หากคุณ ๆ กำลังมีความจำเป็นต้องใช้เงินหมุนเวียน หรือ อาจจะจำเป็นต้องใช้เงินสดขึ้นมาสักก้อนหล่ะก็ หลายต่อหลายคนคงให้คำปรึกษาว่าให้ลองไปกู้ยืมเงินประเภท สินเชื่อบุคคล ดู ซึ่งหลาย ๆ สถาบันการเงินและธนาคารต่างก็ออกข้อเสนอมาให้คุณ ๆ เลือกกันอยู่หลายแบบนะคะ ว่าแต่คุณ ๆ รู้หรือเปล่าว่าใครกันบ้างมีสิทธิกู้ยืมเงิน และ คุณเองอยู่ในเกณฑ์นั้นกับเขาด้วยหรือเปล่าค่ะ แล้วถ้าต้องการจะขอเงินมาใช้จ่ายสักก้อน เราจะไปขอได้จากที่ไหนบ้างนะคะ
ถ้าจะวัดกันตามหลักเกณฑ์ทั่วไปนั้น โดยมากแล้วผู้ที่กู้ได้ก็คือ กลุ่มที่เป็นพนักงานประจำ, พนักงานบริษัทฯ, ข้าราชาการ, พนักงานรัฐวิสาหกิจ, ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว และรวมไปถึงจ้าของกิจการด้วยค่ะ สิ่งที่ทางสถาบันการเงินและธนาคารต่าง ๆ จะนำมาเป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์นั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ด้วยกันค่ะ
เริ่มจากกลุ่มแรก นั่นก็คือ กลุ่มพนักงานประจำ, พนักงานบริษัท, ข้าราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจทั้งหลายค่ะ ซึ่งโดยคร่าว ๆ ก็จะต้องถือสัญชาติไทย, อายุอยู่ระหว่าง 20 – 65 ปี, มีรายได้ประจำที่เพียงพอต่อการชำระค่างวด และโดยมากก็ควรจะมีรายได้ต่อเดือนขั้นต่ำอยู่ที่ตั้งแต่ 10,000 – 15,000 บาทค่ะ, ควรมีประวัติทางการเงิน หรือ การชำระหนี้ดี ไม่มีการค้างชำระหนี้ หรือ ผิดนัดชำระหนี้ และ มีที่พำนักอาศัยเป็นหลักแหล่ง หรือ มีหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้สะดวกค่ะ และในที่นี้ เขาไม่ได้หมายถึงโทรศัพท์มือถือนะคะ แต่หมายถึงหมายเลขโทรศัพท์บ้าน หรือไม่ก็ที่ทำงานของคุณค่ะ
ส่วนกลุ่มที่ 2 ก็คือ กลุ่มที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือ เป็นเจ้าของกิจการค่ะ ซึ่งหลักเกณฑ์เบื้องต้นก็คือ ต้องมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป, กิจการที่ดูแลหรือบริหารงานนั้น ต้องจดทะเบียน และ ดำเนินธุรกิจมานานอย่างน้อยก็ 1 ปีขึ้นไป, มีเงินทุนหมุนเวียนในการทำกิจการอย่างน้อย ๆ ก็ประมาณ 50,000 – 150,000 บาท ต่อเดือนค่ะ และ ที่สำคัญที่สุด ต้องไม่ได้ติด Blacklist หรือ มีประวัติค้างชำระหนี้กับสถาบันการเงินอื่น ๆ ด้วยค่ะ
และถึงแม้ว่าคุณ ๆ จะมีคุณสมบัติครบทุกข้อตามที่สถาบันการเงินและธนาคารกำหนดไว้ แต่นั้นก็ไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าเราทุกคนจะได้รับอนุมัติวงเงินกันหรอกนะคะ นั่นก็เพราะว่า แต่ละธนาคารเขาก็จะมีเกณฑ์การพิจารณาของเขาในด้านต่าง ๆ กันเองอีกชั้นหนึ่งค่ะ อันนี้ก็แล้วแต่ความเห็นหรือมุมมองของธนาคารและสถาบันการเงินแต่ละแห่งด้วยนะคะ แต่โดยมากก็จะคล้าย ๆ กันหมดค่ะ เมื่อคุณ ๆ มีความประสงค์จะขอสินเชื่อส่วนบุคคลจากทางธนาคาร เขาก็จะให้คุณ ๆ กรอกใบสมัครขอสินเชื่อก่อน จากนั้นก็ยื่นเอกสารประกอบ แล้วก็เซ็นชื่อยินยอมเปิดเผยข้อมูลด้านเครดิตของผู้ที่จะขอสินเชื่อนั้น ๆ ค่ะ จุดนี้ เป็นเพียงการส่งเอกสารประกอบการพิจารณาเบื้องต้นเท่านั้นนะคะ ต่อจากนั้น ทางธนาคารเขาก็จะพิจารณาว่าจะอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลให้ผู้ที่ยื่นขอดีหรือเปล่า ซึ่งในแวดวงสถาบันการเงินนั้นก็จะเข้าใจและรู้จักกันดีว่าคือหลักเกณฑ์ 6 C ค่ะ คุณ ๆ มารู้จักหลัก 6C ที่ว่านี้กันสักหน่อยดีมั๊ยค่ะ รู้เขารู้เราค่ะ
