แปลกดีนะคะที่ยังมีคนคิดกันอยู่ว่า คนเราจะ รวย ขึ้นได้ต้องใช้โชคช่วย หรือไม่ก็ต้องเรียนจบสูง ๆ ระดับปริญญา หรือไม่ก็ต้องจบมาจากสถาบันการศึกษาชื่อดังในต่างประเทศ บางคนก็คิดว่าคนรวย ๆ หรือบรรดาเศรษฐีเหล่านั้นคงจะเกิดมาก็ รวย กันอยู่แล้ว แล้วก็มีบางคนมักจะคิดว่าคนธรรมดา ฐานะปานกลางอย่างเรา จะไปแข่งอะไรกับคนที่เขาคาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด หรือ จะไปแข่งอะไรกับคนรวย ๆ เขามันคนมีวาสานาดี โชคดี จะหยิบจะจับจะทำอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด ถ้าคุณเองก็เคยได้ยินได้ฟังมาแบบนั้น ขอให้คุณ ๆ จูนความคิดสักนิดและลองปรับทัศนคติกันใหม่สักหน่อยนะคะเรื่องของคนรวยหรือความเป็นจริงเกี่ยวกับที่มาของมหาเศรษฐีหลาย ๆ คนนั้นเขาไม่ได้รวยกันมาแต่กำเนิดหรอกนะคะ
หรือจะเป็นอีกหนึ่งข้อสงสัยที่ค้างคาใจใครต่อใครมานักต่อนักแล้วว่า คนจะ รวย ได้ต้องเป็นคนฉลาด มีกึ๋น เป็นยอดอัจฉริยะเท่านั้น ซึ่งถ้าเราไม่นับรวมถึงบิล เกตส์ และก็อัจฉริยะบางคนที่ก็เป็นเศรษฐีด้วยนะคะ เราก็อาจจะพูดได้ว่าไม่จริงไปซะทีเดียว เพราะว่ามหาเศรษฐีระดับโลก หรือแม้แต่มหาเศรษฐีของประเทศไทยเรานั้น มากกว่า 80% ไม่ได้จบการศึกษาระดับปริญญานะคะ และในส่วนของมหาเศรษฐีที่จบปริญญาก็บอกว่าเขาเองไม่ได้ใช้ความรู้ที่ได้จากการศึกษาในมหาวิทยาลัยนักหรอก แต่ส่วนใหญ่แล้วเขาใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากชีวิตการทำงานจริง ๆ มากกว่าค่ะ
แล้วถ้าเรามองย้อนกลับไปในอดีตยุคก่อนที่จะมีมหาวิทยาลัยนั้น โลกกลม ๆ ใบนี้ก็มีมหาเศรษฐีเกิดขึ้นตั้งเยอะด้วยค่ะ หรือจะดูตัวอย่างจากคนรวยที่ชื่อ เดวิด คาร์ป ผู้ริเริ่มเว็บไซด์สุดฮิตอย่าง Tumblr.com เขาขึ้นแท่นมหาเศรษฐีตั้งแต่ยังหนุ่ม ทั้ง ๆ ที่ตัวเขาเองก็ไม่ได้จบการศึกษาระดับมัธยมด้วยซ้ำค่ะ ที่สำคัญก็คือมหาเศรษฐีส่วนใหญ่ไม่ใช่คนที่จะคาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิดหรอกนะคะ ในทางตรงกันข้าม แต่ละคนต้องฝ่าฟันอุปสรรคและความล้มเหลวมาหลายครั้งหลายครากว่าจะมาถึงจุดแห่งความมั่งคั่งนี้ได้ค่ะ อย่างเช่น โฮวาร์ด ชูลทส์ ผู้ก่อตั้งร้านกาแฟนางเหงือกอย่าง สตาร์บัคส์ หรือ โอปราห์ วินฟรีย์ พิธีกรหญิงชื่อดังที่ก็เกิดมาในฐานะยากจน และลี กาชิง มหาเศรษฐีอีกคนจากฝั่งฮ่องกง ผู้สูญเสียพ่อไปตั้งแต่เขายังอยู่ในวัยเด็กจนเขาต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัวค่ะ ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้คน ๆ หนึ่งรวยกว่าคนอีกคนหนึ่งได้นั้น ไม่ใช่เพราะความร่ำรวยเหนือใคร, ไม่ใช่ที่ชาติกำเนิด หรือ ระดับความฉลาดทางสติปัญญาหรอก แต่มันมาจากทัศนคติและวิธีคิดของคนแต่ละคนมากกว่าค่ะ
เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน ผู้ริเริ่มค่าย Virgin ที่มีแฟน ๆ ติดตามไปทั่วโลก เคยฝากแง่มุมของเขาในการทำธุรกิจไว้ได้น่าสนใจว่า “อย่ามัวแต่อายในสิ่งที่ทำพลาดไปแล้ว แต่ให้เรียนรู้จากความผิดนั้น ๆ ซะ” ซึ่งก็คล้ายคลึงมาก ๆ กับวิธีคิดของ Yanai เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าญี่ปุ่นอย่าง Uniqlo ที่ก็คิดแบบเดียวกันนี้ว่า “คนเราชนะ 1 แพ้ 9 เป็นเรื่องธรรมดา” สิ่งที่เราได้จากการหกล้มแต่ละครั้งคือบทเรียนที่สอนเราไม่ให้ล้มซ้ำจุดเดิม ๆ อีก และเมื่อล้มแล้วก็ต้องลุกขึ้นให้เร็วให้ไวเข้าไว้ค่ะ เพราะสิ่งที่ได้จากตรงนั้นต่างหากที่สำคัญกว่า การไม่ลงมือทำอะไรเลยย่อมเสี่ยงมากกว่าอยู่แล้วค่ะ ความคิดที่คล้ายคลึงของทั้ง 2 มหาเศรษฐีของโลกก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ทำให้คนทั้งคู่ประสบความสำเร็จได้นะคะ ว่ามั๊ย
ลี กาชิง มหาเศรษฐีจากเกาะฮ่องกงผู้พลิกตัวเองจากการขายดอกไม้ประดิษฐ์ขึ้นมาสู่การเป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคมและสถานีโทรทัศน์ ค่ะ เขาเองก็เป็นอีกคนที่มองว่า “การทำธุรกิจนั้นจะต้องใจเย็น ๆ เหมือนกับเวลาที่เราเล่นกีฬากอล์ฟ เพราะแม้ว่าในบางครั้งเราจะตีลูกกอล์ฟพลาดไป แต่ถ้าเมื่อไรที่ใจเราสงบขึ้นและเดินตามแผนที่เราเตรียมไว้ ยังไงซะลูกกอล์ฟก็จะต้องตกลงไปในหลุมอยู่ดี” ซึ่งก็เป็นความคิดที่สอดคล้องกับมุมมองความคิดของ เฮนรี่ ฟอร์ด ผู้นำระบบสายพานมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ว่า “แม้แต่ข้อผิดพลาดก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อความสำเร็จก็ได้” จากจุดนี้ ดูเหมือนกับว่าคนที่ประสบความสำเร็จสูง ๆ แต่ละคนนั้น ไม่มีใครไม่เคยล้ม และไม่มีใครหยุดหรือยกเลิกความตั้งใจลงกลางคันเลยนะคะ นี่ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งทัศนคติที่หนุนให้คนกลุ่มนี้ก้าวสู่ความสำเร็จได้ แล้วคุณหล่ะ อยากก้าวตามเขาไปหรือเปล่าคะ
ในโรงเรียนเราอาจจะถูกสอนและได้รับการอบรมมาว่าความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องที่ดีและเราก็อาจจะถูกลงโทษอีกด้วย แต่ในโลกของความเป็นจริง สังคมจริง ๆ ที่เราต้องพบเจอนั้น มันถูกออกแบบมาให้มนุษย์อย่างเราต้องเรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ เอาเองจากข้อผิดพลาด
เป็นข้อคิดที่ได้จากโรเบิร์ต คิโยซากิ ผู้ที่ได้รับสมญานามว่าเป็นอาจารย์เศรษฐีค่ะ ทีนี้ คุณ ๆ ก็ไม่ต้องกังวลกับการเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ เพราะมันอาจจะทำให้คุณพบเจอกับอุปสรรคบ้าง แต่ถ้าคุณไม่ยอมแพ้และยังคงยืนหยัดมุ่งมั่นก้าวต่อไป ท่องเอาไว้ว่า “คุณทำได้” แล้ววันของคุณก็จะมาถึงค่ะ