Don’t be afraid of going slowly but be afraid of standing still – เป็นอีกข้อคิดเตือนใจจากสุภาษิตจีนที่ว่า อย่าได้กลัวที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างช้า ๆ แต่จงกลัวการหยุดอยู่นิ่งเฉย
เพราะโลกทุกวันยังหมุนไปข้างหน้า พระอาทิตย์และพระจันทร์ยังไม่เคยหยุดทำงาน ปลาที่ไม่รู้จักว่ายน้ำ ก็มักจะตายหรือตกเป็นเหยื่อของผู้อื่น ลองนึกดูง่าย ๆ จากประสบการณ์รอบตัวที่ทำงานของคุณสิคะ ถ้าพนักงานคนหนึ่งไม่รู้จักพัฒนาทักษะการทำงานให้รอบด้าน ไม่มีความรู้ด้านภาษาอื่น ๆ เพิ่มขึ้นและไม่เรียนรู้งานแขนงใหม่ ๆ บ้าง แม้ว่าพนักงานคนนั้นจะทุ่มเททำงานหนักแบบมาเช้า กลับดึกแค่ไหนก็ตาม เขาก็ไม่ได้ทำให้องค์กรเห็นคุณค่ามากขึ้น หรือหัวหน้างานจะเห็นความสามารถของเขาโดดเด่นมากไปกว่าพนักงานคนที่หมั่นศึกษาและเรียนรู้การทำงานรูปแบบใหม่ ๆ ตลอดเวลา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คำว่า work smart not work hard เป็นสิ่งที่ใครก็ต่างยอมรับกันมากขึ้น จนบางครั้งเราจะเห็นคนที่ทำงานมาเป็น 10 ปีแต่ก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม ๆ อย่างนั้น ต่างกับคนอีกกลุ่มที่เพิ่งเข้ามาทำงานแค่ 3 – 4 ปีบางคน กลับก้าวหน้าได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เพราะรู้จักเสริมทักษะด้านต่าง ๆ ให้ผลการทำงานออกมาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ
เทคนิคที่ผู้ ประสบความสำเร็จ ทางการเงินส่วนใหญ่ มักนำมาเตือนตัวเอง หรือเอาวิธีมาบอกกล่าวคน อยากรวย ก็คือ การรู้จักก้าวให้เร็วกว่าการเปลี่ยนแปลง หรือ อย่างน้อยก็ต้องก้าวให้ทันโลก ถ้าย้อนไปยุคของการเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ค้าปลีกแห่งฟากฝั่งอเมริกา คงไม่มีใครดังเกินไปกว่า Sam Walton บิดาแห่งวงการค้าปลีกที่เป็นกรณีศึกษา และตำนานความสำเร็จคนหนึ่งของโลกแห่งห้าง Wal-mart นอกจากวอลตันจะมีทัศนคติเชิงบวกที่เน้นหนักเรื่องการเอาใจใส่ลูกค้าด้วยข้อเสนอราคาสุดคุ้ม ถูกที่สุดกว่าใครๆ, การลดต้นทุนด้วยการตัดพ่อค้าคนกลางออกจากระบบการซื้อขายของเขาและ การซื้อของมาในจำนวนมาก ๆ เพื่อที่จะได้ราคาพิเศษ จากนั้นก็นำมาวางขายในราคาที่ถูกได้มากกว่าผู้ขายรายอื่น ๆ แล้ว
อีกกลเม็ดเด็ดดวงใจ ที่คุณปู่วอลตันแย้มออกมา ก็คือ การที่เขามักจะศึกษาข้อมูลของคู่แข่งตลอดเวลา โดยการตีเนียนเข้าไปในร้านของคู่แข่งเพื่อไปเก็บข้อมูลพฤติกรรมการเลือกซื้อของ, การจัดวางสินค้า และการนำเสนอขายสินค้า อันไหนที่ดีเขาก็นำมาใช้ในร้านของตนเองไปด้วย และเหตุนี้นำมาซึ่งบทเรียนสำคัญสำหรับห้างวอล-มาร์ตที่ว่า “ต้องมีการพัฒนาระบบที่วอล-มาร์ตทุก ๆ วัน” และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ จนถึงทุกวันนี้ ห้างวอล-มาร์ตก็ยังไม่หยุดพัฒนารูปแบบการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการส่งสินค้าถึงบ้าน, การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ หรือ ระบบวิเคราะห์ประมวลผลการเลือกซื้อสินค้าและแนะนำกลับไปยังผู้ผลิตเพื่อเป็นข้อมูลพัฒนาสินค้าของวอล-มาร์ตต่อไปด้วยค่ะ
