หนึ่งในหัวข้อสนทนาของมนุษย์เงินเดือนหลาย ๆ คน คงหนีไม่พ้นเรื่องของเงิน ๆ ทอง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคุณ ๆ ต้องเคยได้ยินคำว่า “ถ้าได้เงินสัก 16 ล้านนะ ฉันจะซื้อ… จะได้รวยสักที” หรือในบางครั้งที่เราได้เห็นข่าวของนักกีฬาตัวแทนประเทศชาติไปชนะเกมกีฬากลับมาได้เงินรางวัลมากมาย ก็พากันคิดว่า “ได้เงินเยอะขนาดนั้น สบาย ๆ แล้ว รวยแล้ว” นี่คือสิ่งที่เราหลาย ๆ คนมักจะคิดกันอย่างนั้นว่า การที่คน ๆ หนึ่งมีเงินก้อนโตจำนวนเป็นล้าน ๆ ชาตินี้ทั้งชาติคงนอนสบายไม่ต้องทำงานหนักอีกแล้ว
ซึ่งในโลกของความเป็นจริงนั้น ทุกวันที่คุณหายใจอยู่ คุณก็ต้องใช้เงินในการดำรงชีวิตค่ะ ดังนั้น การที่คุณคาดหวังว่าได้เงินก้อนโตมาแล้ว คุณรวยแล้ว Happy ไม่ต้องเหนื่อยกันแล้ว คุณกำลังเข้าใจผิดค่ะ ปัญหาอยู่ที่ว่าคุณจะเพิ่มพูนเงินก้อนนั้นให้งอกเงยเป็นผลและร่มเงาให้คุณในวันข้างหน้าได้อย่างไรต่างหากค่ะ
ยิ่งถ้าหากว่าคุณได้ลองมองย้อนประสบการณ์ชีวิตของนักกีฬาคนดังอย่างเช่น Mike Tyson นักชกชื่อดังระดับโลกที่สามารถหาเงินได้มากถึง 300 – 400 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 15,200 ล้านบาทค่ะ รายได้มหาศาลที่หลายคนมักจะคิดว่าสบายทั้งชาตินั่นแหละค่ะ แล้วเชื่อหรือเปล่าค่ะ ว่าเขาคนนี้ นักชกระดับโลกกลับกลายเป็นบุคคลล้มละลาย มีหนี้สินที่ถมไม่หมด เพราะเขาซื้อทุกอย่างที่เขาต้องการและที่สำคัญเขาไม่รู้ว่าจะบริหารเงินของเขาให้ทำงานแทนเขาได้อย่างไร จัดการเงินไม่เป็น นั่นเองค่ะ
หรือแม้แต่ Michael Phelps นักกีฬาว่ายน้ำที่ได้รับการกล่าวขานและขึ้นชื่อว่าคว้าเหรียญโอลิมปิกมาครองมากที่สุด ในช่วงยุคทองของเขานั้น เขาสามารถกอบโกยรายได้จากการแข่งกีฬาและการเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งก็จัดว่ามากมายเหลือเฟือสำหรับคนธรรมดาทั่วไป แต่ก็อาจจะไม่มากพอให้ซื้อทุกอย่างที่ต้องการเช่นกันค่ะ ดังนั้นการหาเงินมาใช้สอยที่ว่าสำคัญมากแล้ว การบริหารจัดการเงิน ๆ ทอง ๆ ของเราที่มีอยู่นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าค่ะ เพราะการจัดการเงินในที่นี้ ไม่ใช่เรื่องของการออมเงิน โดยการเก็บเงินไว้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการรู้จักกระจายเงินก้อนเพื่อการลงทุนในด้านต่าง ๆ ให้เงินนั้น ๆ เติบโตขึ้นมาด้วยค่ะ
ย้อนกลับไปที่กรณีคนดังอย่าง Phelps นั้น ไม่ใช่ว่าเขาไม่รู้จักบริหารเงินนะคะ แต่ตามประสาคนดังเมื่อมีรายได้เยอะ ๆ ในมือ เครือญาติและเพื่อนก็จะมากล้นตามไปด้วย ทั้งคนสนิทและคนที่มาตีสนิทด้วยปะปนเต็มไปหมด ซึ่งเกือบจะทุกคนก็มักจะมาเพื่อขอเงินหรือเสนอการลงทุนให้ร่วมด้วยช่วยกัน และก็มีบ้างที่หลาย ๆ ครั้งคนถูกยืมหรือถูกเชื้อเชิญให้ร่วมหุ้นก็เกรงใจไม่กล้าปฏิเสธ อีกทั้งความไม่รู้ดีในกิจการที่ลงทุนบวกกับไม่มีเวลาไปตามดูแล ทำให้ความเสี่ยงทางการเงินเกิดขึ้นกับเขาจนได้
