ทุกวันนี้ ถ้าคุณลองมองไปรอบ ๆ ตัว แล้วไม่เห็นใครก้มหน้ามองจอ หรือ ไม่เห็นใครกำลังสาละวนกับเจ้าโทรศัพท์ตัวโปรดอยู่นั่นแหล่ะแปลกมาก ๆ แล้วค่ะ เพราะไม่ว่าเราจะนั่งรถ, เดินเล่น, กินข้าว, อ่านหนังสือ, ทำงาน, ออกกำลังกาย หรือ เข้าห้องน้ำ ผู้คน ไม่ว่าวัยไหน ๆ ก็ไม่ค่อยยอมห่างจากมือถือกันทั้งนั้นค่ะ ถ้าจะบอกว่าเราเข้าสู่ยุคสมัยที่ไอทีครองเมืองอย่างก็คงไม่ผิด เพราะส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราต่างก็ใช้เทคโนโลยีด้านไอทีนี้ เพื่อเลือกซื้อสินค้าผ่านร้านค้าออนไลน์, ชำระค่าใช้บริการผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือ แม้แต่เช็คยอดเงินเข้า หรือ เงินออกของบัญชีธนาคารก็ทำได้ง่าย ๆ ผ่านหน้าจอมือถือในมือเราเช่นกันค่ะ แล้วจะแปลกอะไรถ้าพวกวายร้ายมิจฉาชีพก็จะสบโอกาสใช้ช่องทางนี้มาปล้นเงินคุณออกไปเช่นกันค่ะ
เกราะป้องกันชั้นที่ 1 ก็คือ เก็บรักษาข้อมูลบัตรของทางธนาคารไว้เป็นความลับสุดยอดค่ะ อย่าประมาทไปเชียวค่ะ แค่ข้อมูลไม่กี่อย่างไม่ว่าจะเป็นหมายเลขหน้าบัตร หรือ รหัสตรวจสอบของบัตรธนาคาร พวกบัตรเอทีเอ็ม, บัตรเครดิต, บัตรเดบิต หรือ บัตรกดเงินสด ก็ทำให้พวกวายร้ายสามารถหาทางเอาเงินออกจากบัญชีคุณได้แล้วค่ะ ส่วนที่สำคัญอีกอย่างนอกจากหมายเลขบัตรด้านหน้าแล้ว รหัส cvv ก็คือความลับขั้นสูงสุดเช่นกันค่ะ โดยเจ้ารหัส cvv นั้นจะเป็นตัวเลข 3 ตัวปรากฏอยู่ที่ด้านหลังบัตรของธนาคารค่ะ ที่เจ้ารหัสนี้สำคัญก็เพราะมันใช้สำหรับการยืนยันการทำธุรกรรมต่าง ๆ เป็นขั้นสุดท้ายค่ะ ทีนี้ ถ้าคุณเผลอแล้วเจ้าพวกมิจฉาชีพมาแอบจด หรือถ่ายรูปรหัส cvv ของบัตรธนาคารของคุณไปได้ เขาก็อาจจะนำไปใช้ซื้อของได้ง่าย ๆ ค่ะ ดังนั้น ถ้าคุณจะใช้จ่ายผ่านบัตรไม่ว่าจะถอนเงิน หรือ ชำระค่าสินค้า ก็ให้คุณลบเบอร์ cvv ออก หรือไม่ก็หาเทปอะไรมาติดปิดเอาไว้ ก็น่าจะเป็นวิธีสกัดพวกวายร้ายได้ทางหนึ่งค่ะ เล็ก ๆ น้อย ๆ ดีกว่าไม่ได้ป้องกันอะไรเลย จริงมั๊ยคะ
เกราะป้องกันชั้นที่ 2 ไม่ถ่ายรูปบัตรต่าง ๆ สำหรับคุณ ๆ ที่ชอบเก็บภาพแห่งความประทับใจ หรือ ชอบเซลฟี่กับข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ แล้วอัพโหลดลงในสื่อโซเชียลก็ต้องพึ่งระวังเรื่องการถ่ายรูปบัตรต่าง ๆ ของคุณกันด้วยนะคะ บางคนเพิ่งไปสอบและได้ใบขับขี่มา ก็อยากจะอวดเพื่อนก็แชะภาพโหลดขึ้นโซเชียลกันไป โดยลืมนึกคิดไปว่า นั่นเป็นข้อมูลสำคัญของคุณ ยิ่งถ้าเป็นบัตรเครดิตใบแรก หรือ บัตรธนาคารใด ๆ ก็ตามที่คุณมี ก็ยิ่งไม่ควรนำมาถ่ายรูป บางคนบอกว่าแค่ถ่ายรูปเก็บเอาไว้เฉย ๆ ไม่โพสต์ก็คงไม่เป็นไรมากหรอกนะ แต่การที่เราบันทึกภาพไว้ในมือถือก็ไม่ได้ปลอดภัยนักค่ะ โทรศัพท์หายที หายนะทางการเงินเลยนะคะ อย่าประมาทไปค่ะ
