โควิด 19 หรือไวรัสโคโรนา ยังคงระบาดมากขึ้นทุก ๆ วัน สังเกตได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะลดลง มาตรการการควบคุมการระบาดของเชื้อก็ยิ่งเข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ จนมาถึงวันที่คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต้องกักตัวเอง 14 วัน ลดการพบปะผู้คน และไม่ออกไปจากที่พักอาศัย แพทย์ทุกหน่วยงานทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อยสุดความสามารถด้วยทรัพยากรทางการแพทย์เท่าที่มีอยู่ โดยสิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยกันได้มากที่สุดขณะนี้คือ การอยู่กับบ้านให้มากที่สุด ออกจากบ้านเมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น และมีอีกสิ่งหนึ่งที่พอจะช่วยทีมแพทย์และโรงพยาบาลได้ก็คือ การบริจาคเงินและสิ่งของจำเป็นต่าง ๆ ซึ่งช่องทางบริจาคเงินนี้ ยังมีประโยชน์ต่อผู้ให้อีกด้วยเพราะว่า บริจาคโควิด 19 ลดหย่อนภาษี ได้ ซึ่งเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการบริหารวางแผนภาษีของผู้บริจาคได้
ก่อนจะบริจาค ให้เช็คสภาพคล่องทางการเงินก่อน
ก่อนที่จะช่วยเหลือคนอื่น สิ่งที่แรกที่ต้องทำคือ การเช็คสภาพการเงินของตนเองว่าพร้อมที่จะช่วยเหลือคนอื่นหรือไม่ ทุกคนควรเตรียมเงินให้พอสำหรับค่าใช้จ่ายอย่างต่ำ 6 เดือน – 1 ปี ในกรณีที่สถานการณ์ไม่ดีขึ้น อย่าลืมที่จะบริหารรายจ่ายที่มีตามความเหมาะสม และทำงบการเงินของตัวเองเพื่อจะได้คอยตรวจสอบรายรับรายจ่ายของตนเอง ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ไม่ควรสร้างหนี้เพิ่ม เพราะฉะนั้น ขอให้ประหยัดและเก็บออมไว้เผื่อยามฉุกเฉิน จะเป็นการดีที่สุด แต่ถ้าคุณเช็คสภาพคล่องแล้วพอมีเหลือที่จะแบ่งปันช่วยเหลือผู้อื่นต่อ ก็สามารถเลือกช่องทางและดูรายละเอียดการบริจาคตามข้อมูลด้านท้ายของบทความนี้ได้
บริจาคแล้วได้อะไร ?
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า แพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน กำลังทำงานกันอย่างสุดความสามารถ และความต้องการทางด้านอุปกรณ์การแพทย์ก็มากขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งจำนวนผู้ป่วยที่ดูจะเพิ่มขึ้นรายวัน อุปกรณ์สำคัญเช่น หน้ากากอนามัย และชุด PPE ก็เริ่มจะไม่พอใช้ ทางโรงพยาบาลหรือมูลนิธิต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องเปิดรับบริจาคเพื่อให้การรักษาดำเนินการต่อไปได้ ถึงแม้ว่าคนทั่วไปจะออกไปลงแรงช่วยไม่ได้ แต่การบริจาคสมทบทุนทางการแพทย์ ก็คือการช่วยเหลือโดยตรงที่จะทำให้ประเทศไทยเราสู้สถานการณ์โควิด-19 และผ่านมันไปได้ด้วยกัน จึงถือได้ว่าผู้บริจาคก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยทีมแพทย์และพยาบาล ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
บริจาคโควิด 19 ลดหย่อนภาษี มีเรื่องอะไรที่ต้องรู้บ้าง
สำหรับผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นั้น การ บริจาคโควิด 19 ลดหย่อนภาษี ได้ สำหรับการบริจาคเข้ามูลนิธิ, โรงพยาบาล หรือหน่วยงานของรัฐ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- เงินบริจาคสนับสนุน โรงพยาบาลหรือหน่วยงานของรัฐโดยตรง จะนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
- เงินบริจาคสนับสนุน มูลนิธิหรือโครงการของโรงพยาบาลเพื่อการระดมทุน จะสามารถลดหย่อนได้ตามยอดที่บริจาคจริงเท่านั้น
- เงินบริจาคสนับสนุน โรงพยาบาลเอกชน ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
เช็คข้อมูลให้ดีว่าโรงพยาบาลหรือมูลนิธินั้นเป็นประเภทไหน จะได้ใช้สิทธิลดหย่อนได้ถูกต้อง แต่ไม่ว่าจะบริจาคช่องทางไหน ก็ถือว่าเป็นการร่วมด้วยช่วยกันให้ประเทศไทยเรามีเครื่องมือและอุปกรณ์เพียงพอในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลุ่มโรงพยาบาลที่รับบริจาคและสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้
- โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
มูลนิธิ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (กองทุนบริจาค) ธนาคารทหารไทย เลขที่บัญชี : 050-2-00002-9
- โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
มูลนิธิโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (ฬ. จุฬา สะพานบุญ) ธนาคารกสิกรไทย เลขที่บัญชี : 059-1-93894-0
- โรงพยาบาลรามาธิบดี
มูลนิธิรามาธิบดี ธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี 090-3-50015-5
- โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 016-3-00049-4
- โรงพยาบาลราชวิถี
มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 051-2-16322-1
- โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
ธนาคารทหารไทย เลขที่บัญชี 038-2-70902-0
- โรงพยาบาลนครพิงค์
ธนาคารกรุงไทย สาขาแม่ริม เลขที่บัญชี 515-0-48652-3
- มูลนิธิโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ชื่อบัญชี มูลนิธิโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เลขที่บัญชี 049-2-92670-4
ประเทศไทยเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลต่อผู้คนทั้งหมด ไม่ว่าเป็นผู้ประกอบการรายเล็กหรือรายใหญ่ ต่างก็รับผลกระทบกันไปเสียหมด ภาครัฐและภาคเอกชนที่ทำงานเต็มที่ ก็ยังต้องพึ่งพากำลังของประชาชนเพื่อให้ผ่านพ้นไปได้ เราทุกคนจึงต้องช่วยกันทุก ๆ ฝ่าย และก็หวังว่าประเทศของเราและทั้งโลก จะผ่านวิกฤตนี้ไปได้อย่างเร็วที่สุด