ถ้าคุณ ๆ เคยได้อ่านเรื่องราวของมหาเศรษฐีระดับโลกท่านอื่น ๆ มาบ้าง ก็อาจจะพอทราบว่ามหาเศรษฐีระดับโลกหลาย ๆ ท่านนั้นล้วนร่ำรวยและสร้างฐานะมาจากความมานะและลำแข้งของตนเองเป็นส่วนใหญ่ น้อยคนที่จะได้รับมั่งคั่งจากมรดกตกทอดจากตระกูลของตนเองค่ะ สำหรับคาร์ลอส สลิม เฮรู ผู้ที่ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีระดับโลกเป็นอันดับที่ 1 มา 4 ปีซ้อนด้วยจำนวนทรัพย์สินที่มากมายมหาศาลถึง 73,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรืออาจจะพูดได้ว่าเขาสามารถสร้างรายได้วันละ 27 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 918 ล้านบาทต่อวันค่ะ
โอ้ว…ไม่ธรรมดาจริง ๆ ใช่ไหมคะ ความสำเร็จของเขาในวันนี้นอกจากจะมาจากความประหยัด, ขยันจริงจัง, มองเกมส์ธุรกิจได้เฉียบขาดแล้ว เขายังเป็นอีกคนที่พร้อมกล้าชนกับงานทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาแบบเปิดเผยหรืองานท้าทายแบบลุยใต้ดินก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นอุปสรรคของเขาคนนี้แม้แต่น้อยค่ะ
คาร์ลอส สลิม เฮรู หรือ Carlos Slim Helu Aglamaz เป็นลูกชายของผู้อพยพชาวเลบานอนที่เข้ามาตั้งรกรากกันในประเทศเม็กซิโกค่ะ โดยพ่อของเขา “จูเลียน สลิม” ได้แต่งงานกับแม่ของเขา “โดนญา ลินดา เอลู” หญิงเม็กซิโกสัญชาติเลบานอน พื้นฐานของครอบครัวคาร์ลอส สลิม นั้นทำการค้าแต่เป็นแค่ร้านเล็ก ๆ เท่านั้น ซึ่งในช่วงที่เขายังเด็ก พ่อของเขามักจะสอนให้เขารู้จักจดบันทึกรายรับรายจ่ายอยู่เป็นประจำ นี่อาจจะเป็นอีกอุปนิสัยหนึ่งที่เขาได้รับการปลูกฝังจากครอบครัวให้รู้คุณค่าของเงินแต่ละเหรียญ จึงทำให้เขาขึ้นชื่อเรื่องของความประหยัดค่ะ ตัวของคาร์ลอส สลิมเองนั้นได้เรียนจนจบระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติของเม็กซิโก แต่เขากลับเลือกที่จะมาเป็นโบรกเกอร์หุ้นและหลงใหลในการลงทุนเล่นหุ้นเป็นอย่างมาก ช่วงชีวิตของคาร์ลอส สลิม มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญครั้งแรกก็เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ขึ้นในกลุ่มประเทศทางละตินอเมริกา ส่งผลกระทบกับภาพรวมของธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ จังหวะนี้เองที่คนตัวเล็ก ๆ อย่างคาร์ลอส สลิม ได้สร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ให้กับธุรกิจในประเทศเม็กซิโกเป็นครั้งแรกค่ะ
เพราะในช่วงที่คนรวยบางคนล้มทั้งยืน เจ็บกันระนาว แต่คาร์ลอส สลิมกลับจับวิกฤตในครั้งนี้มาเป็นโอกาสตั้งตัวของเขาได้สำเร็จ เมื่อเขานำเงินเก็บออกมากว้านซื้อกิจการที่กำลังพังพินาศรอวันที่จะปิดตัวลงมาในราคาที่ถูกสุด ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับการผลิตน้ำดื่ม และ ธุรกิจด้านการสื่อสารต่าง ๆ จากนั้นเขาก็นำกิจการของบริษัทต่าง ๆ เหล่านั้น มาปัดฝุ่นให้กลายมาเป็นสินทรัพย์มาแรงมูลค่าสูงในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้นค่ะ และในช่วงเวลาเดียวกัน เขาก็กระจายการลงทุนไปลงเงินเปิดสถาบันการเงินของตัวเองชื่อ “อินเบอร์ซาไฟแนนเชียล กรุ๊ป” และก็ยังมีด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างกลุ่มบริษัท “กรูโป คาร์โซ อินดัสเทรียล” อีกแห่ง ส่งผลให้เขาสามารถเป็นเจ้าของกิจการที่มีความหลากหลายสุด ๆ ทั้งร้านค้าปลีก, เครือข่ายร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า และก็ร้านอาหารอีกด้วยค่ะ
