การใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์กำลังอินเทรนด์ เป็นกระแส วัยรุ่น หนุ่มสาว คนทำงานต่างที่ใช้ชีวิตเร่งรีบต่างอยากมีชิวิตแบบ สโลว์ไลฟ์ ทำงานสบายๆ มีชีวิตสุดชิล กินกาแฟดริป ปั่นจักรยานราคาหลักหมื่น ทานอาหารฟิวส์ชัน อ่านหนังสือหัวนอกราคาเกือบพัน ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆแล้วถ่ายภาพลงอินสตาแกรมอวดเพื่อน
แต่รู้ไหมหลายคนที่ใช้ชีวิตแบบนี้ ทำแบบนี้ จัดอยู่ในพวก สโลว์ไลฟ์ ใช้หนี้ คุณอยากมีชีวิตแบบนี้ไหมล่ะ
ไม่ได้จะโจมตีวิถี สโลว์ไลฟ์ แต่อย่างไร แต่คนบางกลุ่มแปลความหมายของคำว่า สโลว์ไลฟ์ผิด และกลายเป็นกระแส ซึ่งคนวัยทำงาน วัยเรียนต่างหันมาชื่นชอบวิถีชิวิตแนวนี้ และคิดว่ามันเท่ห์ แต่จริงๆแล้วนั้น วัยนี้คือวัยที่ต้องแสวงหาความมั่นคงในวันข้างหน้า จึงควรทำงานหาประสบการณ์ หรือสร้างกิจการของตัวเอง จะมัวมาแต่ใช้ชีวิตแบบ สโลว์ไลฟ์ ในครามหมายที่ว่ากินหรู เที่ยวแพง อยู่ได้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เคยเป็นกระแสในโลกโซเชียลอยู่พักนึง และมีคนดังออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมาย
ในความเป็นจริงนั้นคนที่จะใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ได้ คือคนที่มีฐานะพร้อมแล้ว คือมีรายได้เพียงพอกับการใช้จ่าย แต่บางคนยังเป็นแค่นักศึกษาขอเงินพ่อแม่เรียน หรือบางคนก็ทำงานหาเงินเองได้นิดหน่อย แต่เลือกทำตามกระแส ที่หนักคือ คนวัยทำงานบางคนที่ตีความคำว่าสโลว์ไลฟ์ โดยนั่งชิลดื่มกาแฟร้านดัง ผ่อนแม๊คบุ๊ค ซื้อกล้องคอมแพ็ค ซื้อจักรยานราคาแพงไว้เป็นไอเท็มเก๋ๆ อะไรที่คิดว่าฮิป และเป็นชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ก็ทำตามหมด พอถึงเวลาสิ้นเดือนบิลค่าบัตรเครดิตส่งมาเก็บเงิน แทบลมจับเพราะจ่ายหนี้ทีเงินดือนแทบไม่เหลือ นี่ละค่านิยมที่ผิดๆของคนในสังคมที่กลายเป็นกระแสให้คนทำตามอย่าง
หน้าชื่นรื่นเริงตอนต้นเดือน กลางเดือนลั้ลลารูดบัตร แต่พอสิ้นเดือนบิลมาหน้าเหลือครึ่งนิ้ว คุณอยากจะมีชีวิตแบบนี้แบบนี้งั้นเหรอ ?
ไม่ว่าจะชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ หรือฟาสต์ไลฟ์ สิ่งที่คุณต้องคำนึงถึงคือ ทำงานหาเงินเก็บไว้ใช้ในยามแก่ แต่ไม่ได้ให้เก็บเพียงอย่างเดียว ซื้อหาความสุขใส่ตัวบ้าง ไปเที่ยว ไปกินบ้าง แค่ให้อยู่ในขอบเขตคำว่าพอดี ไม่เป็นหนี้ อย่าหลงไปกับค่านิยมตามกระแสเหมือนที่เราเห็นกันตามสื่อสังคมออนไลน์ทุกวันนี้
หลายคนหลงกระแสจนทำให้มีหนี้ล้นตัว มีรายรับไม่พอกับรายจ่าย ซึ่งมันไม่ได้เกิดกับแค่วัยทำงาน แต่วัยเรียนก็เริ่มรู้จักการใช้เงินเกินตัวกันแล้ว หลายๆคนเห่อตามกระแสนิยม ต้องมีโทรศัพท์ราคาแพง ต้องดูหนังทุกวันหยุด ต้องมีกระเป๋าแบรนด์เนม สิ่งเหล่านี้หากจะหาที่มาของค่านิยมกันจริงๆก็คงบอกไม่ได้ว่ามาจากที่ไหน แต่ในปัจจุบันก็น่าจะมาจากสังคมออนไลน์นี่ล่ะ แล้วคนที่ลำบากคือพ่อแม่ที่ต้องทำงานหาเงินซื้อของเหล่านี้ให้ลูก บางครอบครัวยอมเป็นหนี้โดยไม่จำเป็นเพื่อตามใจลูก
เห็นไหมว่ากระแสสังคมทั้งเรื่องสโลว์ไลฟ์ เรื่องการใช้ของแบรนด์เนม ทำให้เกิดหนี้สินจากสิ่งของฟุ่มเฟือยขึ้นได้ หากเราไม่รู้จักคำว่าพอดี เชื่อว่าหลายๆคนที่ได้อ่านบทความนี้อาจคิดว่า มันก็เงินของฉัน หนี้ของฉัน ความสุขของฉัน ฉันมีจ่าย แต่คุณคงลืมไปว่าทุกอย่างมีขึ้นมีลง วันนี้คุณมี แต่วันหน้าล่ะคุณจะมีแบบนี้ไหม ใช้เงินเท่าไหร่ถ้าคุณมีก็ใช้ไปเถอะไม่มีใครว่า แต่ถ้าใช้จนเป็นหนี้คุณจะว่าใครได้นอกจากตัวคุณเอง