มีคำกล่าวหนึ่งที่ผู้เขียนจำได้ขึ้นใจเลยนั่นคือ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเริ่มต้นจากสถาบันครอบครัว การที่เราจะปลูกฝังหรือสร้างจิตสำนึกใน การออม ก็เช่นกัน ที่ครอบครัวจะต้องเป็นผู้ปลูกฝัง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายที่จะสอนลูกให้รู้จักการออมตั้งแต่วันนี้ เพื่อที่เขาจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รักการออมในวันหน้า หากคุณตามใจลูกในการใช้จ่าย อยากได้อะไรต้องได้ รับรองได้เลยว่าลูกคุณจะไม่มีทางรู้จักคุณค่าของเงินอย่างแน่นอน
การสอนลูกให้รู้จักใช้เงินและเก็บออมเป็นเรื่องที่พ่อแม่สามารถทำได้ไม่ยาก วันนี้เรามีเคล็ดลับดีๆมาบอกกัน
1. เป็นแบบอย่างที่ดี
ถ้าเราต้องการปลูกฝังนิสัยประหยัดรักการออมให้ลูกก็ควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อที่ลูกจะได้ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติตัว เพราะว่าเด็กส่วนใหญ่มักจะเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่และบุคคลใกล้ชิด เช่น กินข้าวให้หมดจาน ซ่อมแซมของเก่าแทนการซื้อของใหม่ ควรปฏิบัติตนในสิ่งที่สอนลูก หากพูดอีกอย่างแล้วทำอีกอย่างเด็กจะเกิดความสับสน ไม่รู้ว่าสิ่งใดกันแน่ที่ถูกต้อง เช่น บ่นลูกว่าใช้เงินเปลือง ไม่ช่วยพ่อแม่ประหยัด แต่ตนเองนั้นชอบช็อปปิ้ง ซื้อเสื้อผ้าข้าวของใหม่ทุกเดือน
การฝึกวินัย การออม นั้นทำได้โดยให้ลูกนำเงินค่าขนมที่เหลือมาหยอดกระปุกออมสินทุกวัน การที่พ่อแม่ควรเข้มงวดกับเรื่องนี้จะทำให้ลูกรู้สึกว่า การออม เงินเป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิต สิ่งเหล่านี้จะติดตัวลูกไปจนโต ทำให้เขารู้สึกว่าการออมเงินเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
3. สอนลูกจัดสรรเงิน
สอนให้ลูกรู้จักบริหารเงินค่าขนมของตัวเอง สำหรับเด็กเล็กก็อาจจะปรับจากการให้ค่าขนมรายวันเป็นรายสัปดาห์ ส่วนเด็กโตก็ปรับจากรายสัปดาห์เป็นรายเดือน ควรสอนให้ลูกทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อจะได้รู้ว่าใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง ซึ่งพ่อแม่อาจจะชักจูงให้ลูกทำบัญชีโดยการตั้งกฎไว้ว่า ถ้าต้องการขอค่าขนมเพิ่มต้องแจกแจงรายละเอียดการใช้เงิน ถ้าเงินหมดไปกับสิ่งที่ฟุ่มเฟือยก็จะไม่ให้เงินค่าขนมเพิ่ม จะได้ใช้โอกาสนี้สอนลูกว่าถ้าไม่รู้จักใช้เงินก็จะทำให้เงินหมดไม่มีเงินกินขนม เมื่อลูกโตเป็นผู้ใหญ่มีงานทำ จะได้รู้วิธีจัดสรรเงินเดือนให้พอใช้ทั้งเดือน
4. สอนลูกให้รู้ถึงความยากลำบากในการหาเงิน
อะไรที่ได้มาง่ายๆ เรามักจะหลงลืมไป แต่ถ้าอะไรที่ต้องใช้ความพยายามในการหามาอย่างยากลำบาก เราจะรู้สึกรักและหวงแหนสิ่งนั้นมากเป็นพิเศษ พ่อแม่หลายคนอาจจะปวดหัวกับการที่ลูกไม่รักษาของ ใช้ของทิ้งขว้าง ทำให้สิ้นเปลืองเงินทองต้องซื้อใหม่ ถ้าต้องการให้ลูกรู้จักคุณค่าของสิ่งต่างๆมากกว่านี้ ควรฝึกลูกโดยการให้เค้าออมเงินเพื่อซื้อสิ่งเล็กๆน้อยๆเอง เช่น ของเล่น เครื่องเขียน เพื่อที่ลูกจะได้รู้ว่ากว่าจะได้ของแต่ละชิ้นมานั้นต้องอดทนและรอคอย ลูกจะได้รู้จักคุณค่าของสิ่งต่างๆ และรู้จักรักษาข้าวของ
5. สอนลูกด้วยเหตุผล
สร้างเกราะป้องกันทางความคิดด้วยการสอนลูกด้วยเหตุผลว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นและไม่จำเป็น คิดก่อนซื้อและรู้จักตัวเอง เช่น ถ้าวันไหนไม่มีเงินค่าขนมเหลือกลับมาหยอดกระปุก พ่อแม่ก็ควรสอบถามว่าใช้เงินไปกับอะไร ไม่ควรเป็นคำถามในเชิงจับผิด แต่ให้ลูกบอกเหตุผลในการใช้เงินเพื่อปรับวิธีการใช้เงินที่ถูกต้องให้ลูก
6. ปลูกฝังเรื่องวิธีการใช้เงินอย่างฉลาด
อธิบายให้ลูกเห็นภาพว่าวิธีใช้เงินที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร เงินที่ใช้นั้นมาจากการทำงานของพ่อแม่ เพื่อให้ครอบครัวมีบ้าน มีรถยนต์ มีของกิน มีค่าเล่าเรียน ฯลฯ สอนให้ลูกรู้จักใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด
พ่อแม่ไม่ควรคิดแต่เพียงว่าพูดไปลูกก็ไม่เข้าใจ เพราะลูกยังเด็ก รอให้เขาโตกว่านี้แล้วค่อยสอนก็ได้ แต่พ่อแม่ก็มักจะเห็นลูกเป็นเด็กอยู่ตลอดเวลาแล้วเมื่อไหร่จะได้เวลาสอนเรื่องเงินให้ลูกล่ะ เด็กสมัยนี้ฉลาด สามารถเข้าใจสิ่งต่างๆได้ เพราะฉะนั้นควรค่อยๆปลูกฝังให้ลูกทีละน้อย ไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกโต
ยิ่งเราปลูกฝังความคิดด้านการเงินให้ลูกเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกับลมหายใจที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ แต่กลับเป็นสิ่งที่เรารู้จักมันน้อยที่สุด การทำความรู้จักเงินนั้นต้องเริ่มมาตั้งแต่ยังเด็ก ว่าควรใช้เงินอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อที่จะเติบโตขึ้นกลายเป็น ผู้ใหญ่ที่รู้จักใช้เงินในอนาคต