บ่อยครั้งที่เราได้รับการชักชวนให้ทำ ประกันชีวิต จากทั้งพนักงานธนาคาร มีโทรศัพท์เข้ามาขาย หรือแม้แต่เพื่อนกัน หรือญาติพี่น้องที่ไปเป็นตัวแทนประกันชีวิต … แต่สิ่งที่เรามักจะทำ คือ ปฏิเสธหรือเดินหนี แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราลองมาศึกษาหรือเรียนรู้เรื่องประกันชีวิต จะรู้ว่ามันก็มีประโยชน์กับเราไม่ใช่น้อย และถ้าเราจะทำทั้งทีก็ควรเลือกที่เหมาะกับตัวเราและฐานะทางการเงินของเรากันดีกว่า
ประกันชีวิต ถ้าเราแบ่งตามลักษณะความคุ้มครองหรือผลประโยชน์ เราจะแบ่งได้ 6 แบบ คือ ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกันชีวิตแบบ Universal Life และประกันชีวิตแบบ Unit Link ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีลักษณะและเงื่อนไขการรับประกันไม่เหมือนกัน เรามาดูกันทีละแบบดีกว่า ว่าแบบไหนมีลักษณะยังไง และเหมาะกับใครบ้าง
บทความเพิ่มเติม : อย่าเพิ่งเบื่อคำถามที่ว่า ทำประกัน กันไหม ?
แบบแรก คือ ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา
เป็นกรมธรรม์ที่จะจ่ายคืนเงินให้กับเราเมื่อมีการเสียชีวิตขึ้นภายในระยะเวลาที่ระบุในกรมธรรม์ ซึ่งมีได้ตั้งแต่ 1 ปี หรือหลายปี ถ้าเราซื้อประกันแบบคุ้มครอง 1 ปีเบี้ยประกันชีวิตจะสูงขึ้นเมื่อเรามีอายุมากขึ้น แต่ถ้าเป็นการซื้อประกันที่คุ้มครองมากกว่า 1 ปี เราจะชำระค่าเบี้ยประกันภัยเท่ากันทุกปี เนื่องจากบริษัทได้คำนวณค่าเบี้ยประกันภัยให้ถัวเฉลี่ยเท่ากันทุกปีตลอดอายุสัญญา โดยประกันประเภทนี้มักจะเหมาะกับความต้องการที่จะคุ้มครองช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งที่เราจะเจอกันบ่อยๆ ก็คือ การประกันชีวิตที่คุ้มครองสินเชื่อ หรือที่คนขายมักจะเรียกว่า Credit Life ทั้งนี้การทำประกันแบบ Credit Life มีสิ่งที่จะต้องคำนึง 2 เรื่อง คือ เรื่องแรกระยะการทำประกันจะต้องเท่ากับระยะเวลาการฝ่อนชำระหนี้สิน และเรื่องทีสองอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนชำระหนี้สินควรจะต้องเป็นอัตราเดียวกันหรือมากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ใช้คิดลดจำนวนเงินเอาประกันภัย เพื่อที่จะทำให้จำนวนเงินที่เราทำประกันจะเพียงพอต่อการชำระหนี้สินได้ หากมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
ซึ่งจะเป็นประกันชีวิตที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุด เพราะน่าจะมีการชักชวนให้ทำประกันมากที่สุดแบบหนึ่ง ลักษณะของประกันชีวิตประเภทนี้จะแบ่งค่าเบี้ยประกันที่ชำระมาแล้วออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกให้ความคุ้มครองการเสียชีวิต และส่วนที่สองจะให้ความคุ้มครองในการอยู่รอด เพราะฉะนั้นเมื่อกรมธรรม์ครบตามอายุสัญญาหรือเมื่อเราจ่ายค่าเบี้ยประกันได้สักระยะหนึ่ง เราก็จะได้เงินคืนจากการทำประกัน ซึ่งจะเรียกว่ามูลค่าเวนคืน ที่เราสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น การกู้ยืมเงินตามกรมธรรม์ส่วนใหญ่จะใช้ในการจ่ายค่าเบี้ยประกันในปีถัดไป หรือจะขอยกเลิกกรมธรรม์เพื่อนำมาใช้ยามจำเป็น แต่จำนวนเงินก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกรมธรรม์
ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
จะเป็นประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองตลอดชีวิตตามชื่อนั่นเอง ก็คือ เมื่อคนทำประกันเสียชีวิต บริษัทก็จะจ่ายเงินคืนให้ โดยค่าเบี้ยประกันจะเท่ากันทุกปี จะไม่เพิ่มขึ้นตามอายุของผู้ทำประกัน ซึ่งการประกันชีวิตแบบนี้มีลักษณะเช่นเดียวกับแบบสะสมทรัพย์ เพียงแต่ไม่ได้กำหนดอายุของกรมธรรม์ และผู้ทำประกันก็สามารถใช้ประโยชน์จากมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ได้เช่นเดียวกับแบบสะสมทรัพย์
ประกันชีวิตแบบบำนาญ
เป็นประกันชีวิตแบบที่เราคาดว่าเราจะมีอายุยืนยาว และต้องการมีรายได้ไว้ใช้ยามแก่ชรา รวมทั้งเป็นหลักประกันในการรักษาพยาบาล ดังนั้นประกันชีวิตแบบนี้จึงออกแบบมาให้มีการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายเดือน รายปี จนกว่าจะเสียชีวิต หรือตามระยะเวลาที่กำหนดในกรมธรรม์ เช่น เริ่มจ่ายเมื่อครบอายุ 55 ปี 60 ปี หรือ อายุจนถึง 85 ปี เป็นต้น แทนการจ่ายเงินผลประโยชน์ครบกำหนดสัญญาเป็นเงินก้อนใหญ่เพียงก้อนเดียว
ประกันชีวิตแบบ Universal Life
เป็นประกันชีวิตที่แบ่งค่าเบี้ยเป็น 2 ส่วนเหมือนกัน โดยส่วนแรกเป็นผลประโยชน์การเสียชีวิตที่เป็นจำนวนที่แน่นอน และผลประโยชน์ในการอยู่รอดไม่ได้เป็นจำนวนที่แน่นอน แต่จะขึ้นอยู่กับผลตอบแทนของบริษัทที่ทำได้จากการนำเบี้ยประกันภัยไปลงทุนในทรัพย์สินที่บริษัทประเมินแล้วว่าน่าจะได้ผลตอบแทนที่ดี โดยมีการรับรองผลตอบแทนขั้นต่ำไว้เหมือนกัน จึงมีผลทำให้เงินที่จะคืนเป็นจำนวนที่ไม่คงที่ อีกทั้งเราสามารถชำระค่าเบี้ยประกันในจำนวนที่ไม่เท่ากันก็ได้ สามารถปรับเพิ่มหรือลดผลประโยชน์ในส่วนที่จะได้คืนเมื่อชีวิตก็ได้
และแบบสุดท้าย คือ ประกันชีวิตแบบ Unit Linked
เป็นประกันชีวิตลักษณะเดียวกับ ประกันชิวตแบบ Universal Life เพียงแต่การลงทุนนั้น จะนำไปลงทุนในหน่วยลงทุนที่เราเป็นคนตัดสินใจ และผลตอบแทนที่จะได้รับจะขึ้นอยู่กับราคาหน่วยลงทุนที่นำไปลงทุน ดังนั้นบัญชีของเราจะมาในรูปแบบของหน่วยลงทุน อีกทั้งการรับเบี้ยประกันหรือการจ่ายผลประโยชน์จะเกี่ยวข้องกับการซื้อ ขายหน่วยลงทุน ตลอดจนการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกัน ตัวแทน/นายหน้าจะต้องทำตามกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ด้วยอีกทางหนึ่ง
คราวนี้เรารู้แล้วว่า ประกันชีวิต แต่ละแบบเป็นยังไง ก็ลองเปิดใจฟังการขาย และเลือกประกันชีวิตให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของเราดีกว่า เพราะยังไงประกันชีวิตไม่ได้ประโยชน์กับเรา และจะได้ประโยชน์กับครอบครัวของเราเองหากเกิดอะไรขึ้นกับเรา