ความเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ แม้ว่าเราจะออกกำลังกายเกือบทุกวัน หรือบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมและมลพิษในปัจจุบันนั้นมีส่วนทำให้สุขภาพของเรานั้นมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น หากเรามีการเตรียมพร้อม ก็สามารถที่จะพร้อมรับกับความเจ็บป่วยได้เป็นอย่างดี
เฉกเช่นเดียวกันกับการเงินของตัวเราเอง ครั้งล่าสุดที่คุณปรับสมุดบัญชีเมื่อไหร่ ? ครั้งล่าสุดที่คุณตรวจสอบบัญชีรับรายจ่ายประจำเดือนเมื่อไหร่? ครั้งล่าสุดคุณออมเงินเท่าไหร่? เชื่อว่าคำถามเหล่านี้ผู้อ่านน้อยคนที่จะเคยทำ คำถามที่กล่าวมานี้ เป็นคำถามเบื้องต้นของการตรวจสุขภาพการเงินของคุณ การที่คุณคอยตรวจสอบสุขภาพทางการเงินของคุณจะช่วยให้คุณสามารถทราบถึงสถานะทางการเงินของคุณ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากชีวิตประจำวันว่ามีค่าใช้จ่ายใดบ้างที่ไม่จำเป็น หรือค่าใช้จ่ายใดที่ส่งผลต่อสุขภาพทางการเงินของคุณ เทคนิคง่ายของการตรวจสุขภาพทางการเงินนั้นประกอบด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
ตรวจสอบงบการเงินของตนเอง การตรวจสอบงบการเงินจะมีวิธีตรวจสอบด้วยกัน 2 วิธีการ คือ
- งบดุลส่วนบุคคล (Personal Balance Sheet) เป็นงบดุลที่แสดงถึงฐานะทางการเงินของตนเอง ในช่วงระยะเวลานั้นๆ ไม่ได้หมายถึงตลอดระยะเวลาหนึ่งปี งบดุลนี้จะแสดงถึงรายได้และสุขภาพทางการเงินว่ามั่นคงมากน้อยแค่ไหน โดยวิธีการเช็คสุขภาพทำได้โดยการตรวจสอบรายการทรัพย์สิน หนี้สินที่มี วิธีคำนวณเพียงแค่นำทรัพย์สิน ลบ หนี้สิน เหลือสุทธิเท่าไหร่ นั้นแสดงถึงความมั่นคงทางสุขภาพการเงินของคุณ
- งบกระแสเงินสด (Cash Flow Statement) จะมีลักษณะที่คล้ายๆกับงบดุลส่วนบุคคลแต่ในการตรวจสอบจะเป็นการตรวจสอบในด้านของกระแสเงินสด คือวัดจาก รายได้ และรายจ่าย มีสูตรคำนวณง่ายเพียงแค่นำรายได้ ลบ รายจ่าย ก็จะได้ผลของกระแสเงินสดแล้ว
จากข้างต้น เมื่อได้ทำการเช็คสุขภาพทางการเงินแล้ว เมื่อได้ผลออกมาแล้ว ก็มาถึงวิธีการรักษาหรือทำให้สุขภาพทางการเงินนั้นแข็งแรงมากขึ้น โดยวิธีการตั้งเป้าหมายทางการเงิน การตั้งเป้าหมายทางการเงินในหลายๆบทความได้เคยกล่าวถึงเรื่องนี้บ้างแล้ว ซึ่งการตั้งเป้าหมายทางการเงินจะช่วยให้เรามีเป้าหมายที่จะทำให้ไปถึงเป้าที่เราตั้งไว้ เช่น อยากซื้อบ้านตอนอายุ 40 เมื่อเราได้ทราบถึงสถานะทางการเงินจากสูตรคำนวณข้างต้นแล้ว เราก็จะทราบได้ว่าเป้าหมายที่เราวางไว้จะสำเร็จได้หรือไม่ หรือต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่จะไปถึงเป้าที่เราได้ตั้งไว้ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเมื่อคุณมีเป้าหมายแล้ว แต่เมื่อระหว่างทางดูเหมือนจะยังห่างเป้า คุณก็ต้องกลับมาสำรวจสุขภาพอีกครั้งหนึ่ง การตรวจสุขภาพทางการเงินต้องทำอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และเพื่อทำการปรับแผนทางการเงินของคุณใหม่อีกครั้งหนึ่งหากพบว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้จะห่างไกลออกไป
เทคนิคที่กล่าวมาเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพทางการเงินนั้นไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับหลักวิชาการ การตรวจสุขภาพทางการเงินของคุณ สามารถที่จะทำได้เอง โดยไม่ต้องไปพึ่งหมอให้วินิจฉัย เพียงแค่คุณรู้ว่ามีรายได้เท่าไหร่ มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เหลือเท่าไหร่ เมื่อรู้ว่ามีเงินเก็บเท่าไหร่ นั้นละคือสุขภาพทางการเงินของคุณ เหลือมากก็สุขภาพดี เหลือน้อยก็ต้องปรับปรุง ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ไม่เหลือเลยนั้นคืออาการป่วยทางการเงินที่ค่อนข้างรุนแรงต้องทำการเยียวยารักษาด่วน