เกราะป้องกันชั้นที่ 3 กลยุทธ์สับขาหลอก ค่ะ เพื่อความปลอดภัยและบวกกับเป็นการเอาคืนหัวขโมยด้วย คุณก็น่าจะลองเขียนรหัสปลอม ๆ ของบัตรแล้วสอดไว้ในกระเป๋าค่ะ เขียนรหัสปลอม ๆ ไว้สัก 3 รหัสเสียบไว้ในกระเป๋าตามจุดต่าง ๆ หรือ จะแปะติดบัตรธนาคารไว้เลยก็ได้ค่ะ ทีนี้ พอขโมยเห็นก็จะลองกดตามรหัสที่เราเขียนเอาไว้ กดไปจนครบ 3 ครั้งก็เจอแต่รหัสผิดตลอด บัตรธนาคารก็จะถูกยึดโดยอัตโนมัติในทันที ขโมยก็ไม่สามารถเบิกเงินของคุณไปใช้ได้ด้วยค่ะ เป็นการเอาคืนที่สะใจดี และการติดต่อเพื่อขอทำบัตรใหม่ก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรเมื่อเทียบกับการรักษาเงินในบัญชีของคุณเอาไว้ได้ จริงมั๊ยคะ
เกราะป้องกันชั้นที่ 4 เก็บเลขหมายโทรศัพท์ของธนาคารต่าง ๆ ไว้ใกล้ตัวคุณ โดยคุณอาจจะเลือกบันทึกลงในแท็บเล็ต, โทรศัพท์มือถือ หรือ สมุดโน้ตที่พกติดตัวก็ได้ค่ะ เพราะถ้าหากบัตรธนาคารของคุณถูกขโมย หรือ สูญหายไป คุณก็จะได้สามารถโทรไปอายัตบัตรต่าง ๆ ได้ทันการณ์ค่ะ อย่างน้อย ๆ ก็น่าจะสามารถลดระดับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นลงไปได้บ้างนะคะ
ในหลาย ๆ ครั้งที่เราเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับการกดเงินที่ตู้เอทีเอ็ม ดังนั้นวิธีป้องกันตัวเองออกจากการโดนขโมยข้อมูลบัตรก็คือตัวคุณเอง นอกจากเราจะไม่ไปกดเบิกถอนเงินจากตู้ที่ตั้งอยู่ในที่ ๆ ไม่ค่อยมีคนผ่านแล้ว เราต้องหมั่นตรวจสอบตู้เอทีเอ็มทุกครั้งก่อนการใช้งานด้วยค่ะ ไม่ว่าคุณจะเคยกดเงินที่ตู้ใบนี้เป็นร้อยครั้งพันครั้งก็ตาม คุณต้องเช็คให้ดีก่อนเสมอ เริ่มต้นง่าย ๆ ก็อาจจะดูว่ามีกระดาษ, กล่อง หรือ อุปกรณ์อะไรมาติดเพิ่มแตกต่างไปจากเดิมหรือเปล่า เช่น พวกกล้องตัวเล็ก ๆ, มีการดัดแปลงแป้นสำหรับกดรหัส หรือ ติดแม่เหล็กที่ช่องเสียบบัตร ค่ะ ส่วนเกราะป้องกันชั้นสุดท้ายนั้น สำหรับผู้ที่ชอบท่องเว็บขายของออนไลน์ คุณก็ต้องดูที่ช่อง URL ทุกครั้งเช่นกันนะคะว่าเป็น http หรือเปล่า ถ้ามีก็แปลว่าเว็บนั้นเชื่อมต่อย่างปลอดภัยค่ะ หรือไม่ก็เพิ่มความปลอดภัยอีกระดับด้วยการทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านเว็บที่มีฟังก์ชั่น Safe Banking มาช่วยคุ้มครองธุรกรรมต่าง ๆ ให้คุณค่ะ