- เริ่มกันที่ C ตัวแรกกฎข้อที่ 1 นั่นก็คือ Character หรือ Credit Reputation ซึ่งก็หมายถึง การวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้เงินของผู้ขอกู้สินเชื่อ ในด้านวินัยการใช้จ่าย, ประวัติการชำระหนี้ทางการเงินที่ผ่านมา, ความสามารถในการจัดการและบริหารเงินหรือสินเชื่อที่ผ่านมา รวมไปถึงวิธีแก้ปัญหาด้านการเงินด้วยค่ะ ถัดมาก็คือ C ตัวที่ 2 หรือ
- กฎข้อที่ 2 Capacity จุดนี้ ธนาคารจะเน้นวิเคราะห์ในด้านความสามารถในการชำระหนี้คืนภายใต้เงื่อนไขของระยะเวลาที่กำหนดไว้ค่ะ โดยส่วนใหญ่ทางธนาคารก็จะพิจารณาจากอายุของผู้ขอกู้, ตำแหน่งหน้าที่การงานปัจจุบัน และ จำนวนรายได้ที่มี นั่นก็เพราะว่า สิ่งเหล่านี้คือตัวชี้วัดความมั่นคงทางรายได้ของผู้ขอกู้ ว่าจะสามารถชำระหนี้ต่อไปได้ในอนาคตค่ะ มาถึง C ต่อมา
- กฎข้อที่ 3 Capital หมายถึง เงินทุน หรือ สินทรัพย์ของผู้ขอกู้ในขณะที่ยื่นขอสินเชื่อนั้น ๆ ซึ่งทางธนาคารและสถาบันการเงินจะใช้ประกอบการพิจารณาวงเงินสินเชื่อค่ะ เพราะถ้าผู้ขอกู้มีปัญหาทางการเงินไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สินทรัพย์หรือเงินทุนต่าง ๆ ที่ผู้ขอกู้มีไว้ครอบครองในเวลานี้ ก็คือแหล่งเงินสำรองที่ผู้ขอกู้สามารถนำมาใช้ชำระหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้กับทางสถาบันการเงินได้นั่นเองค่ะ
- ข้อที่ 4 ก็คือ Conditions ค่ะ ถ้าแปลตามความหมายของคำนี้ก็จะสื่อถึงเงื่อนไข หรือ สภาพต่าง ๆ แต่โดยนัยสำคัญของทางธนาคารก็จะหมายถึง เงื่อนไขต่าง ๆ ที่อาจจะมีผลกระทบกับรายได้ของผู้ขอกู้สินเชื่อค่ะ ซึ่งก็มาจากหลาย ๆ ปัจจัยความเสี่ยงด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงทางอาชีพ, รายได้, สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่เงื่อนไขของเงินกู้ อย่างเช่นว่า ถ้าเกิดสภาวะเงินเฟ้อที่ดีดตัวสูงขึ้นมา ผู้ขอกู้สินเชื่อก็จะได้รับผลกระทบทำให้รายได้สุทธิอาจจะลดน้อยลง และทำให้ผู้ขอกู้สินเชื่อไม่อาจจะนำส่งชำระหนี้ได้ตามเดิม หรือ ทำให้ขีดความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ลดน้อยลงไปค่ะ ส่วน C ต่อมาก็คือ
- กฎข้อที่ 5 ว่าด้วยเรื่องของ Collateral ซึ่งหมายความว่า จำนำ หรือ การจำนองค่ะ ในมุมของธนาคารนั้น การที่ผู้ขอกู้มีหลักประกันที่เป็นทรัพย์สิน และผู้ขอกู้สามารถนำมาวางจำนำ หรือ จำนองไว้กับทางสถาบันการเงินได้ ก็จะเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้บรรดาธนาคารและสถาบันการเงินเกิดความมั่นใจที่จะปล่อยวงเงินสินเชื่อให้กับผู้ขอกู้ได้มากขึ้นค่ะ คล้าย ๆ กับเป็นการลดระดับความเสี่ยงให้กับทางธนาคารไปในตัว กรณีที่ผู้ขอสินเชื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อประเภทนี้ก็จะมีอัตราที่ค่อนข้างต่ำลงไปมากหน่อยค่ะ
- กฎข้อที่ 6 คือ Common Sense หรือ ตรรกะในการขอกู้สินเชื่อของผู้ขอกู้นั่นเองค่ะ เรื่องนี้ธนาคารจะดูว่าผู้ขอกู้ไม่ได้กำลังขอวงเงินไปใช้จ่ายจนเกินตัว หรือ ใช้จ่ายเงินนั้นอย่างสมเหตุสมผลหรือเปล่านั่นเองค่ะ แล้วคุณเองหล่ะค่ะ หากคิดจะขอเงินกู้มาใช้สักก้อน คุณ ๆ ได้เคยลองประเมินตัวเองหรือยังว่าคุณควร หรือ มีความจำเป็นต้องกู้สินเชื่อจริงหรือเปล่าค่ะ