หรือถ้ามองเข้ามาที่นักกีฬาคนดังในบ้านเรากันบ้าง อย่างเช่น เขาทราย กาแล็คซี่ อดีตแชมป์มวยที่สร้างรายได้มหาศาลเช่นกัน เขาเองเคยมีคนรู้จักมาชักชวนให้ไปร่วมลงทุนลงขันลงหุ้นทำธุรกิจ แต่เพราะความไม่รู้จริงในกิจการนั้น ๆ เขาจึงเลี่ยงที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
ต่างกับ สมรักษ์ คำสิงห์ อีกหนึ่งฮีโร่ขวัญใจคนไทย เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิคเหรียญแรกของประเทศไทย ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีคนรู้จักมาชวนทำธุรกิจด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านบ้านจัดสรร, สถานีน้ำมันและ ขนส่งมวลชนอย่างรถทัวร์ เขาก็ลองเปิดกิจการเป็นเจ้าของเองหลาย ๆ อย่าง แต่สุดท้ายกิจการทุกด้านกลับขาดทุนหมดและต้องล้มเลิกกิจการทุกอย่างไปเลยค่ะ ส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากการที่เขาไม่ค่อยรู้ลึกรู้จริงในกิจการนั้น ๆ มากนัก และอาจจะไม่ได้บริหารเวลาเข้าไปดูแลงานมากนัก จึงไม่ค่อยได้เข้าไปดูแลด้วยตัวเองและเลือกที่จะให้ญาติ ๆ ช่วย ๆ กันดูแลกิจการไปแทนค่ะ
ซึ่งถ้าคุณ ๆ ได้เคยอ่านวิธีคิดและวิธีจัดการเงินของมหาเศรษฐีระดับโลกอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ คุณจะรู้เลยว่า ข้อนี้ผิดถนัด เพราะบัฟเฟตต์มองว่า แม้ในวันที่เขามีรายได้มากมายมหาศาลแล้วก็จริง แต่ในเรื่องของการลงทุนใด ๆ ก็ตาม เขาจะต้องศึกษา, หาข้อมูล และวิเคราะห์ให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อนเท่านั้น เขาจะไม่เลือกลงทุนในธุรกิจที่เขาไม่รู้จักดีเด็ดขาดค่ะ ก็คงเหมือนกับว่า ถ้าเราไม่รู้วิธีที่เงินทุนก้อนนั้นจะเติบโตขึ้นมาจากกิจการนั้น ๆ ได้อย่างไร หรือ กำไรจากการทำกิจการนั้น ๆ จะมาจากทางไหนบ้าง แล้วเราจะลงทุนลงแรงไปทำไมหล่ะค่ะ จริงมั๊ย
บางครั้งการที่คน ๆ หนึ่งมีรายได้เพียงหลักหมื่นต่อเดือนก็อาจจะร่ำรวยเงินในบัญชีมากกว่าคนที่หารายได้มาก ๆ เป็นหลักแสน ๆ ก็ได้นะคะ ถ้าคน ๆ นั้นรู้วิธีจัดการกับเงินได้อย่างถูกต้อง เพราะการที่เราหาเงินได้มาก ๆ นั้น อาจจะไม่มีค่าอะไรเลยก็ได้ ถ้าเราไม่รู้จักวิธีใช้เงิน จัดการเงินไม่เป็น และไม่คิดที่จะต่อยอดเงินให้งอกเงยขึ้นมาได้อย่างเหมาะสมค่ะ และบางครั้งการมีเงินเยอะ ๆ แต่จัดการไม่ได้จัดการไม่เป็นก็อาจจะเจ็บหนักยิ่งกว่าซะด้วยนะคะ ว่ามั๊ย