวมถึงค่าเสียโอกาสที่ผู้ขับรถจะได้รับผู้โดยสารทั่วไป อย่างไรก็ตามกรมการขนส่งฯ จะประสานกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ในการออกประกาศให้ทราบต่อไป
ในส่วนของ Grab Car หรือการนำรถส่วนตัวมาวิ่งให้บริการนั้น ก็จะนำมาอยู่ในระบบเดียวกัน ซึ่งต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ที่กำหนดประเภทรถในการให้บริการ ให้สามารถนำรถส่วนบุคคลมาให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ เพื่อแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเลือกใช้บริการ
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยังเห็นด้วยกับการปรับขยายอายุรถแท็กซี่ จากเดิม 9 ปี เป็น 12 ปี แต่กำหนดเงื่อนไขว่า รถทุกคันจะต้องผ่านมาตรฐานตามที่กำหนด ซึ่งกรมการขนส่งฯ จะตรวจสอบสภาพรถทุก 3 เดือน หากพบว่ารถคันใดไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจะต้องหยุดเดินรถทันที ไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ
เมื่อมีนโยบายปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารเช่นนี้ ผู้โดยสารก็ย่อมหวังให้ผู้ขับขี่แท็กซี่ทุกคนบริการอย่างเป็นมิตร ไม่ปฏิเสธการรับผู้โดยสาร คำนึงถึงความปลอดภัย และไม่ก่ออันตรายกับตัวผู้โดยสารเอง ซึ่งถ้าปรับการบริการให้ดีขึ้น ก็ย่อมเป็นที่ยอมรับแก่ประชาชนผู้ใช้บริการอย่างแน่นอน
ที่มา
https://www.bltbangkok.com/CoverStory/คมนาคม-แท็กซี่-แท็กซี่มิเตอร์-ขึ้นค่าแท็กซี่-grab-taxiok