ประเทศไทยของเราตอนนี้เริ่มมีนโยบายสนับสนุนครอบครัวให้มีลูกมีบุตร เด็กแรกเกิดจึงมีเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล นั่นก็เพราะประเทศเรากำลังเป็นรูปปิรามิดที่ฐานของประชากรเกิดใหม่ลดน้อยลง ซึ่งประชากรเกิดใหม่วันนี้ก็คือกลุ่มคนทำงานในวันข้างหน้านั่นเองค่ะ และบนยอดปิรามิดของเรานั้นก็เริ่มมีประชากรวัยสูงอายุ หรือ วัยใกล้จะเกษียณเพิ่มมากขึ้นทุกที จากผลการศึกษาและงานวิจัยต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศต่างมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ประชากรสูงอายุจะมีอายุยืนขึ้นกว่าในอดีตด้วยนะคะ นั่นก็เพราะว่าผู้คนเริ่มให้ความสำคัญต่อสุขภาพทั้งเรื่องการกิน และ การออกกำลังกาย ซึ่งคุณ ๆ เองในวันนี้ที่ยังมีกำลังนั่งทำงานตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน็อต หรือ คุณ ๆ ที่กำลังจะถึง วัยเกษียณ อีกไม่กี่ปีข้างหน้า คุณ ๆ เตรียมตัวกันอย่างไรบ้างคะ
ก่อนอื่นต้องถามคุณ ๆ ก่อนว่าเคยตั้งคำถามกับตัวเองก่อนจะถึงวันที่เกษียณอายุการทำงานกันไว้บ้างหรือยัง เช่นว่า
คำถามที่ 1 ถ้าวันพรุ่งนี้คุณก็จะเกษียณแล้ว คุณจะทำอย่างไรต่อไปกับหนี้ผ่อนบ้าน หรือ หนี้สินก้อนโต ๆ ที่ยังคงค้างอยู่กันดี
คำถามที่ 2 เงินออมคุณก็ยังมีอยู่นะ แต่ถัดจากวันพรุ่งนี้คุณจะทำอย่างไรดีให้เงินออมเพิ่มมากขึ้น และไม่ต้องไปนั่งลุ้นนั่งเสี่ยงมาก ๆ อย่างตอนวัยทำงาน และ
คำถามที่ 3 ก็คือ ถึงจะเคยมีคำพูดที่ว่า เงินทองเป็นของนอกกาย เมื่อถึงเวลาตายเงินสักบาทก็เอาไปไม่ได้ จะดิ้นรนอยากได้เงินทองไปเยอะ ๆ ทำไมกัน แต่คุณลองคิดดูนะว่า จะเศร้าใจขนาดไหน ถ้าเงินไม่มีแต่ก็ยังไม่ตายสักทีหล่ะคะ
ดังนั้น คุณจะทำอย่างไรให้คุณมีเงินพอใช้ไปจนตาย จุดนี้ คือคีย์สำคัญของชีวิตบั้นปลาย ชีวิตในวัยเกษียณค่ะ ถ้าคุณมีแผนพร้อมรับโจทย์ทั้ง 3 ข้อ ก็ขอปรบมือรัว ๆ ให้เลย
แต่ถ้ายังไม่มีแผนสำหรับทุก ๆ ข้อ ขอแนะนำแนวทางการใช้เงินหลังจากนั้นไว้ ณ จุดนี้ ว่า
ข้อที่ 1 ให้คุณเริ่มจากโฟกัสไปที่เงินรายได้ในแต่ละวันนั้นลดลง คุณจึงควรใช้จ่ายเงินออกไปเท่ากับจำนวนเงินสดที่วิ่งเข้ามาเท่านั้นค่ะ อาจจะเป็นเงินปันผล, ดอกเบี้ยธนาคาร หรือ รายได้บางอย่างที่ยังเข้ามาอยู่ ให้นำเงินเหล่านี้ออกมาใช้ในแต่ละวัน แทนที่จะไปนำเงินก้อนออกมาใช้นะคะ
ข้อที่ 2 สำหรับคุณ ๆ ในวัยเกษียณที่ทำงานหนักมาโดยตลอด ก็ย่อมที่จะอยากให้รางวัลกับชีวิตบ้างอะไรบ้าง ยิ่งเมื่อเวลาที่มีเงินก้อนอยู่ไหนมือ ก็ยิ่งรู้สึกถึงอำนาจที่จะบันดาลสิ่งที่ต้องการต่าง ๆ ดังนั้นคุณจึงยิ่งต้องวางแผนการใช้เงินให้ดี ๆ ค่ะ เพราะเวลาว่างที่มีมากขึ้นและเงินก้อนโตที่มองเห็นยอดในบัญชีธนาคารกับความต้องการของแต่ละคน อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ และ หมดลงได้ค่ะ
