จับตาแฟรนไชส์แบรนด์จีน ส่งผลอะไรในไทยบ้าง
ประเทศจีน ถือเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจของโลก ที่มีอิทธิพลต่อหลายประเทศ โดยเฉพาะด้านการค้า และการลงทุน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แบรนด์สินค้าหลากหลายประเภทจากจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ได้รุกคืบเข้ามาในบ้านเราอย่างต่อเนื่องในทุกวงการ ตั้งแต่ เครื่องใช้ไฟฟ้า, มือถือ, สินค้าแฟชั่น, ของเบ็ดเตล็ด, อาหาร-เครื่องดื่ม, รถ EV, อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงบริษัท e-commerce และ Social Network ในวันนี้เราจะพาทุกคนไป จับตาแฟรนไชส์แบรนด์จีน ส่งผลอะไรในไทยบ้าง พร้อมแล้วก็ไปดูกันเลย
สินค้าจีนอยู่ในทุกมิติของคนไทย
เรียกได้ว่าสินค้า และบริการจากประเทศจีน ค่อย ๆ ซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยทีละเล็ก ทีละน้อย จนกล่าวได้ว่าในทุกมิติของคนไทยมีสินค้าจีนอยู่เสมอ ตั้งแต่อาหาร-เครื่องดื่ม แพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และรถยนต์ EV ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยจุดแข็งอย่างราคาที่ถูกกว่าสินค้าท้องถิ่น กับคุณภาพที่สมเหตุสมผล
จากนักท่องเที่ยว No.1 สู่คู่ค้า No.1
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศจีนเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของประเทศไทย รวมถึงในด้านการค้า และการลงทุน ซึ่งสำหรับประเทศจีน ไทยถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ใหม่ที่ไม่ควรมองข้าม จะเห็นได้จากหลายแบรนด์ใหญ่ที่มีสาขาทั่วประเทศจีน เริ่มเข้ามาลงทุน เปิดบริการในไทยแล้ว ล่าสุดทางแบรนด์ BYD รถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมาแรง ก็เตรียมตั้งโรงงานผลิตที่จังหวัดระยองในปี 2568 นี้ ด้วยทุนกว่า 8,000 พันล้านบาท
และอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่าง TEMU ก็เพิ่งเปิดบริการในไทยเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา กับจุดแข็งที่น่ากลัวอย่างสินค้าราคาต่ำ พร้อมประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบเกม และการจัดส่งรวดเร็วภายใน 4-9 วันจากประเทศจีน ซึ่ง TEMU สามารถตีตลาดสหรัฐอเมริกามาแล้ว ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่ม Discount Store สูงถึง 17% ในปีแรก จนทำให้เจ้าตลาดอย่าง Amazon ต้องปรับตัวเพิ่มหมวดสินค้าจีนราคาถูกมาสู้ศึกนี้เลยทีเดียว
ตัวอย่างแบรนด์จีนเจ้าใหญ่ในไทย
เครื่องใช้ไฟฟ้า
- Xiaomi
- Midea
- Hiaer
มือถือ
- HUAWEI
- Xiaomi
- OPPO
- vivo
- realme
อาหาร-เครื่องดื่ม
- Mixue
- WEDRINK
- Zhengxin Chicken
- Cotti Cofee
สินค้าแฟชั่น
- SHEIN
ของใช้เบ็ดเตล็ด
- MINISO
e-commerce
- TEMU
รถไฟฟ้า
- BYD
แฟรนไชส์แบรนด์จีน ส่งผลอะไรในไทยบ้าง
SMEs ไทยน่าห่วง
การมีสินค้า และบริการที่หลากหลายขึ้นย่อมส่งผลดีต่อผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ที่มีทางเลือกที่มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน สินค้า และบริการจากจีนที่มีราคาต่ำ ใช้งบต้นทุนที่ถูกกว่า ก็สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดได้มากกว่าแบรนด์ของคนไทยเอง เรียกได้ว่า SMEs ในบ้านเรากว่า 90% ได้รับผลกระทบแบบเต็ม ๆ ไม่ว่าจะร้านอาหาร, ร้านค้าปลีก,ธุรกิจทัวร์ สปา โรงงานผลิตรถยนต์อีวี อีคอมเมิร์ซ ธุรกิจขนส่งพัสดุ ปั๊มน้ำมัน หรือแม้แต่สินค้าเกษตรขึ้นชื่อของไทยอย่างทุเรียน ประเทศจีนก็มีการวิจัย และพัฒนาปลูกเองจนสำเร็จแล้วเช่นกัน
แม้ว่าสินค้าราคาต่ำจากประเทศจีนบางอันจะมีคุณภาพที่ไม่ดีนัก ซึ่งราคาที่ต่ำกว่า ไม่ใช่จุดแข็งเพียงอย่างเดียวของสินค้าจีน แต่เป็นราคาต้นทุน เนื่องจากกำลังผลิตที่มหาศาล จึงทำให้สามารถลดต้นทุนได้มหาศาลด้วยเช่นกัน และถือเป็นจุดที่สินค้าไทยสู้ได้ค่อนข้างยาก
ไทยจะสู้จีนได้ยังไง
เรียกได้ว่าคนไทยตอนนี้กำลังรับศึกหลายด้าน ไหนจะนโยบายรัฐบาลที่จะให้ต่างชาติเช่าที่ดินของไทยได้ 99 ปี ที่หากผ่านร่างแล้วได้บังคับใช้ก็จะยิ่งกระทบ โดยทางรองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ให้ความเห็นว่า หนึ่งในทางออกที่พอจะช่วยถ่วงดุลจีนได้บ้างคือการร่วมทุนกับจีน สำหรับภาครัฐก็ควรมีมาตรการด้านภาษี และตรวจสอบที่ช่วยปกป้องธุรกิจของคนไทย อย่างการควบคุมคุณภาพ และออกข้อกำหนดให้ใช้วัตถุดิบของประเทศไทย เป็นต้น
ทางกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2566 ขาดดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ประเทศไทยก็ขาดดุลการค้าจากจีนไปแล้วถึง 19,967 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 15.66% เมื่อเทียบกับปีก่อน สาเหตุหลักก็คือมีการนำเข้าสินค้ามากขึ้นราว 7.12% นั่นเอง
นอกจากนี้ยังระบุว่า หากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายใด ๆ เพื่อช่วยเหลือ SMEs ไทย เชื่อว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า เราอาจได้เห็นธุรกิจไทยเปลี่ยนไปอยู่ในมือของจีนกว่า 50% เลยทีเดียว ซึ่งก็คงต้องคอยจับตา แฟรนไชส์แบรนด์จีน ต่อไป