หลายครั้งที่เราได้รับโทรศัพท์มาขายประกันชีวิต และสิ่งที่คนขายมักจะบอกกับเรา คือ ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ ก็เหมือนกับการออมเงิน ให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากประจำอีก หรือให้ผลตอบแทนเทียบเท่ากับการลงทุนในกองทุนรวม อีกทั้งยังแนะนำให้เราตัดเงินจากบัตรเครดิตอีก แล้วก็เชิญชวนว่าแทนที่จะเอาบัตรไปซื้อของก็เอามาออมกับประกันชีวิตแบบนี้ดีกว่า ส่งไม่กี่ปี ก็ได้เงินแล้ว แถมยังไปลดหย่อนภาษีได้อีก ….. อีกมากมายที่เจ้าหน้าที่จะเชิญชวนให้เรามาทำประกัน
หรืออีกกรณีที่ Classic มาก มากและเจอกันบ่อยตามหน้า Social Media ที่จะมาโพสให้ระวังกัน คือ การทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ของพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ของเรา ที่ส่วนใหญ่จะถูกชักชวน โน้มน้าวจากเจ้าหน้าที่ธนาคารว่า ประกันแบบนี้ คือ การฝากเงิน แต่มักจะไม่ค่อยอธิบายให้ละเอียดว่ามันต่างจากการฝากเงินยังไง และส่วนใหญ่เมื่อพ่อ แม่ หรือบรรดาลุง ลุง ป้า ป้า ของเราที่ไปทำมาแล้ว มักจะมารู้ตัวกันทีหลัง ก็จะเกินช่วงเวลายกเลิกการทำประกันและได้เงินคืนทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและน่าเห็นใจมาก เพราะเงินที่เค้าเอาไปซื้อประกันแบบนี้มันคือ เงินสะสมทั้งชีวิตการทำงานเลยทีเดียวก็ว่าได้ แล้วกว่าจะได้คืน ส่วนใหญ่ก็ 10 ปีขึ้นไป และไม่รู้ว่าต้องหาเงินมาจ่ายค่าเบี้ยประกันด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันทุกปีตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ เพราะจะเข้าใจว่าจ่ายครั้งเดียว และส่วนใหญ่มักจะตามไม่ทันการชักชวน โน้มน้าวจากเจ้าหน้าที่ธนาคาร เรารู้แบบนี้แล้ว ดังนั้น
เรามาดูกันดีกว่าว่าประกันชีวิตสะสมทรัพย์เหมือนหรือแตกต่างกับเงินฝากประจำอย่างไร
เรามาเริ่มที่เงินฝากธนาคารกันก่อน เพราะเป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยกัน ซึ่งเงินฝากธนาคารที่ให้ผลตอบแทนสูงก็มักเป็นเงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน หรือ 24 เดือน แล้วแต่ธนาคารจะกำหนดออกมา ผลตอบแทนส่วนใหญ่ก็จะประมาณ 2-3% ต่อปี หากบัญชีเงินฝากประจำยังไม่ถึงกำหนด ถ้าเราต้องการเงินก็สามารถถอนออกมาได้ เพียงแต่ดอกเบี้ยก็จะไม่เป็นไปตามที่ธนาคารกำหนดเท่านั้น โดยการฝากประจำประเภทนี้มักจะกำหนดวงเงินฝากขั้นต่ำ เช่น 50,000 บาทขึ้นไป ต่อครั้ง แต่ไม่กำหนดจำนวนครั้งในการฝาก หรือเงินฝากประจำประเภทที่กำหนดให้ฝากเงินเท่ากันทุกงวดติดต่อกันเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น เดือนละ 2,000 บาท ภายในเวลา 2 ปี โดยเราสามารถเลือกจำนวนเงินที่จะฝากในแต่ละเดือนได้
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นแบบ จ่ายสั้น คุ้มครองยาว เช่น 3/10 ก็คือ จ่าย 3 ปี คุ้มครอง 10 ปี หรือ 5/15 จ่าย 5 ปี คุ้มครอง 15 ปี เป็นต้น หมายความ ถ้าเราเลือกทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ 3/10 เราจะต้องจ่ายเบี้ยประกันทั้งหมด 3 ปี แต่อีก 10 ปี ถึงจะได้นำเงินออกมาได้เต็มจำนวนที่เราจ่ายเบี้ยประกันไป โดยระหว่างทางที่จะถึง 10 ปี ก็อาจจะมีเงินปันผลให้ตามแต่ที่กรมธรรม์จะกำหนด แต่สิ่งหนึ่งที่คนขายประกันไม่เคยบอกเราเลยว่า เราจะเอาเงินออกมาก่อนกำหนดไม่ได้ เราจะหยุดส่งค่าเบี้ยประกันก่อนกำหนดไม่ได้ เพราะถ้าเราทำแบบนั้นจะถือว่าเราทำผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ ที่เวลาเราทำประกันแล้วก็ไม่ค่อยได้อ่านกัน ผลก็คือ ถ้าต้องการเงินก่อนครบกำหนด เราจะไม่ได้เต็มจำนวนเบี้ยประกันที่เราส่งไป แต่จะได้ตามสัดส่วนที่กำหนดในกรมธรรม์ หรือถ้าเราหยุดส่งเบี้ยประกัน เงินที่เราเคยส่งมาก็จะหายไปแต่ก็อาจจะไม่ทั้งหมด เพราะบางกรมธรรม์ก็อาจจะมีเงินคืนมาให้บ้าง ถ้าถึงกำหนดเวลาในกรมธรรม์ ซึ่งก็จะนานมากจนเราลืมไปว่าเคยมีเงินก้อนนี้อยู่ และที่สำคัญของการทำประกันไม่เฉพาะแต่ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เท่านั้น การทำประกันชีวิต การทำประกันอุบัติเหตุ มีเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ถ้าเราได้รับกรมธรรม์จากบริษัทประกันแล้ว เราไม่ถูกใจประกันที่เราทำไป เราจะต้องแจ้งยกเลิกการทำประกันนั้นภายใน 15 วัน กับบริษัทประกัน เพื่อให้เราได้รับเงินคืนเต็มจำนวนที่เราจ่ายไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอาจจะไม่ได้สนใจ หรือ เจ้าหน้าที่ไม่เคยบอก เพราะฉะนั้นอย่าลืมเด็ดขาดนะข้อนี้สำคัญมาก มาก…
แต่ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสีย ข้อดี ของประกันชีวิตแบบนี้ก็มี เพราะมันคือประกันชีวิต ซึ่งหากเราเป็นอะไร ครอบครัวของเราก็ได้เงินก้อนที่เราสะสมไว้ รวมกับทุนประกันตามเงื่อนไขของกรมธรรม์แต่ละประเภท เพราะฉะนั้นก่อนทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ สิ่งที่เราต้องคำนึงถึง คือ เงินที่จะจ่ายค่าเบี้ยประกันต้องเป็นเงินที่ไม่เกี่ยวกับการใช้จ่ายฉุกเฉินของเรา และเรามีความสามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันด้วยจำนวนที่เท่ากันทุกเดือนเป็นเวลามากกว่า 1 ปีได้ ถ้าเรามีความสามารถการประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ก็เป็นทางเลือกในการออมเงินให้ทั้งกับตัวเราและครอบครัวของเราได้
ห่วงใยครอบครัว ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ >> คลิกเลย