ข้อที่ 3 ลองเช็คดูสิว่า สวัสดิการต่าง ๆ ของคุณ ๆ นั้นมีอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการด้านสุขภาพ, สิทธิข้าราชการ, ประกันสังคม, บัตรทอง และ ประกันสุขภาพแต่ละฉบับที่เคยทำสะสมเอาไว้ เพราะเราไม่รู้ว่าในวัยนี้จะเกิดอะไรขึ้น และเมื่อไรก็ตามที่เกิดขึ้น นั่นคือค่าใช้จ่ายชิ้นโต เราจึงต้องรู้แน่ ๆ ด้วยว่า เราสามารถเบิกค่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง, ได้เท่าไร และ ได้จากแหล่งไหนกันบ้างค่ะ
ข้อที่ 4 อันนี้สำคัญนะ เพราะถ้าหากคุณไม่รู้ว่าตัวเองยังเหลือหนี้อะไรที่ต้องชำระบ้าง และรวมเป็นเงินทั้งสิ้นเท่าไรกันหล่ะก็ งานเข้าซะแล้วค่ะ ดังนั้นตรวจทานให้แน่ว่ายอดเงินเท่าไร และจัดการแผนชำระให้หมดโดยเร็วที่สุดค่ะ ไม่อย่างนั้นได้ปวดตับตลับเมตรแน่ ๆ ค่ะ และข้อสุดท้าย
ข้อที่ 5 สอบถามและอ่านรายละเอียดเงินสะสมที่จะได้รับช่วงที่คุณเกษียณว่าเป็นจำนวนเงินเท่าไรต่อเดือนค่ะ อาจจะเริ่มจาก เงินบำนาญ หรือ กองทุนบำนาญของประกันสังคม หรือ เบี้ยยังชพคนชรา ก็ได้ ศึกษาดูและประเมินตัวเองว่าเงินที่จะได้มานั้น เพียงพอให้คุณใช้จ่ายหรือเปล่า ถ้าไม่พอก็อย่าเพิ่งกังวลเกินเหตุ ทางออกยังมีเสมอค่ะ
ทางเลือกสำหรับการหาเงินเพิ่มเมื่อเกษียณแล้วก็คือ แบ่งเงินออกไปลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือ ระดับที่คุณคิดว่าคุณรับไหว เช่น อาจจะแปรเงินฝากไปลงทุนในตราสารหนี้ หรือ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือ จะเป็นกองทุนผสมที่หนักไปทางตราสารหนี้ ก็ได้ค่ะ และอีกประการหนึ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับคุณ ๆ วัยเกษียณ ก็คือ คุณไม่ได้อยู่ในวัยที่ต้องรับผิดชอบเรื่องภาษีอีกแล้ว ดังนั้น จงนำสิทธิส่วนนี้ออกมาเป็นพลังและนำมาเรียกคืนเป็นรายได้ซะเถอะค่ะ โดยคุณ ๆ อาจจะทำเรื่องขอคืนเงินภาษีที่โดนหัก ณ ที่จ่ายจากการปันผลต่าง ๆ หรือ จากเงินฝากประจำกับธนาคาร หรือ ในส่วนของพันธบัตรของรัฐบาล และ รวมไปถึงหุ้นกู้ประเภทต่าง ๆ ด้วยนะคะ แต่ก็อย่าเพิ่งคาดหวังว่าจะเป็นเงินก้อนโตอะไรนักหรอกนะคะ แค่เรียกคืนมาเป็นน้ำจิ้มเท่านั้นค่ะ เมื่อเราหารายได้ที่จำนวนอาจจะไม่มากเหมือนเดิม แต่คุณ ๆ ก็น่าจะมีสินทรัพย์ที่ไม่ค่อยได้ใช้แล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นที่สนใจของคนอื่น ๆ และเขาสามารถนำไปทำประโยชน์ได้ ขายของมือสองน่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ดีนะคะ ลองดูจากสิ่งเล็กอย่างเสื้อผ้า, รองเท้า, กระเป๋า, นาฬิกา หรือ เครื่องประดับบางชิ้นก่อนค่ะ ทำเป็นงานเสริมจะได้ไม่เหงาด้วยค่ะ