Single mom หรือที่เราเรียกว่าแม่เลี้ยงเดี่ยว ในปัจจุบันนั้นถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคมมากขึ้น เพราะ Single mom นั้นเป็นบุคคลที่ภาระในความรับผิดชอบที่มากและต้องใช้ความตั้งใจและความทุ่มเทในการเลี้ยงลูกมากกว่าครอบครัวที่มีทั้งพ่อและแม่อย่างแน่นอน
เพราะนอกจากจะทำหน้าที่ในการอบรมเลี้ยงดูลูกเพียงคนเดียวแล้ว ค่าใช้จ่ายต่างๆที่ Single mom ต้องแบกรับนั้น ก็ต้องรับผิดชอบเพียงคนเดียว ซึ่งทำให้ในช่วงแรกนั้น Single mom อาจมีปัญหาในเรื่องของการเงินได้ง่ายๆเลย แต่คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวส่วนใหญ่ก็มีความพยายามและความมุ่งมั่นสูงที่จะเลี้ยงลูกให้ได้ จนกลายเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม
ซึ่งปัญหาหลักๆที่เหล่า Single mom หรือแม่แต่ครอบครัวทั่วๆไปอาจประสบ เมื่อมีสมาชิกตัวน้อยๆเพิ่มมา นั่นก็คือ ปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย เพราะการที่เราได้สมาชิกใหม่มาเพิ่ม โดยที่รายได้ของเราไม่ได้เพิ่มขึ้นไปด้วยแต่รายจ่ายกลับเพิ่มขึ้นมา ทั้งอาหารการกิน เสื้อผ้า ที่นอน และรูปแบบการใช้ชีวิตของเจ้าตัวน้อย ทำให้ความต้องการสิ่งของในชีวิตประจำวันแตกต่างออกไปจากเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด ดังนั้นเรื่องการจัดการรายจ่ายเมื่อเราต้องเลี้ยงลูกด้วยตัวคนเดียวนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยข้อสำคัญที่สุดคือการลดค่าใช้จ่ายและสร้างรายได้เพิ่ม ซึ่งก็อาจจะยากอยู่เพราะลำพังแค่เลี้ยงลูก ก็แทบจะมีเวลาไม่พอที่จะทำงานแล้ว แต่เดี๋ยวนี้งานที่ทำได้ง่ายๆ ที่บ้านโดยไม่ต้องออกแรงมาก และไม่ต้องออกไปทำงานประจำก็มีให้เลือกบ้าง
แต่ต้องบอกก่อนเลยว่าการสร้างรายได้เพิ่มนั้นอาจจะทำได้ยากอยู่สักหน่อยเนื่องจากเราต้องเอาเวลาไปเลี้ยงลูกด้วย ดังนั้นการลดรายจ่ายจึงเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า อย่างแรกที่เราต้องทำก็คือการ จัดการค่าใช้จ่าย เป็น 4 กลุ่มง่ายๆนั่นคือ ค่าใช้จ่ายคงที่ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ค่าใช้จ่ายในการออม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อลดปัญหาในการใช้จ่ายลงและเพื่อจะได้มีเงินเหลือมากพอสำหรับเลี้ยงลูกนั่นเอง
1. ค่าใช้จ่ายคงที่ คือ ค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือน หรือทุกปี และเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นจำนวนเงินคงที่ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้จำเป็นต้องจ่าย เช่น ค่าเช่า/ผ่อนบ้าน ค่าเช่า/ผ่อนรถ ค่าประกันภัยต่างๆ ค่าอินเทอร์เน็ต และค่าแพ็กเก็จดูโทรทัศน์ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้คุณแม่ควรแยกไว้ก่อนเลยเพราะอย่างไรก็ต้องจ่ายอยู่ดี แต่ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เมื่อหมดไปก็จะลดค่าใช้จ่ายสำหรับคุณแม่ไปได้มากเลยล่ะ
2.ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ซึ่งในที่นี้ก็คือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเรา คล้ายกับค่าใช้จ่ายคงที่ เพียงแต่จำนวนเงินในค่าใช้จ่ายนี้นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่างๆ ค่าโทรศัพท์บ้าน ค่าโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น โดยเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าในแต่ละเดือนจะต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เท่าไหร่ แต่ทั้งนี้เราก็สามารถที่จะควบคุมไม่ให้ค่าใช้จ่ายสูงเกินไปได้เช่นกัน
3.ค่าใช้จ่ายในการออม ที่เราจัดเงินออมไว้เป็นค่าใช้จ่ายก็เพื่อทำให้เรารู้สึกว่าเราจำเป็นต้องจ่ายเงินในส่วนนี้นั่นเอง ไม่อย่างนั้นเราก็ใช้เงินไปจนหมดและไม่ได้ออมเงินเลย และเราสามารถเลือกวิธีการออมเงินได้ตามความชอบและความสะดวกเลย ซึ่งอาจจะเป็นการซื้อพันธบัตร การออมในบัญชี การเล่นหุ้น หรือการทำประกันชีวิตก็ได้ ส่วนนี้จะมีความสำคัญมากเพราะเงินออมจะเป้นรากฐานในชีวิตในนาคตของเราได้นั่นเอง
4.ค่าใช้อื่นๆ ซึ่งส่วนนี้มักจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหรือจำเป็นน้อยที่สุด เช่น ค่าดูหนัง ค่าอาหารที่หรูหรากว่าปกติ ค่าสังสรรค์ต่างๆ เป็นต้น หรืออาจจะเรียกว่าค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยนั่นเอง ซึ่งส่วนนี้ถ้าไม่จำเป็นก็ควรตัดออกไปซะ แล้วคุณจะมีเงินเหลือเฟือเลยทีเดียว แต่หากต้องการจะหาความสุขให้กับตัวเองบ้าง ควรเลือกช่วงที่มีรายได้และมีเงินเหลือพอใช้จะดีกว่า จะได้ไม่กระทบต่กการเงินของเรานั่นเอง แต่ทั้งนี้ก็ควรจำกัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่ในวงจำกัดด้วยและอย่าเผลอใช้จ่ายเพลินจนเกินไปล่ะ ไม่งั้นอาจจะมีปัญหาตามมาได้โดยที่เราไม่ทันได้ตั้งตัวเลยล่ะ
ซึ่งปกติแล้วการลดค่าใช้จ่ายก็มักจะมาทำในส่วนของค่าใช้อื่นๆเป็นส่วนใหญ่ แนะนำว่าถ้าหยุดได้ก็หยุดไปเลย แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องจ่ายเงินในส่วนนี้จริงๆก็อาจจะลดความถี่ในการใช้จ่ายลง และอาจลดค่าใช้จ่ายคงที่ หรือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นบางส่วนลงได้เช่นกัน เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต และค่าแพ็กเกจดูเคเบิลทีวีรายเดือน ซึ่งเราอาจตัดออกไปได้ โดยใช้วิธีดูโทรทัศน์ออนไลน์แทน ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าเราต้องให้เวลากับลูก ซึ่งอาจทำให้เราใช้งานทั้งอินเตอร์เน็ต โทรทัศน์ และโทรศัพท์น้อยลงอยู่แล้ว และนี่คือการลดรายจ่ายลงเพื่อให้การเงิน และการเลี้ยงลูกของเราง่ายขึ้นนั่นเอง