อ่านเพิ่มเติม >> คาร์ลอส สลิม นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ อันดับ 1 <<
แต่ถ้าถามว่ากิจการหลัก ๆ ที่ทำรายได้ให้เขาอย่างมหาศาลที่สุดก็น่าจะเป็นธุรกิจด้านการสื่อสาร โดยบริษัทที่เขาดูแลนั้นเป็นบริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานชื่อ “เทเลโฟนอส เดอ เม็กซิโก” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “เทเลเม็กซ์” เดิมทีนั้นอยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลเม็กซิโกค่ะ จนกระทั่งเมื่อปี 1990 ได้มีการเปิดประมูลชุดใหญ่ขึ้น และในครั้งนั้น คาร์ลอส สลิม ตัดสินใจทุ่มเงินมากถึง 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อซื้อหุ้นของเทเลเม็กซ์มาครองค่ะ นับเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าธุรกิจในเม็กซิโกครั้งใหญ่อีกครั้งเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะในปี 1990 เป็นช่วงที่รัฐบาลเม็กซิโกเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาปรับเปลี่ยนภาครัฐวิสาหกิจกันมากขึ้น และการลงทุนลงเงินครั้งนี้ของคาร์ลอส สลิม ทำให้เทเลเม็กซ์ เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานแบบผูกขาดเบ็ดเสร็จของเม็กซิโก เพราะกินส่วนแบ่งการตลาดไปมากถึง 92% ค่ะ และถ้านำไปรวมกับสัดส่วนของบริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือเทลเซลที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 80% ด้วยหล่ะก็ เหมือน ๆ กับคาร์ลอสยึดการระบบการสื่อสารของประเทศนี้ไปเลยค่ะ
ถ้าเราจะวิเคราะห์หาที่มาของ ความมั่งคั่งทางการเงิน อย่างยิ่งใหญ่ของคาร์ลอส สลิม ก็คงอดนึกไม่ได้ว่าน่าจะเป็นการรู้จักฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจได้ก่อนคนอื่น ๆ, การรู้จักสร้างคอนเน็คชั่นในทุกรูปแบบทั้งเชิงการค้าและแนวการเมือง ซึ่งก็คือวิสัยทัศน์ที่เฉียบขาดของเขา จนทำให้ไม่มีคู่แข่งในตลาดเหลือรอดเลย ซึ่งกลเม็ดเคล็ดลับนี้ตัวเขาเองบอกว่าเขาได้มาจากการอ่านหนังสือ”ฟิวเจอร์ ช็อค” ของอัลวิน ทอฟเลอร์ นักเขียนระดับปรมาจารย์แนวการตลาดระดับโลกนั่นเองค่ะ นอกจากเราจะเห็นมุมของคาร์ลอส สลิม ในแง่ของนักธุรกิจ นักลงทุนแล้ว คาร์ลอส สลิมยังให้ความสำคัญกับโครงการด้านสังคมอื่น ๆ อีกด้วยไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิบิลและเมลิดา เกตส์ ของเจ้าพ่อแห่งวงการไอทีอย่างบิลล์ เกตส์ โดยคาร์ลอส สลิมได้ฝากข้อคิดให้กับนักธุรกิจทั้งหลายด้วยว่า
“การเป็นคนรวยนั้น ก็คล้าย ๆ กับว่าเราเป็นเจ้าของสวนผลไม้ เราจึงควรแบ่งปันผลไม้ที่เราปลูกขึ้นมาให้กับคนอื่น ๆ บ้าง โดยไม่ต้องแบ่งต้นออกไป”
นี่แหละค่ะ เจ้าพ่อธุรกิจ มหาเศรษฐีระดับโลกแห่งประเทศเม็กซิโก