จ่ายเบี้ยประกันชีวิตต่อไม่ไหว ทำอย่างไรดี ?
การทำประกัน คือการโอนความเสี่ยงทางการเงินไปยังบริษัทประกัน ซึ่งเราทำประกันชีวิตเพื่อเป็นหลักประกันว่า คนที่เราดูแลจะสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้โดยไม่มีปัญหาทางการเงินในวันที่เราจากไป
โดยเราต้องจ่ายเบี้ยประกันให้บริษัทประกันภัยที่จะมีการออกกรมธรรม์ หรือสัญญาว่า บริษัทจะจ่ายเงินให้กับผู้รับผลประโยชน์ตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป หากความต้องการของเราเปลี่ยนไป หรือเราเกิดจ่ายเบี้ยไม่ไหวขึ้นมา เราจะทำอย่างไรได้บ้าง
กรณีที่ 1: ไม่ต้องการจ่ายเบี้ยอีกต่อไป และต้องการเงินสดคืน
สิ่งที่เราสามารถทำได้คือการยกเลิกสัญญากับบริษัทประกันหรือเวนคืนกรมธรรม์ หากเรายกเลิกภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ หรือภายใน Free Look Period เราจะได้รับเบี้ยที่จ่ายไปคืน หักค่าใช้จ่ายฉบับละ 500 บาท และค่าตรวจสุขภาพ (ถ้ามี) แต่ถ้าเลยระยะเวลาดังกล่าวไปแล้ว เราจะขอเวนคืนได้เมื่อกรมธรรม์มีมูลค่าเงินสดเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งมักจะเกิดเมื่อเราจ่ายเบี้ยมาแล้ว 2 ปี โดยสามารถคำนวณเวนคืนได้ดังนี้
วิธีคำนวณเวนคืน
เงินที่จะได้รับคืน = ( เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ x เงินเอาประกัน ) ÷ 1,000 หักด้วยหนี้สินใดๆ ที่ค้างชำระอยู่ (ถ้ามี)
เช่น จากตารางด้านล่าง หากเราเวนคืนหลังชำระเบี้ยมาแล้ว 5 ปี และจำนวนเงินเอาประกันภัยของเราคือ 500,000 บาท เราจะได้เงินคืน
= (59 x 500,000) ÷ 1,000 = 29,500 บาท
ตารางแสดงมูลค่าของกรมธรรม์ ต่อจำนวนเงินเอาประกันภัยเริ่มต้น 1,000 บาท
การเวนคืนกรมธรรม์ คือ เราสามารถนำเงินไปซื้อประกันอื่นหรือบริหารจัดการเงินให้ตอบโจทย์ความต้องการของเรามากขึ้น
แต่ข้อเสีย คือจำนวนเงินที่เราได้คืนมักน้อยกว่าเงินที่เราจ่ายไป เมื่อเรายกเลิกประกันฉบับหลัก สัญญาแนบท้ายก็ถูกยกเลิกไปด้วย และเมื่อเราจะทำประกันฉบับใหม่ เราอาจจะต้องจ่ายเบี้ยแพงขึ้นเนื่องจากเบี้ยประกันจะคำนวณจากอายุปัจจุบัน หรือหากมีปัญหาสุขภาพแล้ว บริษัทประกันอาจไม่คุ้มครองโรคที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ หากเราได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไปแล้วและเวนคืนก่อนครบ 10 ปี เราจะต้องเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมย้อนหลังอีกด้วย
กรณีที่ 2: ไม่ต้องการจ่ายเบี้ยอีกต่อไป แต่ยังคงต้องการความคุ้มครอง
เราสามารถเปลี่ยนสัญญาของเราเป็น “กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ” คือ ระยะเวลาคุ้มครองเท่าเดิม แต่ทุนประกันน้อยลง หรือ “กรมธรรม์แบบขยายเวลา” คือ ระยะเวลาคุ้มครองสั้นลง แต่ทุนประกันเท่าเดิมได้ โดยแจ้งความประสงค์ต่อบริษัทประกันของเรา
กรณีที่ 3: ต้องการจ่ายเบี้ยน้อยลงในระยะยาว
หากเบี้ยประกันที่เราจ่ายสร้างภาระให้เรามากเกินไป เราอาจจะสามารถลดจำนวนเงินเอาประกันได้แต่ต้องไม่ต่ำกว่าทุนประกันขั้นต่ำที่กำหนด และเราต้องไม่มีหนี้สินเกี่ยวกับการกู้กรมธรรม์อยู่ ณ ตอนนั้น หรืออาจจะสามารถเปลี่ยนแบบกรมธรรม์เพื่อให้ตรงกับความต้องการของเรามากขึ้นได้
กรณีที่ 4: จ่ายเบี้ยไม่ไหวในระยะสั้น
ประกันชีวิตของเรามีระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ย 31 วันนับจากวันครบกำหนดชำระเบี้ย หมายความว่า ภายในระยะเวลาดังกล่าว เรายังได้รับการคุ้มครองชีวิตอยู่ (บริษัทจะหักเบี้ยที่ยังไม่จ่ายออกจากทุนประกัน) ให้เรารีบหาเงินมาจ่ายให้ทันช่วงนี้
หากเลยเวลาผ่อนผันไปแล้วและสัญญามีมูลค่าเวนคืน บริษัทจะคำนวณเวนคืนเพื่อนำมาชำระเบี้ยประกันโดยอัติโนมัติ โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นไปเรื่อยๆ จนกว่ามูลค่าเวนคืนจะไม่พอจ่ายเบี้ยประกัน หรือในกรณีที่มีเงินค่าเวนคืนประกันไม่พอชำระเบี้ย บริษัทจะแปลงเป็นการประกันภัยแบบขยายเวลาหรือสัญญาแบบใช้เงินสำเร็จ ส่วนในกรณีที่ไม่มีมูลค่าเวนคืน ประกันนั้นจะขาดอายุและไม่คุ้มครองเราอีกต่อไป
อีกวิธีคือการเปลี่ยนงวดการชำระเงิน เช่น จากที่ชำระรายปี อาจจะแบ่งชำระทุกเดือน 3 เดือน หรือ 6 เดือนแทน แต่เบี้ยประกันที่ต้องจ่ายรวมทุกงวดแล้วจะสูงกว่าจ่ายแบบรายปีทีเดียว
กรณีที่ 5: ต้องการกระแสเงินสดชั่วคราว
เราสามารถขอกู้เงินจากบริษัทประกันภัยได้ถ้าสัญญายังมีผลบังคับและมีมูลค่าเงินสดเกิดขึ้นแล้ว โดยกู้ได้ไม่เกินเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ และจ่ายดอกเบี้ยทบต้น แต่เมื่อใดที่หนี้และดอกเบี้ยค้างชำระสูงกว่าเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ กรมธรรม์จะสิ้นผลบังคับทันที
มีวิธีมากมายในการจัดการกับประกันที่มีอยู่ เราจึงควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ
อ้างอิง
https://www.1213.or.th/th/Pages/finresilience/insurancepremium.aspx
https://www.1213.or.th/th/others/insurances/Pages/lifeinsurance.aspx
https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/5-pros-and-cons-of-insurance-policy-cancellation
วันที่ 29/3/2023