เชื่อว่าหลายๆ คนคงมีการเล่นหุ้นอยู่บ้างไม่มากก็น้อย … บางคนเล่นเพื่อเก็งกำไร ซื้อเร็ว ขายเร็ว แต่บางคนก็เล่นเพื่อการลงทุน เล่นเพื่อการออม และถือหุ้นไว้ยาว รอรับเงินปันผลในแต่ละงวด หากบางคนที่เล่นหุ้นเพื่อการออม เพื่อการลงทุน ดังนั้นก็ควรที่จะรู้ สิทธิของผู้ถือหุ้น ไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นสิทธิที่เราได้มาตามกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยให้สิทธิกับผู้ถือหุ้นอย่างเราๆ ไว้ 2 สิทธิ ได้แก่ สิทธิขั้นพื้นฐาน และสิทธิในการบริหารบริษัท
อ้อ อีกเรื่อง อ่านงบเป็นหรือยัง ? ถ้ายังอ่านเลย ! >>>> มาหัด อ่านงบการเงิน ก่อนไปลงทุนหุ้นกันเถอะ <<<
เรามาเริ่มที่สิทธิขั้นพื้นฐานกันก่อนเลย …
- สิทธิพื้นฐานข้อแรก
คือ สิทธิในการรับทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน ว่าจะเลือกลงทุนในหุ้นของบริษัทหรือไม่ โดยผ่านหนังสือชี้ชวนการเสนอขายหุ้น และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบรายงาน 56-1) เพื่อให้เราได้ทราบข้อมูลของบริษัท เช่น บริษัทประกอบธุรกิจอะไร มีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร มีโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจมากน้อยแค่ไหร รวมถึงขั้นตอนและวิธีการเสนอขายหุ้นนั้นเป็นอย่างไรบ้าง และภายหลังจากที่เราได้ลงทุนไปแล้ว เราก็มีสิทธิที่จะได้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง โดยเราสามารถดูได้จากหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น งบการเงินและรายงานประจำปีของบริษัท
- สิทธิพื้นฐานข้อที่สอง
คือ สิทธิในการได้รับเงินปันผล นั่นก็คือ เมื่อบริษัทมีผลกำไรสุทธิที่เกิดจากการดำเนินงาน บริษัทก็จะแบ่งกำไรสุทธิมาจัดสรรเป็นเงินปันผลจ่ายตอบแทนให้กับเราในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัท เช่น บริษัทจะจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 25% ของกำไรสุทธิ เป็นต้น แต่บางครั้งบริษัทก็อาจจะขอที่จะไม่จ่ายเงินปันผล หรือจ่ายในจำนวนเงินที่ไม่เป็นไปตามนโยบายที่กำหนด ซึ่งขึ้นอยู่กับแผนการลงทุนและการบริหารงานของบริษัท แต่อย่างไรก็ตามการจ่ายหรือไม่จ่ายเงินปันผลก็จะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อน
- สิทธิพื้นฐานข้อที่สาม
คือ สิทธิในการจองหุ้นออกใหม่ หมายความว่า เมื่อบริษัทมีความต้องการหาเงินทุนใหม่หรือต้องการเพิ่มทุนให้กับบริษัท บริษัทจะให้สิทธิแก่เราในการซื้อหุ้นที่ออกใหม่ ในการเพิ่มทุนก่อนที่จะขายให้กับคนอื่น เพราะการให้สิทธิแก่เราที่เป็นผู้ถือหุ้นเดิมนั้น เป็นการปกป้องไม่ให้สัดส่วนความเป็นเจ้าของและอำนาจในการควบคุมกิจการของเราลดน้อยลงเมื่อบริษัทมีหุ้นออกจำหนายมากขึ้น
ทีนี้เรามาดูสิทธิที่สองที่เราได้เมื่อลงทุนในหุ้น คือ
สิทธิในการมีส่วนร่วมบริหารงานของบริษัท
ตั้งแต่การเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น การออกเสียงตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ของบริษัท การเพิ่มวาระการประชุม การเพิกถอนมติที่ประชุม รวมไปถึงการฟ้องร้องคดี และการได้รับความคุ้มครองต่างๆ จากกฎหมาหลักทรัพย์ ซึ่งการใช้สิทธิในการบริหารงานของเรานั้น จะอยู่ในรูปแบบของสิทธิการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นและการออกเสียงในที่ประชุม ผู้ถือหุ้น โดยเราสามารถไปใช้สิทธิได้โดยผ่านการประชุมสามัญประจำปี ที่ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ประมาณเดือนมีนาคมหรือเมษายนของทุกปี หรือผ่านการประชุมวิสามัญ ซึ่งจัดขึ้นระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร และอาจจะเชิญหรือไม่เชิญเราเข้าร่วมก็ได้ แล้วแต่เงื่อนไขของบริษัทในแต่ละวาระการประชุม
ในการประชุมสามัญและวิสามัญในแต่ละครั้ง บริษัทจะต้องมีหนังสือแจ้งการประชุมพร้อมกับวาระและรายละเอียดการประชุม ซึ่งเราในฐานะผู้ถือหุ้นก็ควรที่จะศึกษาทำความเข้าใจกับข้อมูลต่างๆ ให้ถ่องแท้ สำหรับนำไปประกอบการตัดสินใจลงคะแนนในเรื่องต่างๆ หากมีเรื่องสงสัยเราก็สามารถนำไปถามในที่ประชุมได้เช่นกัน ส่วนสิทธิที่เราจะได้ในการออกเสียง ก็คือ 1 หุ้น จะเท่ากับ 1 เสียง หากเรามี 1,000 หุ้น เราจะได้รับสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุม 1,000 เสียง โดยสัดส่วนการออกเสียงอนุมัติในแต่ละวาระก็จะขึ้นอยู่กับเรื่องที่จะอนุมัติ เช่น การแต่งตั้งผู้สอบบัญชี การจ่ายค่าตอบแทนกรรมการบริษัท การรับรองงบการเงิน ก็ใช้เสียงสนับสนุนเพียง 2 ใน 3 แต่ถ้าเป็นการแก้ไขข้อบังคับของบริษัท การขายหรือโอนกิจการให้บุคคลอื่น ก็อาจจต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุม
เห็นหรือไม่ว่าเมื่อเราได้ลงทุนในหุ้นแล้ว เราได้รับสิทธิในการบริหารงานเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นได้ก็น่าที่จะเข้าร่วมด้วย เพราะถือว่าเป็นโอกาสอันดีในการได้พบคณะกรรมการและซักถามเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัท แต่ถ้าหากเราไม่สามารถเข้าร่วมได้ เราก็สามารถมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าร่วมประชุมแทนได้ เช่น การมอบอำนาจให้กรรมการอิสระของบริษัท เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อเราได้สิทธิมาจากการลงทุนในหุ้นแล้ว ก็อย่าลืมที่จะรักษาสิทธิของเราด้วยนะ