ไม่เพียงแต่ แซม วอลตัน แห่งห้าง วอล-มาร์ต เท่านั้นที่คิดเช่นนี้นะคะ มหาเศรษฐีจากวงการอีคอมเมิร์ชชื่อดัง Jeff Bezos เจ้าของร้านขายหนังสือที่ไม่เคยหลับใหลอย่าง Amazon.com ก็เป็นอีกคนที่ไม่เคยหยุดนิ่งแม้ว่าจะประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามแล้วก็ตาม สังเกตได้จากประสบการณ์ของผู้ที่เคยใช้งานเว็บไซด์ของร้านขายหนังสือออนไลน์นี้ว่า มักจะพบกับฟีเจอร์ใหม่ ๆ ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นฟังก์ชั่นแรก ๆ อย่างการให้มี Search inside ไว้บริการให้ผู้อ่านสามารถเปิดเข้าไปดูเนื้อหาด้านในได้ คล้ายกับเวลาที่เราไปเลือกอ่านหนังสือในร้านขายหนังสือทั่ว ๆ ไป และยังชนะใจผู้อ่านหลายคนที่เคยเจอกับร้านหนังสือออฟไลน์บางร้าน ที่ไม่ยอมให้แกะอ่านหนังสือด้านในด้วยค่ะ จุดนี้จึงเป็นตัวชูโรงแรง ๆ ที่ทำให้คนหันมาสนใจทดลองซื้อหนังสือออนไลน์กันดูบ้าง แต่หลังจากนั้น ความไม่หยุดพัฒนาการให้บริการของเบซอสก็ทยอยส่งออกมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์เก๋ ๆ อย่างการแนะนำหนังสือแนวที่ลูกค้าชื่นชอบให้ผู้อ่านได้ใช้ประกอบการตัดสินใจและการเลือกซื้อหนังสือ
หรือจะเป็นไอเดียน่ารักแนว Wish List นี่ก็ทำให้ผู้อ่านเซอร์ไพร์สไปกับของขวัญที่ถูกใจจากเพื่อน เพราะ Wish List ของอเมซอนจะบอกไปยังเพื่อนหรือคนสนิทของลูกค้าด้วยว่า ลูกค้ารายนี้เคยอยากจะซื้อหนังสือเล่มไหนค่ะ ทำให้ทั้งผู้ให้และผู้รับอิ่มเอมใจไปด้วยกันทั้งคู่ค่ะ และฟีเจอร์ล่าสุด List Mania ที่คล้ายกับเป็นอีกโลกโซเชียลชองบรรดานักอ่าน เพราะโดยมากเราอาจจะเลือกซื้อหนังสือจากคำนิยมของผู้มีชื่อเสียง แต่ในร้านหนังสือออนไลน์แบรนด์ Amazon นี้ คุณจะได้อีกสังคมหนึ่งจากกลุ่มผู้อ่านด้วยกันที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อหนังสือที่เขาได้อ่านไปว่า ดีอย่างไร หรือ ไม่ดีอย่างไร หากคนในกลุ่มผู้อ่านเห็นด้วยกับมุมมองนั้นก็สามารถกดโหวตให้ได้ หรือ ถ้าใครมองว่าความคิดเห็นนั้น ๆ ออกจะไปในทางโฆษณาหนังสือมากกว่าก็สามารถแสดงมุมมองของตนกลับไปได้เช่นกันค่ะ
ไม่เพียงแต่การพัฒนาระบบการซื้อหนังสือออนไลน์อย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่เบซอส ยังคิดต่อยอดไปยังผู้อ่านที่มักจะชื่นชอบหนังสือหลาย ๆ เล่ม แต่การพกพาหนังสือที่ถูกใจทุกเล่มไปในทุกที่คงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ สักเท่าไร ไอเดียดี ๆ จึงเกิดขึ้นมาในรูปแบบของแท็บเล็ต Kindle ที่ทำให้ลูกค้าสามารถพกพาหนังสือกี่เล่มก็ได้ไปได้ทุก ๆ ที่แบบคล่องตัวสบายใจด้วยค่ะ