จากข้อมูลการสำรวจการตลาดของบริษัท ทู ทรี เปอร์สเปกทีฟ เผยถึงโอกาสของการทำธุรกิจผ่านสื่อโมบายมาร์เก็ตติ้งไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า ผลประกอบการช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2558 นี้
รายได้จากการลงโฆษณาผ่านแอพริเคชั่นบนมือถือของเฟซบุ๊กนั้น มากถึง 76% ในขณะที่อาลีบาบาได้ไปถึง 51% ค่ะ โดยผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลก ณ เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 นั้น มีจำนวนมากกว่า 2,000 ล้านคน หรือ สามารถกินสัดส่วนของประชากรทั้งหมดไปได้ถึง 28% ซึ่งประกอบไปด้วยชาวจีน 585 ล้านคน, อาเซียนรวมกันได้ 182 ล้านคน และ คนไทยประมาณ 37 ล้านคน และยังได้มีการคาดการณ์อัตราการเติบโตของผู้ใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนทั่วโลกจะสูงถึง 6,100 ล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2563 ค่ะ
อ่านเพิ่มเติม >> เปิด กลยุทธ์ความคิด พลิกแบรนด์ให้บูมในยุคตลาดดิจิตอล <<
สิ่งที่น่าสนใจเชิงการตลาดเพื่อธุรกิจ
ก็คือในจำนวนประชากรทั้งหมดจะมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนถึง 80% ที่ใช้งานผ่านแอพริเคชั่น และมีเพียง 20% เท่านั้นที่จะหาข้อมูลบนเบราเซอร์ค่ะ นอกจากนี้ ยังได้เคยมีจากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคที่ผ่านมา พบว่าคนไทยใช้เวลากับการก้มมองจอและเล่ยสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน
ภาพสะท้อนพลังของสื่อโซเชียลมีเดียที่มีผลต่อการทำโฆษณาที่เน้นไปยังกลุ่มเป้าหมายในช่วงอายุระหว่าง 18 – 34 ปีนั้น ชี้ชัดว่ากลุ่มคนวัยนี้เริ่มจะเมินการเสพสื่อผ่านช่องทางหลักเดิม ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ การโฆษณาที่จะเรียกความสนใจและกระตุ้นความต้องการซื้อของคนกลุ่มนี้ได้คือ การสื่อสารผ่านโลกโซเชียลมีเดียมากกว่า และที่สำคัญก็คือ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้จะไม่ใช่กระแสที่เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่ม แต่จะเป็นแนวโน้มของการตลาดในอนาคตอีกด้วยค่ะ
คุณธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทู ทรี เปอร์สเปกทีฟ ได้เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับช่วงยุคต่าง ๆ ของ กลยุทธ์ Mobile Marketing ไว้กับหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ว่า
- ยุคโมบาย 1.0 เป็นยุคแรกของการทำโมบายแอพริเคชั่น ซึ่งก็คือการสร้างแอพขององค์กรและแบรนด์สินค้าต่าง ๆ หรือไม่ก็ แอพเกม ถัดมาก็คือ
- ยุคโมบาย 2.0 เป็นช่วงที่องค์กรต่าง ๆ เริ่มหันมาให้บริการผ่านโมบายแอพริเคชั่นกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายของ, e-book หรือ สื่อออนไลน์ต่าง ๆ ที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับการใช้งานบนมือถือสมาร์ทโฟนโดยเฉพาะ และเมื่อมาถึง
- ยุคของโมบาย 3.0 เทรนด์การใช้โมบายมาร์เก็ตติ้งจะเริ่มส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมมากขึ้น เหมือนอย่างเช่นทุกวันนี้ เราเริ่มโอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคารบนมือถือ (โมบายแบงค์กิ้ง), เริ่มทำการค้าขายบนมือถือ หรือที่เรียกว่า โมบายคอมเมิร์ช และ เริ่มชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ (โมบายเพลย์เมนต์)
