ยังจำกันได้หรือเปล่า ครั้งหนึ่งเราเคยร่วมประสบการณ์ส่งข้อความ sms หากัน ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายเป็นเงาตามตัว จนมาวันหนึ่งผู้ผลิตมือถือชื่อดัง Blackberry ก็ได้เข้ามาสร้างปรากฎการณ์ ขอ PIN เธอหน่อย ขึ้นมาในช่วงประมาณปี 2009 – 2011 ยุคนั้นเป็นยุคทองที่บรรดาเซเลปและดาราดัง ๆ ต่างก็ถือ Blackberry กันทั้งนั้น ยิ่งมีระบบการส่งข้อความหากันได้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ แบบฟรี ๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายด้วยแล้ว ใคร ๆ ก็ยกให้เป็นฟังค์ชั่นสุดชิคที่ควรค่าแก่การครอบครองของช่วงสมัยนั้น
แต่จุดเด่นและจุดด้อยที่มาพร้อมกันของ BBM ก็คือ เป็นการ chat เฉพาะคนที่ใช้ BB เหมือนกันเท่านั้น ซึ่งแปลว่าถ้าอยากร่วมวงก็ต้องใช้ BB เหมือนกัน จากจุดเด่นจึงทำให้ BBM กลายเป็นจุดด้อยขึ้นมาทันที เมื่อ 2 เพื่อนซี้ Jan Koun และ Brian Acton ทั้งคู่เคยทำงานในส่วนการจัดการแพลตฟอร์มให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน search engine อย่าง Yahoo มาก่อนด้วยกันนานถึง 10 ปี แล้วจึงตัดสินใจลาออกในปี 2007 ไปท่องเที่ยวพักผ่อนแบบสโลว์ไลฟ์ 1 ปีเต็ม ๆ พอเข้าปี 2009 ก็ไปสมัครงานที่ Facebook แต่ถูกปฏิเสธ และนั่นเองที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของ 2 หนุ่มไปทันที เมื่อพวกเขาเกิดคำถามที่ว่า ทำไมต้องส่งแชทคุยกันได้แค่ Blackberry ด้วย และกลายเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาสนใจขึ้นมาว่า แล้วถ้าเราใช้ผ่าน iPhone ที่มี App Store นี่หล่ะ น่าจะเป็นช่องทางเปลี่ยนหน้าอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ได้แน่ ๆ มันต้องมีระบบอะไรสักอย่างที่สามารถเชื่อมการสื่อสารระหว่างคนที่ใช้ iPhone กับ คนที่ใช้ Blackberry ได้สิ จากนั้นในปี 2011 – 2012 Whatsapp ก็ออกมาอวดโฉมน่าใช้สะกดจิตโดนใจผู้คนถล่มทลายเพราะสามารถใช้ได้ทั้งกับระบบปฏิบัติการ iOS และ Android, ดีไซน์หน้าตาการ chat ก็สวย แล้วยังมี emotion icon ให้เล่นสนุกอีกด้วย เรียกได้ว่า Blackberry เงิบหงายหายไปจากเวทีในบัดดลค่ะ
เคยมีการนำอัตราการเติบโตของ Whatsapp มาเทียบกับรุ่นพี่ในวงการอย่างสื่อโซเชียลอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น twitter, gmail, skype และ facebook โดยลองสมมุติว่าถ้าทั้งหมดนี้เริ่มจากจุดสตาร์ทปล่อยตัวปรี๊ดพร้อม ๆ กัน แล้วมาดูว่าใครจะมียอดลูกค้ามากกว่ากัน ผลปรากฎว่าในระยะเวลา 4 ปีเท่า ๆ กันนั้น ยอดของผู้ใช้บริการผ่าน facebook คือ 145 ล้านคน ในขณะที่ยอดของผู้ใช้บริการ Whatsapp จะสูงถึง 450 ล้านคนค่ะ ชนะขาดลอยหลายช่วงตัวไปเลย ณ จุดนี้ และถึงแม้ว่า Facebook Messenger จะมีฟังก์ชั่นการสนทนาไว้ให้บริการอยู่ด้วยเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่สามารถตีไข่แตกสร้างแรงกระตุ้นให้คนหามาคุยกันผ่านระบบ Facebook Messenger นี้ได้เท่ากับ Whatsapp ค่ะ
แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะค่ะ จำนวนยอดผู้ใช้ที่สูงของ Whatsapp นั้น แท้จริงแล้วมาจากฐานผู้ใช้งานในยุโรป, ละตินอเมริกา และ แอฟริกา เป็นหลักซึ่งแน่นอนว่าทั้งในเรื่องอุปนิสัยใจคอและความชอบจะแตกต่างกับฟากฝั่งเอเซียค่อนข้างมากเลยทีเดียว
ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนหน้าศักราชเข้าสู่ยุคของปี 2013 ผู้นำด้านระบบ chat ก็เปลี่ยนเป็น LINE ที่เข้ามายึดตลาดและจับใจผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ไปอย่างสวย ๆ ด้วยฟีคเจอร์โดน ๆ มันส์ ๆ ไม่ว่าจะเป็น การส่งข้อความ, ส่งเสียง, ส่ง vdo, โทรฟรีผ่าน LINE Call และฟีคเจอร์ที่เป็นมนต์เสน่ห์มัดใจผู้ใช้บริการมากที่สุดก็คือ sticker แสดงอารมณ์ chat หลาย ๆ แบบโดยเริ่มมาจากตัว Moon, Cony, Brown และเพื่อน ๆ ที่ต่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เมื่อ LINE มีครบทั้งฟังก์ชั้นการใช้งานที่หลากหลาย, ลูกเล่นด้านอารมณ์ด้วยการใช้สื่อท้องถิ่นและสื่อโฆษณาเล่าเรื่องการใช้งาน LINE ที่ทำให้คนเกิด Brand Awareness อย่างโฆษณาที่เป็นเด็กวัยแรกเกิดนั่งจิ้มสติ๊กเกอร์ LINE คุยกับพ่อ นับเป็นก้าวแรกที่สามารถสร้างกระแสการตอบรับและเข้าตะปบตลาดเอเซียไปได้อย่างลอยลำค่ะ
จากความสำเร็จของ Whatsapp ที่เคยสวยงามจนใคร ๆ ต่างพากันชื่นชมว่าเป็นไอเดียสร้างสรรทำเงินมหาศาลโดยไม่ต้องใช้เงินสักบาท ก็สามารถสร้างประวิติศาสตร์ด้วยการมีผู้ใช้งานมากกว่า 450 ล้านคนจากทั่วทุกมุมโลก แต่เพียงแค่ช่องว่างเล็ก ๆ ที่ Whatsapp พลาดก็คือกลยุทธ์ด้าน Localization อย่างในกรณีประเทศไทยบ้านเรานั้น เห็นชัด ๆ ว่าเมื่อตอนแรกเริ่มที่ Whatsapp ก้าวเข้ามานั้น พี่ไทยอย่างเราก็เวลคัมให้การต้อนรับเป็นอย่างดี จน Blackberry เสียขบวนกันไปเลยทีเดียว แต่ Whatsapp ก็ใช้โอกาสทองที่มีในตอนนั้นทำหน้าที่ของตนเท่าที่เป็นอยู่แค่ cross-platform messaging เท่านั้น และไม่ได้ปรับตัวเองให้ Local ไปกับรูปแบบการใช้งานของคนไทยเลย เมื่อ LINE ก้าวเข้ามาด้วยฟีคเจอร์ที่น่ารักกว่า เจอหมัดฮุกใต้คางแบบนี้ Whatsapp ก็เลยล้มทั้งยืนลงไปนอนนับดาวเลยหล่ะค่ะ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้ยังคงมีตลาดในบางประเทศที่ Whatapps ยังยึดครองไว้ได้อยู่ และกลยุทธ์ Localization ของ LINE ยังไม่สามารถทะลุทะลวงเข้าไปได้ การเจาะตลาดท้องถิ่นให้ได้มานั้น LINE ต้องใช้เวลาหาข้อมูลผู้ใช้บริการและออกแบบ sticker ไปตามจีบผู้ใช้กันสักพักใหญ่ ๆ ทีนี้ ก็อยู่ที่ว่า หลังจาก Facebook ได้กระโดดลงมาเล่นในตลาด instant chat นี้ด้วยการเข้าซื้อกิจการจาก Whatsapp ในมูลค่ามากถึง 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น จะสามารถดึงเกมแลกหมัดกับ LINE ได้มากแค่ไหนค่ะ บางทีนี่อาจจะเป็น ยกที่ 2 ของ การสู้ศึกที่เข้มข้นขึ้นระหว่าง Whatsapp กับ LINE ที่น่าตามเชียร์ทั้งคู่ก็ได้นะคะ