บ่อยครั้งหรือไม่ที่จะต้องมีเหตุการณ์ฉุกเฉินต้องการใช้เงิน เช่น ครอบครัวเข้าโรงพยาบาล มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนของลูกที่นอกเหนือจากค่าเทอม หรือต้องการค่าซ่อมแซมบ้าน รถยนต์ ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด เป็นต้น แต่ไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร และที่จะได้ยินกันบ่อย บ่อย คือ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถูกต้องแล้วเรื่องของเรา เราก็ต้องจัดการเอง ลองเปิดกระเป๋าดู ถ้าเรามีบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดสักใบก็พอจะช่วยให้เราอุ่นใจได้ แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าจะสนับสนุนให้ ใช้ บัตรเครดิต หรือ บัตรกดเงินสด กันนะ แค่จะมาให้ความรู้และเงื่อนไขของบัตรเท่านั้นเอง
บัตรเครดิต ก็คือ บัตรที่ธนาคารให้วงเงินกับเราในการไปรูดซื้อของต่างๆ ตามร้านค้าที่มีเครื่องหมายว่ารับบัตรเครดิต และกำหนดระยะเวลาในการชำระคืนให้กับธนาคาร ส่วนใหญ่ก็จะประมาณ 30 วัน ซึ่ง 30 วันนั้นจะเป็นช่วงที่ธนาคารยังไม่คิดดอกเบี้ยกับเราแต่จะคิดเมื่อพ้นระยะเวลาชำระเงินไปแล้ว และเรายังชำระคืนไม่หมด แล้วถ้าต้องการเงินสดเราใช้บัตรเครดิตไปกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มได้หรือเปล่า คำตอบคือ ได้ ตามเงื่อนไขที่ธนาคารเจ้าของบัตรกำหนด แต่เราจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการกดเงินครั้งละ 2-3% ต่อยอดเงินที่เรากด แต่ ณ วันที่กดเงินออกมาก็ยังไม่เสียดอกเบี้ย จนกว่าจะเลยวันครบกำหนดแล้วเรายังชำระคืนไม่หมด เหมือนกับเราเอาบัตรไปรูดซื้อของ ซึ่งถ้าเราเอาบัตรเครดิตไปกดเงินออกมาดอกเบี้ยบวกกับค่าธรรมเนียมการกดแล้วก็ไม่ต่างจากบัตรกดเงินสดเท่าไรนัก
บัตรกดเงินสด ก็คือ บัตรที่ธนาคารให้วงเงินกับสำหรับกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม ไม่มีค่าธรรมเนียมจากการกดเงินออกจาก ตู้ เอทีเอ็ม แต่จะถูกธนาคารคิดดอกเบี้ยทันทีที่กดเงินออกจากตู้ และจะถูกคิดทุกวันจนกว่าจะจ่ายชำระคืน แต่บัตรกดเงินสดนี้เอาไปรูดซื้อของตามร้านค้าไม่ได้นะ เพราะตามชื่อของบัตรเลย คือ บัตรกดเงินสด ก็คือ ใช้กดเงินสดได้เท่านั้น และที่สำคัญบัตรกดเงินสดจะเป็นบัตรที่มีดอกเบี้ยสูงมาก คือ ประมาณปีละ 28% ต่อปี เพราะเป็นการนำเงินล่วงหน้ามาใช้จ่าย โดยไม่มีหลักประกันใด ใด ทั้งสิ้น ดังนั้นธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นๆ ที่เป็นผู้ออกจึงต้องกำหนดดอกเบี้ยให้ครอบคลุมความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากการผิดชำระหนี้ได้
แต่สิ่งที่บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดเหมือนกัน คือ วิธีคิดดอกเบี้ยจากการใช้จ่าย จากการกดเงินสด ในกรณีที่เราไม่สามารถจ่ายคืนได้เต็มจำนวน หรือการชำระคืนตามจำนวนเงินขั้นต่ำของยอดหนี้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเราจะเข้าใจว่าธนาคารเจ้าของบัตรจะคิดดอกเบี้ยจากยอดหนี้คงค้างที่เหลือจากการชำระขั้นต่ำ และเริ่มคิดดอกเบี้ยจากวันที่ครบกำหนด แต่จริง จริงแล้ว ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยของการจ่ายคืนแบบไม่เต็มจำนวนเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นดอกเบี้ยที่คิดจากยอดเงินทั้งหมดที่ใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่บันทึกรายการถึงวันที่สรุปยอดค่าใช้จ่าย และส่วนที่สองเป็นดอกเบี้ยที่คิดจากยอดเงินคงเหลือจากการชำระขั้นต่ำ และจะเริ่มคิดตั้งแต่วันที่ชำระเงินขั้นต่ำจนถึงวันที่สรุปยอดค่าใช้จ่ายในเดือนถัดไป ซึ่งถ้าเรายังชำระขั้นต่ำไปเรื่อย เรื่อย เราก็จะถูกคิดดอกเบี้ยส่วนแรกไปเรื่อย เรื่อยเช่นกัน และถ้าเรายังใช้บัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดอยู่ ดอกเบี้ยก็จะทบกันไปเรื่อย เรื่อย เหมือนกัน
ทีนี้เมื่อเราได้รู้จักลักษณะของบัตรทั้ง 2 ประเภทนี้แล้ว ก็เลือกใช้ให้เหมาะสมกันนะ เพื่อให้เรา ใช้ บัตรเครดิต หรือ บัตรกดเงินสด ได้ประโยชน์สูงสุดจากบัตร แต่สิ่งสำคัญที่เราจะต้องเตือนตัวเองเสมอว่า ต้องเป็นเรื่องที่จำเป็นจริง จริง และเมื่อเราใช้เงินจากบัตรไปแล้ว เราต้อง เตรียมเงินให้เต็มจำนวนที่ได้ใช้ไปจากบัตร ห้ามชำระขั้นต่ำเด็ดขาด เพราะเมื่อเราชำระขั้นต่ำ สิ่งที่ตามมา คือ ดอกเบี้ยที่แพงมาก และมันจะกลายเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยไม่สิ้นสุด หากวันข้างหน้าเรามีความจำเป็นต้องใช้เงิน เราก็ต้องใช้เงินจากบัตรอีก ก็จะกลายเป็นหนี้สินทบไป ทบมา จนเราชำระไม่หมด…. อย่าลืมนะ จะใช้เงินจากบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดต้องเป็นเรื่องที่จำเป็น และจะต้องหาเงินมาจ่ายคืนให้เต็มจำนวนทุกครั้ง…..