แน่นอนว่าอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วของผู้ใช้งานบนมือถือ ทำให้มีการหันมาทุ่มโฆษณาบนแอพลิเคชั่นกันมากขึ้น เพราะข้อดีที่ผู้ประกอบการและแบรนด์ดังจะได้กลับมาก็คือ ข้อมูลทุกอย่างของผู้ใช้สมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งที่เขาชอบทำอะไร, ไปที่ไหน, ชอบอ่านอะไร ซึ่งจะเป็นกุญแจให้แบรนด์เจ้าของสินค้าสามารถเลือกเจาะตลาดได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น หรือ อาจจะสามารถนำเสนอเนื้อหาที่โดนใจกลุ่มเฉพาะนั้นได้มากยิ่งขึ้นค่ะ
ในเมื่อ กลยุทธ์ Mobile Marketing คือเทรนด์ระดับโลกที่น่าจะมาแรงในปี 2016 ที่จะถึงนี้ ในงาน Mobile Day ที่จัดขึ้นที่นิวยอร์คเมื่อไม่นานมานี้ หลายแบรนด์ดังจากสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างก็มาร่วมสนทนาและเผยกลยุทธ์ในการทำตลาดโมบายมาร์เก็ตติ้ง เริ่มจากสื่อโซเชียลตัวพ่ออย่าง Facebook ที่เน้นเรื่องการจับความสนใจให้ได้ใน 3 วินาทีแรก ด้วยฟังก์ชั่นใหม่ ๆ ที่ให้เปิดช่องให้แบรนด์สินค้าสามารถลงเป็นรูปภาพวีดีโอได้ โดยที่ระบบจะตั้งค่าการเล่นวีดีโอไว้เป็นแบบอัตโนมัติและจะขึ้นมาบนหน้า New Feed ของทุกระบบเครือข่ายสัญญาณ แต่ภาพวีดีโอจะแสดงออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวที่ไม่มีเสียง หากกลุ่มเป้าหมายสนใจก็สามารถคลิ๊กเข้าไปดูภาพวีดีโอก็จะขึ้นเต็มจอพร้อมเสียง ซึ่งคลิปวีดีโอสั้น ๆ นั้นก็สามารถสื่อให้ลูกค้ารับทราบข้อมูลได้แล้ว
แต่สิ่งสำคัญคือวีดีโอจะต้องกระตุ้นให้คนสนใจให้ได้ภายใน 3 วินาทีแรก เพื่อให้ลูกค้าหยุดสนใจดูต่อไปอีก 5 – 10 วินาที และเมื่อไรก็ตามที่ลูกค้าคลิ๊กเข้าไปดูเนื้อหาวีดีโอจนจบใน 10 นาที นั่นแหละสำเร็จได้ผลจริง ๆ รูปแบบโฆษณาลักษณะนี้จะตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบรับข้อมูลให้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งคิปวีดีโอสั้น ๆ เพียงไม่กี่วินาทีและไม่มีเสียง จะกลายเป็นจุดเด่นที่จุดประกายความอยากรู้ของกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดีค่ะ
ในขณะที่สื่อออนไลน์อย่าง Twitter ให้ความสำคัญกับการทำการตลาดผ่านบุคคลมีชื่อเสียง ที่ใคร ๆ เรียกว่า “เซเล็บ” แต่ในนิยามของ Twitter นั้น เซเล็บ ไม่ใช่ดาราคนดัง หรือ ไฮโซชั้นแนวหน้าอีกต่อไป แต่เซเล็บอาจจะเป็นคนธรรมดาที่กลายเป็นคนดังเพียงชั่วความคืนจากการโพสอะไรบางอย่าง หรือ มีความสามารถโดดเด่นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เขาหรือเธอคนนั้น ก็จะกลายเป็นคนที่มียอด Follower หลักแสนไม่ก็หลักล้านและกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลบนสื่อโซเชียลทันที บางครั้งแบรนด์สินค้าที่ใช้การโฆษณาผ่านกลุ่มเซเล็บหน้าใหม่นี้ อาจจะเจาะตลาดได้ตรงเป้ากว่าการจ้างดาราดังระดับซุปเปอร์สตาร์มาเป็นพรีเซนเตอร์ซะอีกค่ะ
แม้กลยุทธ์ของ 2 เจ้าพ่อยักษ์ใหญ่สื่อโซเชียลจะเน้นกันไปคนละด้าน เดินไปคนละสไตล์ แต่ทั้งคู่ก็ใช้กลยุทธ์ตีเนียนว่าด้วยการทำการตลาดโดยที่ไม่ทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้ตัวว่ากำลังถูกสื่อป้อนข้อมูลให้อยู่นั่นเองค่ะ ยิ่งในปี 2558 เป็นปีแรกที่ยอดผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนทั่วโลกสูงกว่ายอดผู้ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปไปแล้วค่ะ กลยุทธ์ Mobile Marketing จึงเป็นกลยุทธ์ใหม่ที่แบรนด์ธุรกิจน่าจะหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นได้แล้วค่ะ