รู้หรือไม่ว่าอะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจในปัจจุบัน คำตอบก็คือการทำธุรกิจโดยปราศจากการกู้ยืมเงินทุนจากทางธนาคารนั่นเอง เชื่อว่าหลายบริษัทในหลายธุรกิจต่างก็เคยผ่านประสบการณ์ในการขอสินเชื่อกันมาแล้วทั้งสิ้น บางธุรกิจอาจอยู่ในช่วงของการรอผลอนุมัติจากทางธนาคารด้วยก็ได้ สิ่งที่ได้รับการกล่าวขานอย่างยาวนานคู่กับการขอสินเชื่อจากทางธนาคารก็คือ ความยากเย็นในการอนุมัติ และการถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อนั้นเอง
ในสภาวะทางเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน ผู้ประกอบการหลายคนเกิดคำถามว่าทำไมการขอ สินเชื่อ ธุรกิจ จึงเป็นเรื่องยากเย็นยิ่งนัก ถูกปฏิเสธทั้งที่มีแผนธุรกิจอย่างรัดกุม ซึ่งความจริงแล้วปัจจัยสำคัญในการพิจารณาไม่ได้อยู่ที่จุดนั้นเพียงอย่างเดียว แต่จะมีปัจจัยอะไรบ้างที่ธนาคารใช้พิจารณาในการอนุมัติสินเชื่อ ผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งได้ให้คำแนะนำและสุดยอดเคล็ดลับในการขอสินเชื่อไว้ดังต่อไปนี้
1. Statement หรือรายการเดินบัญชีย้อนหลัง
ธนาคารไม่ได้รู้ประวัติทางการเงินของลูกค้าทุกคน และงบการเงินของธุรกิจทุกธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SME ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะปล่อยสินเชื่อ และมากกว่า 80% ไม่มีงบการเงินมาแสดง ธนาคารจึงพิจารณาจากกระแสเงินสด หรือที่เรียกกันว่ายอดหมุนเวียนบัญชี เพื่อประเมินรายได้ ดังนั้นการประเมินจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจในการขอสินเชื่อ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเตรียม statement ให้ดี สร้างประวัติที่ดีทางการเงิน มีการเข้าออกของเงินในการทำธุรกิจอยู่อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ควรมีเงินเหลือติดบัญชี ไม่ควรถอนเงินจนหมด
2. เครดิตดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
เครดิตหรือความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญเป็นอย่างสูง ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรใส่ใจในประวัติทางการเงินของตนเอง มีวินัยในการชำระหนี้ ประวัติทางการเงินของผู้ประกอบการถือเป็นคุณสมบัติประการต้นๆ ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์
3. ระวังเช็คเด้ง!
ปัจจัยที่จะเป็นผลเสียอย่างใหญ่หลวงต่อการพิจารณา สินเชื่อ จากทางธนาคาร คือการมีประวัติเช็คคืน หรือที่เรียกกันภาษาชาวบ้านว่าเช็คเด้งนั่นเอง ผู้ประกอบการจะต้องป้องกันมิให้เกิดเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นอันขาด ถ้าไม่มีเงินในบัญชีก็ไม่ควรสั่งจ่ายเช็คออกไป เพราะนอกจากจะทำให้เกิดประวัติเสียทางการเงินแล้ว ยังอาจมีผลทางกฎหมายตามมาด้วย เชื่อเถอะว่าไม่มีธนาคารใดจะปล่อย สินเชื่อ ให้กับธุรกิจที่มีประวัติเสียในเรื่องดังกล่าวอย่างแน่นอน
4. ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย
ปัญหาอย่างหนึ่งของการขอ สินเชื่อ คือ ผู้ประกอบการไม่ยอมให้ข้อมูลตามความเป็นจริง เพราะกลัวว่าข้อมูลทางธุรกิจจะถูกเปิดเผยหรือกลัวว่าธนาคารจะไม่อนุมัติสินเชื่อจึงตกแต่งบัญชีขึ้นเพื่อให้ดูดี ซึ่งเป็นวิธีการที่ผิดอย่างมหันต์ เพราะธนาคารสามารถตรวจสอบได้ว่าประวัติทางการเงินดังกล่าวเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ ดังนั้นควรให้ข้อมูลจริง เพราะธนาคารมีหน้าที่รักษาความลับทางธุรกิจของลูกค้า และธนาคารไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้ แม้ว่าจะเป็นกรมสรรพากรก็ตาม บัญชีซื้อ บัญชีขาย สำเนาใบกำกับภาษี ใบสั่งซื้อ ใบเสร็จรับเงิน ฯลฯ เป็นเอกสารที่เป็นความลับของทางธนาคาร เพราะเป็นเอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณา ดังนั้นควรเก็บรักษาให้ดี และจัดให้เป็นหมวดหมู่เพื่อความสะดวกในการค้นหาและตรวจสอบ
5. เลือกหลักประกันให้ดี
หลักประกันที่ดีที่สุด คือ สถานประกอบการ รองลงมาคือที่ดิน สิ่งก่อสร้างหรือเครื่องจักร หลักประกันเหล่านี้จะมีประโยชน์สูงสุด ช่วยเพิ่มโอกาสในการอนุมัติและวงเงินขอสินเชื่อ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง สามารถเข้าครอบครองได้ และสะดวกในการขายทอดตลาด เพราะมีความต้องการซื้อสูง ถ้ามีปัญหาในการชำระหนี้เกิดขึ้น
6. ลูกหนี้ที่ดี ธนาคารชอบ
การทำธุรกิจ สินเชื่อ ของธนาคารไม่ได้มุ่งหวังที่จะเข้าไปครอบครองหลักประกันที่นำมาจำนองไว้แต่ประการใด แต่มุ่งหวังที่จะได้ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเพียงเท่านั้น ดังนั้นธนาคารจะดูความสามารถในการชำระหนี้เป็นหลักจึงทำให้หลักประกันเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ถึงแม้ว่าหลักประก้นจะมีมูลค่ามากมายสักเพียงไหนก็ตาม การบริหารจัดการเรื่องทางการเงินภายในบริษัทจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องจัดสรรให้ลงตัว
7. สินเชื่อก็มีผล
ปัจจุบันนโยบายของทางธนาคารได้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดเล็ก จึงทำให้เกิดขอเสนอสินเชื่อธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องมีหลักประกันขึ้น โดยจะอยู่ในรูปของสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อประกอบธุรกิจ ซึ่งมีให้บริการในทุกธนาคาร แต่สินเชื่อประเภทนี้มีความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้นคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่ต้องการขอสินเชื่อ จึงต้องสูงกว่ามาตรฐานทั่วไป ทั้งเรื่องของประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ และรายการเดินบัญชี สินเชื่อประเภทนี้สมัครและอนุมัติง่าย แต่ที่สำคัญคือมีอัตราดอกเบี้ยแพงกว่าปกติถึง 13.3% ต่อปี
8. เตรียมพร้อมเสมอ
การขอสินเชื่อที่ดีต้องมีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ นอกเหนือจากเรื่องของเอกสารแล้ว สิ่งที่จำเป็น คือ การประเมินแผนทางการเงินอย่างคร่าวๆด้วยตนเอง ว่าต้องการวงเงินสินเชื่อจำนวนเท่าไหร่ มีรายได้ต่อปีเท่าไหร่ และต้องการผ่อนชำระนานเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่